เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยครั้งหนึ่ง ในวันมาฆบูชาวันเสาร์ที่ 8 ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา “จ่าคลั่ง” เกิดความคับแค้นใจ ตัดสินปัญหาด้วยการปลิดชีพผู้บังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้อง แต่ความโหดร้ายไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เขาเกิดความคลั่งและกราดยิงผู้คนใจกลางเมืองนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บ 58 คน เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศให้ความสนใจในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ สื่อสารมวลชนต่างๆตื่นตัว พากันเสนอข่าวสารกันไปหลายรูปแบบ ตามสถานการณ์ บางช่องเป็นที่ชื่นชม แต่บางช่องถูกตำหนิว่าทำหน้าที่เกินกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งในด้านจริยธรรม สังคม และความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์
จบงานนี้มีกระแสสังคมตำหนิช่องทีวีดิจิทัล 3 ช่อง เนื่องจาก บอกรายละเอียดที่ตั้ง แนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ สัมภาษณ์และบอกพิกัดของผู้ที่ติดอยู่ในห้างเทอร์มินอล 21 โคราช และการสัมภาษณ์สดพ่อของผู้เสียชีวิต จนมีเสียงกรีดร้องคร่ำครวญแทรกออกอากาศในรายการ จนเป็นที่หดหู่ของผู้ชม
ในขณะเดียวกัน เมื่อเรตติ้งออกมา ช่องที่ได้รับการชื่นชม ว่าทำข่าวในกรอบและขอบเขตของสังคมและจริยธรรมของสื่อที่ดี กลับไม่ได้รับความนิยมในรูปแบบของเรตติ้งสูงเท่าที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันบางช่องที่ถูกตำหนิจากกระแสสังคมว่า มองข้ามจริยธรรม กลับได้รับผลตอบรับจากเรตติ้งสูงมาก
ผลของเรตติ้งที่ออกมาเช่นนี้ ทำให้รู้สึกได้ว่า บางครั้งคนในสังคม เป็นเสมือนสำนวนไทยที่ว่า “ปากว่าตาขยิบ” ทั้งๆที่ หากคนดูร่วมกันลงโทษสื่อที่ทำเกินขอบเขต โดยการไม่รับชมอีก ต่อไปสื่อเหล่านั้น ก็จะไม่ทำในสิ่งที่มีบทเรียนมาแล้ว เท่ากับเป็นการลงโทษจากสังคม ตรวจสอบโดยสังคมกันเอง แต่ผลที่ออกมากลับเป็นการสวนทางกัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่สื่อต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะเคยมีเหตุการณ์คนยิงตัวตาย และมีการไลฟ์สดไปแล้ว ครั้งนี้จึงถือเป็นการย้อนกลับมาถกกันอีกครั้ง
แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์จากกสทช. ก็คงควบคุมได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายสื่อก็อาจจะกลับไปเลือกเส้นทางที่ได้รับผลตอบแทนด้านความนิยมเช่นเดิม โดยมองข้ามสังคมและจริยธรรมออกไป
ทางออกของสังคม เพื่อสังคมอยู่รอด คือ คนในสังคมต้องร่วมมือกัน ทำหน้าที่เป็นยามร่วมเฝ้าสังคม ด้วยการไม่รับชมช่องที่ปฏิบัติหน้าที่เกินว่ากรอบจริยธรรมอันดี และคงไม่มีกรอบกฎเกณฑ์จากส่วนราชการใดๆที่จะมาบังคับให้สื่อมวลชนทำงานตามกรอบได้อย่างเหมาะสม ได้เท่ากับจริยธรรมและความสำนึกในหน้าที่ของสื่อสารมวลชนเอง