ผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 ของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยที่ทยอยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ พบว่ารายได้เฉพาะบริการธุรกิจมือถือเอไอเอสมีรายได้รวมมากที่สุด 29,536 ล้านบาท ลดลง 7.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ได้รายได้ 32,042 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าในระบบทั้งหมด 41.02 ล้านราย มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 444,600 ราย
ค่ายทรู มีรายได้จากการให้บริการมือถือรองลงมาเป็นอันดับ 2 ด้วยรายได้รวม 20,171ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ได้อยู่ที่ 19,518 ล้านบาท โดยที่กลุ่มทรูมีจำนวนลูกค้ามือถือในระบบทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 30.16 ล้านราย ลดลง 140,000 ราย
ส่วนดีแทค อยู่ในอันดับ 3 มีรายได้จากบริการมือถืออยู่ที่15,033 ล้านบาท ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่ 15,691 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 18.79 ล้านราย มียอดลูกค้าลดลงไป 835,000 ราย
แต่เมื่อเทียบรายได้ต่อเลขหมายของทั้ง 3 ค่ายแล้ว ดีแทคเป็นรายที่มีรายได้ต่อเลขหมายสูงสุดที่ 253 บาท เอไอเอสอยู่ในอันดับ 2 ที่ 239 บาทต่อเลขหมาย และทรูอยู่ในอันดับ 3 มีรายได้ 216 บาทต่อเลขหมาย
ส่วนการเทียบอัตราการเติบโตตลาดรวมของธุรกิจมือถือของไทยในไตรมาส 2 ของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ค่ายทรูโตสุด 3.3% ส่วนเอไอเอส และ ดีแทคติดลบ 7.8% 4.6% ตามลำดับ ทำให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของตลาดมือถือในไทยเข้าสู่จุดอิ่มตัว ที่จะต้องขยายต่อยอดบริการอื่นๆบนโครงข่ายแทน
ตลาดบรอดแบนด์แข่งกันแรงจัด เอไอเอสโต 41% แต่ทรูโตแค่ 5.7%
สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ที่มีเพียงทรูและเอไอเอสให้บริการอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ในไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่า เอไอเอสมียอดรายได้เติบโตสูงถึง 41% โดยมีรายได้รวมจากธุรกิจนี้อยู่ที่ 1,683 ล้านบาท เพิ่มจาก 1,380 ล้านบาทในไตรมาส 2 ของปี 2562 เอไอเอสมียอดผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 1,200,000 ราย เพิ่มขึ้น 347,200 ราย มีรายได้ 489 บาทต่อลูกค้า 1 ราย
ส่วนทรูที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน เป็นไตรมาสแรกที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 5.7% โดยมีรายได้รวมบริการนี้อยู่ที่ 6,676 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ของปี 2562 มียอดรายได้รวมอยู่ที่ 6,317 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรูมียอดลูกค้ารวมถึง 4 ล้านราย และมีตัวเลขยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ 133,000 ราย โดยเป็นยอดลูกค้าติดตั้งใหม่ที่น้อยกว่าเอไอเอส แต่ยังมี ARPU สูงกว่าเอไอเอส อยู่ที่ 530 บาทต่อลูกค้า 1 ราย
สาเหตุที่รายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์ของทรูเพิ่มไม่มากนัก เพราะสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง นอกจากเอไอเอสแล้ว ก็ยังมี 3BB ของกลุ่มจัสมิน ที่เป็นอีกหนึ่งรายใหญ่ในตลาด ที่เข้าไปแข่งกันในทุกที่
รายได้รวม 3 ค่ายไตรมาส 2 เกือบแสนล้าน กำไรรวมกว่า 1.4 หมื่นลบ
ในส่วนของรายได้รวมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ ในไตรมาส 2 ทั้ง 3 ค่ายทำรายได้รวมกันถึง 95,330 ล้านบาท เป็นกำไรรวมกัน 14,317 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ปีที่แล้วที่มีรายได้รวมกัน 97,677 ล้านบาท ลดลง 2.347 ล้านบาท หรือ 2.4 % ส่วนกำไรรวมกันลดลง 4.89% จากกำไรรวมกัน 15,110 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว
