เรตติ้งทีวีดิจิทัลประจำเดือน ก.ย.2563 เดือนนี้จัดเทียบความนิยมกลุ่มผู้ชมทีวีดิจิทัลทั้ง 18 ช่อง แบบ 3 กลุ่ม ตั้งแต่เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป หรือ Nationwide 4+ เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป ในกลุ่มคนเมือง (Bangkok and Urban )หรือ 15+ BU และเรตติ้งเฉลี่ยกลุ่มผู้ชมผู้หญิงทั่วประเทศอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือ F15+ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของฐานผู้ชมของแต่ละช่องทีวีดิจิทัลแบบแยกกลุ่มให้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ตัวเลขเรตติ้ง Nationwide 4+ สะท้อนถึงฐานผู้ชมโดยรวม ในขณะที่ตัวเลขเรตติ้ง 15+BU และ F15+ สะท้อนถึงกลุ่มผู้ชมที่เป็นเป้าหมายของสินค้าที่ลงโฆษณา
ช่อง 7 ยืน 1 ทั้ง 3 กลุ่มเรตติ้ง
เรตติ้งทั้ง 3 กลุ่มของเดือนก.ย.นี้ พบว่า ช่อง 7 อยู่อันดับ 1 ในเรตติ้งเฉลี่ยรวมทั้ง 3 กลุ่ม ทิ้งห่างทุกช่อง โดยผลงานเด่นของช่อง 7 เป็นละคร “โซ่เวรี” มี “เข้ม หัสวีร์” และ “มุก มุกดา” แสดงนำ ที่แม้ละครจบไปแล้ว ก็ยังมีกระแสความนิยมของนักแสดงทั้งคู่ต่อเนื่อง รวมถึงละครค่ำ “ก่อนตะวันแลง” ที่ต่อเนื่องมายังละครใหม่ “สมบัติมหาเฮง” และละครพื้นบ้าน “พระสุธน มโนห์รา” เช้าเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งพบว่าละครส่วนใหญ่ของช่อง 7 เริ่มจับกลุ่มเป้าหมายคนเมืองมากขึ้น ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยในกลุ่ม 15+ BU สูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเรตติ้งเฉลี่ยในรอบครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่า ในกลุ่ม 15+ BU ช่อง 7 ยังตามหลังช่อง 3
ช่อง 3 อยู่ในอันดับ 2 ทั้ง 2 กลุ่มเรตติ้ง สำหรับเรตติ้ง Nationwide 4+ นั้น ช่อง 3 มีเรตติ้งเฉลี่ย 1.026 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนส.ค. ที่ได้ 1.118 สาเหตุหลักมาจากละครช่วงไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่มของช่อง 3 ที่ออนแอร์ในช่วงเดือนนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก รายการหลักที่ช่วยพยุงเรตติ้งช่องเป็นกลุ่มละครรีรัน และรายการระหว่างวัน และที่สำคัญเรตติ้งในกลุ่ม 15+BU ซึ่งปกติเป็นฐานผู้ชมหลักของช่อง 3 ก็ลดลงด้วย เมื่อเทียบจากเรตติ้ง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเรตติ้งในกลุ่มนี้ช่อง 3 อยู่อันดับ 1 แต่เรตติ้งเดือนก.ย.นี้ช่อง 3 ตกลงมาอยู่ในอันดับ 2
ช่อง One ผลงานดี ขึ้นอันดับ 4 เรตติ้งทั่วประเทศ 4+
