บุษบาลุยไฟฟีเวอร์ !! จัดทริปล่องเรือ เล่าเรื่องตามรอยละคร

ไทยพีบีเอส

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสจัดกิจกรรม “ล่องเรือ เล่าเรื่อง บุษบาลุยไฟ” ตามรอยเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรม และจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสมัยรัชกาลที่ 3 และถูกเล่าผ่านเรื่องราวในละคร “บุษบาลุยไฟ” ที่ออกอากาศมาได้ครึ่งทางเรียกได้ว่ากำลังเข้มข้นสุด ๆ ในขณะนี้

ไทยพีบีเอส นำโดย รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และผู้บริหารไทยพีบีเอส พร้อมด้วย “ปราณประมูล” นามปากกของ แอ๊น-ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ ผู้แต่งบทประพันธ์ แท็กทีมผู้จัดละครและนักแสดง อาทิ “เอ็กซ์-พรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง รับบท นายสุ่น , แพรว-หัสสยา อิสริยะเสรีกุล รับบท นวล, น็อต-ธีร์ อริยฤทธิ์วิกุล รับบท เนตร, พิม-ลัทธ์กมล ปิ่นโรจน์กีรติ รับบท น้อย, จ๋า-โมฬีวรรณ พันธรักษ์ รับบท นางทิม และ ทอม-จักรกฤต โยมพะยอม รับบท สุนทรภู่” พร้อมทั้งการคัดเลือกผู้โชคดีทางบ้าน 30 ท่าน ที่ได้ร่วมแต่งบทสักวาทางเพจเฟซบุ๊กละครไทยพีบีเอส จากผลงานกว่า 100 บท เพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้ลองแต่งบทสักวาที่นอกจากจะเป็นเรื่องราวในละครแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ด้านวรรณกรรมที่อยู่ในสายเลือดคนไทยมาอย่างช้านาน พร้อมร่วมเดินทางในครั้งนี้ไปพร้อมกัน

นอกจากการได้ร่วมเดินทางไปยังสถานที่ในประวัติศาสตร์ด้วยการล่องเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังได้เต็มอิ่มกับสาระความรู้สุดเข้มข้นจากวิทยากรทั้งสองท่าน ได้แก่ คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักมานุษยวิทยา – ประวัติศาสตร์ ประธานมูลนิธิประชาคมย่านบ้านกะดีจีน – คลองสาน และ อาจารย์วัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณกรรมและวัฒธรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส ที่ได้ร่วมบอกเล่าประวัติความเป็นมา แชร์เกร็ดความรู้ผสมผสานเรื่องราววัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนผ่านสองฟากฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองบางกอกน้อย และรอบ ๆ เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่ละวัดมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในละครบุษบาลุยไฟ โดยมีไฮไลต์สำคัญ อาทิ 

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ผู้ร่วมเดินทางทุกท่านได้รับชมภาพจิตรกรรมฝาผนังของจริง ผลงานการประชันฝีมือของหลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดก และหลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก ที่ยังคงความงดงามเป็นเอกลักษณ์ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน 

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เรื่องราวจริงของเหตุระเบิดปืนใหญ่ที่ใช้ยิงไฟพะเนียง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการผ่าตัดที่สร้างชื่อเสียงให้กับ
หมอบรัดเลย์ และการวงการแพทย์สมัยใหม่ 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ตามหาจารึกโคลงกลบท “ดาวล้อมเดือน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “จารึกวัดโพธิ์” ที่กล่าวถึงในละครเช่นกัน และ 

วัดเทพธิดารามวรวิหาร ที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกว่า “บ้านกวี” และได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ให้ทุกคนได้แวะเวียนเข้าศึกษาจนถึงวันนี้ อีกทั้งยังได้ชมความงดงามต่าง ๆ ของ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร และ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล เปิดเผยต่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “เป็นการต่อยอดละครบุษบาลุยไฟ ที่เมื่อได้รับชมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ของไทยพีบีเอส เราเชื่อว่าผู้ชมมีความสนใจและอยากรู้ว่าประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในละครเรื่องนี้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับจิตรกรรม เรื่องราวของวัฒนธรรม การสักวา วิถีชีวิต และเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมาย จึงจัดทริปครั้งนี้ขึ้นมาโดยตั้งใจที่อยากจะตอบแทนผู้ชมที่เป็นแฟนคลับตัวยงของละครไทยพีบีเอส ให้ได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมท่องเที่ยวไปกับสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่ถ่ายทำจริงของละครเรื่องนี้ด้วยค่ะ โดยผู้ที่เข้ามาร่วมทริปครั้งนี้จะต้องมีการแต่งบทสักวาเข้ามาให้คัดเลือกอีกด้วย นอกจากจะมีผู้ชม นักแสดงในละคร และนักวิชาการให้ความรู้ตลอดทั้งทริป รู้สึกประทับใจทุกจุดจริง ๆ เข้มข้นทั้งสาระและความสนุก หวังว่าผู้ชมที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี้กับไทยพีบีเอสคงได้รับทั้งความประทับใจ เต็มอิ่มกับสาระต่าง ๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหวังว่าจะได้ติดตามละครต่อไปได้อย่างครบอรรถรสมากยิ่งขึ้นค่ะ”

ขอขอบคุณผู้ร่วมทริปทุกท่านที่ได้ร่วมเดินทางไปตามผืนน้ำและพื้นดินประวัติศาสตร์กับกิจกรรม “ล่องเรือ เล่าเรื่อง บุษบาลุยไฟ” ติดตามกิจกรรมดีดี เบื้องหลังการถ่ายทำ และเกร็ดความรู้จากละครมากมายเหล่านี้ได้ทาง Facebook : ละคร ไทยพีบีเอส เชิญรับชมความสนุกเข้มข้นของละครอิงประวัติศาสตร์ “บุษบาลุยไฟ” ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 รับชมอีกครั้งทางแอปพลิเคชัน VIPA.me หรือ www.VIPA.me และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางwww.thaipbs.or.th/BudsabaLuiFire

Tagged