3 ค่ายมือถือ ครึ่งแรกปี 2564 รายได้รวมเกือบสองแสนล้าน แต่กำไรลดลง 16.9%

บทความพิเศษ ผลประกอบการ

ผลประกอบการครึ่งปี ของปี 2564 ของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยที่ทยอยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ พบว่ารายได้เฉพาะบริการธุรกิจมือถือเอไอเอสมีรายได้รวมมากที่สุด 58,449 ล้านบาท ลดลง 2.4% จากครึ่งปี เดียวกันของปีก่อนที่ได้รายได้ 59,870 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าในระบบทั้งหมด 42.76 ล้านราย มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 2,544,200 ราย

ค่ายทรู มีรายได้จากการให้บริการมือถือรองลงมาเป็นอันดับ 2 ด้วยรายได้รวม 40,108ล้านบาท ลดลง 0.4 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ได้อยู่ที่ 40,265 ล้านบาท โดยที่กลุ่มทรูมีจำนวนลูกค้ามือถือในระบบทั้งหมด ณ ครึ่งปี ของปี 2564 อยู่ที่ 31.20 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1,069,700 ราย

ส่วนดีแทค อยู่ในอันดับ 3 มีรายได้จากบริการมือถืออยู่ที่ 28,428 ล้านบาท ลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่ 29,965 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 19.08 ล้านราย มียอดลูกค้าเพิ่มขึ้นไป 688,000 ราย

แต่เมื่อเทียบรายได้ต่อเลขหมายของทั้ง 3 ค่ายแล้ว ดีแทคเป็นรายที่มีรายได้ต่อเลขหมายสูงสุดที่ 254 บาท เอไอเอสอยู่ในอันดับ 2 ที่ 229 บาทต่อเลขหมาย และทรูอยู่ในอันดับ 3 มีรายได้ 215 บาทต่อเลขหมาย

เมื่อเทียบอัตราการเติบโตตลาดรวมของธุรกิจมือถือของไทยในครึ่งปี ของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงทุกค่ายมือถือ ค่ายทรูลดน้อยสุด 0.4 % ส่วนเอไอเอส และ ดีแทคติดลบ 2.4 % และ 5.1% ตามลำดับ ผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินที่มีความอ่อนไหวต่อราคาและจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าที่ลดลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รายได้จากการใหบริการลดลง

ตลาดบรอดแบนด์แข่งกันแรงจัด เอไอเอสโต 19% แต่ทรูโตแค่ 3.3%

สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ของค่ายมือถือ ที่มีเพียงทรูและเอไอเอสให้บริการอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ในครึ่งปีแรก ของปี 2564 นี้ พบว่า เอไอเอสมียอดรายได้เติบโตสูงถึง 19% โดยมีรายได้รวมจากธุรกิจนี้อยู่ที่ 3,957 ล้านบาท เพิ่มจาก 3,323 ล้านบาทในครึ่งปีแรก ของปี 2564 เอไอเอสมียอดผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 1,430,000 ราย เพิ่มขึ้น 428,300 ราย มีรายได้ 460 บาทต่อลูกค้า 1 ราย

ส่วนทรูที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน เป็นครึ่งปีแรก ของปี 2564 ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 3.3% โดยมีรายได้รวมบริการนี้อยู่ที่ 19,493 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มียอดรายได้รวมอยู่ที่ 18,855ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรูมียอดลูกค้ารวมถึง 4.3 ล้านราย และมีตัวเลขยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก นี้ 206,000 ราย โดยเป็นยอดลูกค้าติดตั้งใหม่ที่น้อยกว่าเอไอเอส แต่ยังมี ARPU สูงกว่าเอไอเอส อยู่ที่ 532 บาทต่อลูกค้า 1 ราย

ในส่วนของรายได้รวมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ ในไตรมาส 3 ทั้ง 3 ค่ายทำรายได้รวมกันถึง 198,340 ล้านบาท เป็นกำไรรวมกัน 15,158 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้รวมกัน 196,958 ล้านบาท ลดลง 16.9 %

เอไอเอสมีรายได้รวมมากที่สุด จากบริการมือถือ บรอดแบนด์ และรายได้เสริมจากเครือข่าย โดยมีรายได้รวมทั้งบริษัทอยู่ที่ 88, 618 ล้านบาท ลดลง 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 85,101 ล้านบาท และมีกำไร 13,685 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรอยู่ที่13,757 ล้านบาท

ค่ายทรู ที่มีธุรกิจตั้งแต่มือถือ บรอดแบนด์ ทีวี เพย์ทีวี และธุรกิจออนไลน์ มีรายได้รวม 69,222 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 73,332 ล้านบาท และมีรายงานขาดทุนอยู่ที่ 880 ล้านบาท จากปีที่แล้วกำไรอยู่ที่ 1,101ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 179.97% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกและกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงิน

ดีแทครายได้รวม จากบริการมือถือ โดยมีรายได้รวมทั้งบริษัทอยู่ที่ 40,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 39,235 ล้านบาท และมีกำไร 2,353 ล้านบาท ลดลง 30.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรอยู่ที่ 3,390 ล้านบาท

Tagged