ในกลุ่มช่องอันดับ 3-6 ซึ่งมีความสูสีกันของช่อง Mono ช่อง One ช่องเวิร์คพอยท์ และช่องอมรินทร์ทีวี ในภาพรวมช่อง Mono ยังรักษาอันดับ 3 ไว้ได้ แต่ช่องที่เด่นที่สุดของเดือนนี้เป็นช่อง One ทำเรตติ้งเฉลี่ยภาพรวมแบบทั่วประเทศ 4+ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ได้ และในกลุ่มผู้ชมผู้หญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป เรตติ้งเฉลี่ยช่อง One ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ชนะช่อง Mono แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ของช่อง One ได้จับกลุ่มผู้ชมผู้หญิงทั่วประเทศอายุมากกว่า 15 ปีได้มากขึ้น แต่ข้อมูลเรตติ้งแบบกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไปในกลุ่มคนเมือง ช่อง One อยู่ในอันดับ 6 แสดงว่าคอนเทนต์ที่ขยายตัวออกไปของช่อง One สามารถเจาะกลุ่มผู้ชมคนฐานแมสมากกว่ากลุ่มคนเมือง เห็นได้จากรายการเด่นของช่องวัน ได้แก่รายการประกวดร้องเพลงในช่วงเย็น “ดวลเพลงชิงทุน” และ ละครค่ำ ที่ได้เรตติ้งจากกลุ่มคนต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพด้วย
ในขณะที่ช่องเวิร์คพอยท์มีฐานผู้ชมในกลุ่มคนเมืองมากกว่าช่อง One มีเรตติ้งในกลุ่ม 15+BU ในอันดับ 4 แม้ว่าเรตติ้งเฉลี่ยโดยรวมแบบ Nationwide 4+ ช่องเวิร์คพอยท์จะอยู่ในอันดับ 5
ส่วนช่องอมรินทร์ทีวี เดือนนี้เรตติ้งภาพรวม 4+ ดีขึ้นเล็กน้อยขยับจาก 0.672 ในเดือนส.ค.มาอยู่ที่ 0.678 แต่อันดับลดลงจากอันดับ 4 ตกลงมาในอันดับ 6 เพราะผลงานช่องอื่นๆดีขึ้นมากกว่าทั้งช่อง One และเวิร์คพอยท์ แต่ในกลุ่มคนเมือง 15+BU มีเรตติ้งที่ดีกว่าช่อง One อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับคู่แข่งของช่องอมรินทร์ โดยเฉพาะช่องไทยรัฐทีวี ที่เน้นคอนเทนต์ข่าวเช่นเดียวกันแล้ว ช่องอมรินทร์ทีวีก็ยังได้รับความนิยมที่ดีกว่า
ช่องไทยรัฐทีวีมีเรตติ้งเฉลี่ยภาพรวม 4+ ลดลงจาก 0.641 ในอันดับ 6 เป็นอันดับ 7 เรตติ้งเฉลี่ย 0.578 และอยู่ในอันดับ 7 ในกลุ่มเรตติ้ง 15+BU และ F15+ ด้วย เนื่องจากรายการข่าวหลักๆ ในช่วงไพรม์ไทม์โดนรายการข่าวช่องอมรินทร์แซงหน้า ได้รับความนิยมมากกว่าทั้งในช่วง 1 ทุ่มและหลัง 2 ทุ่ม
สำหรับช่อง 8 และเนชั่นทีวี อยู่อันดับ 8 และ 9 ตามลำดับ แต่ช่องเนชั่นทีวีมีฐานผู้ชมในกลุ่มคนเมืองมากว่า โดยมีเรตติ้ง 15+BU สูงกว่าช่อง 8
ช่อง 9 PPTV GMM25 ชิงอันดับ 10 สูสี 3 กลุ่มเรตติ้ง
กลุ่มช่องชิงอันดับ 10 ยังเป็นการแข่งขันกัน 3 ช่อง ได้แก่ช่อง 9 ช่อง PPTV และช่อง GMM25 ในภาพรวมเรตติ้ง 4+ ช่อง 9 อยู่ในอันดับ 10 แต่เรตติ้งตามกลุ่มมีสลับอันดับกัน ช่อง PPTV มีฐานกลุ่มคนเมืองสูงกว่า เรตติ้ง 15+BU อยู่ในอันดับ 10 ส่วนช่อง GMM25 มีฐานผู้ชมกลุ่มผู้หญิงสูงกว่า โดยเรตติ้ง F15+ อยู่ในอันดับ 10
ส่วนกลุ่มช่องอันดับ 13-18 อันดับไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในเรตติ้งแยกกลุ่ม มีสลับกันเล็กน้อยระหว่างช่อง NEW TV และช่อง TNN โดยช่อง NEW TV มีเรตติ้งในกลุ่มผู้หญิง F15+ มากกว่าช่อง TNN
สถานการณ์แข่งขันในตลาดทีวีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปทุกเดือน ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ช่องไหนได้รับความนิยมในแต่ละช่วงเวลา ไม่มีสูตรตายตัวว่า รูปแบบคอนเทนต์ประเภทใดจะได้รับความนิยม เพราะ “ผู้ชม” คือผู้ตัดสิน
[post-views]