เอไอเอสมีรายได้รวมมากที่สุด จากบริการมือถือ บรอดแบนด์ และรายได้เสริมจากเครือข่าย โดยมีรายได้รวมทั้งบริษัทอยู่ที่ 42,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 44,081 ล้านบาท และมีกำไร 7,235 ล้านบาท แต่เป็นอัตราลดลง 6.7% จากไตรมาส 2 ปีที่แล้วที่มีกำไรอยู่ที่ 7,754 ล้านบาท
ค่ายทรู ที่มีธุรกิจตั้งแต่มือถือ บรอดแบนด์ ทีวี เพย์ทีวี และธุรกิจออนไลน์ มีรายได้รวม 32,955 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ 33,878 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายการลดการทำโปรโมชั่น subsidy อุปกรณ์มือถือ และมีรายงานกำไรอยู่ที่ 1,262 ล้านบาท จากปีที่แล้วกำไรอยู่ที่ 1,060 ล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขกำไรของทรู รวมกำไรจากจำหน่ายเงินลงทุนกองทุน Digital Infrastucture Fund 1,886 ล้านบาท ถ้าหักกำไรส่วนนี้ จะทำให้ ทรูขาดทุนจากผลการดำเนินงาน 624 ล้านบาท
ดีแทค เบอร์ 3 ของตลาด ที่มุ่งเน้นการให้บริการเครือข่ายมือถืออย่างเดียว มีรายได้รวม 19,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 20,023 ล้านบาท และยังสามารถทำกำไรได้ที่ 5,874 ล้านบาท ลดลง 6.7% จาก 6,296 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
เงินรัฐอุ้มช่วงระบาดโควิด-19
ช่วงโควิด-19 ระบาดรัฐบาลมี แนวคิดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้บริการแบบเติมเงินซึ่งจากข้อมูลพบว่า 70% เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ผู้ใช้บริการที่อยู่ในเมือง ที่ต้องโทรกลับบ้าน โทรหา พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง หรือติดต่อสื่อสารกันโดยใช้การโทรติดต่อสื่อสารกันจึงมี นโยบายให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์โทร 100 นาที 45 วัน ทุกเครือข่าย
ข้อมูลของสำนักงานกสทช.พบว่า ยอดประชาชนที่ได้รับสิทธิ์โทรฟรี 100 นาที 45 วัน ทุกเครือข่าย ของรัฐบาล กสทช. และ 6 ค่ายมือถือ ซึ่งได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค กสท ทีโอที และซิม แพนกวิน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 12.66 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น เอไอเอส 7.26 ล้านเลขหมาย (มือถือแบบเติมเงิน 5.76 ล้านเลขหมาย และ แบบรายเดือน 1.50 ล้านเลขหมาย) ทรู 3.30 ล้านเลขหมาย (มือถือแบบเติมเงิน 2.37 ล้านเลขหมาย และ แบบรายเดือน 0.93 ล้านเลขหมาย) ดีแทค 1.96 ล้านเลขหมาย (มือถือแบบเติมเงิน 1.28 ล้านเลขหมาย และ แบบรายเดือน 0.68 ล้านเลขหมาย)
จากนโยบายให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์โทร 100 นาที 45 วัน ทุกเครือข่าย กสทช.ต้องชดเชยให้ 6 ค่ายมือถือ ซึ่ง AIS รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่า ได้รับเงินชดเชยจากกสทช. จำนวน 870 ล้านบาท แต่ ทรู และ ดีแทค ไม่มีข้อมูล
นอกจากนี้ กสทช. ได้มีการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ทั้งทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคม ภายใต้เงื่อนไข คือ บริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับสิทธิ์ในการ ยืดจ่ายค่าใบอนุญาต ออกไปนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระอีก 15 วัน โดยจะต้องชำระ 50% ก่อนภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 และชำระอีก 50% ที่เหลือ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และสำหรับบริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์ในการ ยืดจ่ายค่าใบอนุญาต ออกไปโดยเป็นจะต้องชำระค่าใบอนุญาต 100% ให้กับทาง สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทมีจำนวน 9 รายและผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 12 ราย