“โควิด กับการเปลี่ยนแปลงของผู้ชมทีวีในรอบ 3 เดือน”

บทความพิเศษ

โควิด-19 กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในรอบ 3 เดือน

โดย นางสาวณิชาปวีณ์ กกกำแหง

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) จนทำให้มี ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้นได้ส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ภาครัฐจึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและสกัดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปตามแนวทางรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคคล (Social Distancing) และใช้นโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้มีหลายหน่วยงานได้ตอบสนองแนวทางและนโยบายของภาครัฐข้างต้น โดยใช้วิธีการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

จากข้อมูลตัวเลขผู้ชมโทรทัศน์ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2563) พบว่า จำนวนผู้ชมรายเดือนของเดือนมีนาคมนั้นสูงขึ้นกว่าของเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ชมโทรทัศน์เฉลี่ยต่อนาทีของเดือนมีนาคมนั้น สูงกว่าเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 5.66 และ 5.12 ตามลำดับ และจำนวนผู้ชมโทรทัศน์แบบไม่นับซ้ำ (Reach) ของเดือนมีนาคมนั้น สูงกว่าเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 2.92 และ 1.03 ตามลำดับ


 1เป็นข้อมูลจำนวนผู้ชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเท่านั้น

                                                                          ที่มา : Nielsen

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่เจาะลึกระดับรายวัน สามารถสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการรับชมของผู้คนที่น่าสนใจ โดยพบว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 22 เป็นต้นไปจนกระทั่งสิ้นเดือนของเดือนมีนาคมนั้นมีจำนวนผู้ชมสูงกว่าในช่วงเดียวกันของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่มีประกาศกรุงเทพมหานครให้ปิดสถานที่เสี่ยง และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมีแนวโน้มให้เห็นได้ว่ามียอดผู้รับชมโทรทัศน์เพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากวันที่มีการประกาศมาตรการหรือการออกนโยบายต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว 


2ยกเว้นในช่วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มียอดผู้ชมสูงสุดในรอบ 3 เดือน อันเนื่องมาจากเหตุสะเทือนขวัญคือการกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา โดยในวันดังกล่าวมีจำนวนผู้ชมโทรทัศน์เฉลี่ยต่อนาที 6.595 ล้านคน และจำนวนผู้ชมโทรทัศน์แบบไม่นับซ้ำ 34.524 ล้านคน

3ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ได้สั่งปิดสถานที่รวม 26 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 โดยประกาศไว้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563

4ตามประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1) ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 โดยนายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563

เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลการรับชมตลอดทั้ง 3 เดือน พบว่า ยอดผู้รับชมยังคงมีรูปแบบเดิมคือจำนวนผู้ชมโทรทัศน์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) จะมีมากกว่าในช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ที่มียอดผู้ชมโทรทัศน์สูงสุดในแต่ละสัปดาห์ ทั้งยังมีจำนวนผู้ชมโทรทัศน์ (ทั้งจำนวนผู้ชมโทรทัศน์เฉลี่ยต่อนาทีและแบบไม่นับซ้ำ) ของแต่ละวันในสัปดาห์ของเดือนมีนาคมสูงกว่าสองเดือนก่อนหน้าที่ผ่านมา

อาจกล่าวได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไป และรวมไปถึงในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งในอุตสาหกรรมธุรกิจโทรทัศน์ ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการผลิตเนื้อหารายการ (Content) ขึ้นได้ตามปกติ จนต้องมีการเลื่อนการถ่ายทอดสดรายการกีฬา รวมถึงมีการหยุดการดำเนินงานชั่วคราวของกองถ่ายทำรายการหรือละครโทรทัศน์ที่มีขนาดใหญ่หรือมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก 

มากไปกว่านั้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้เจ้าของแบรนด์สินค้าหลายตัวได้ประกาศหยุดการใช้งบโฆษณาในทุกสื่อ รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ได้รับผลกระทบทางตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และถึงแม้ว่าตัวเลขจำนวนผู้ชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามูลค่าโฆษณาที่ได้รับจริงของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นบททดสอบที่มีความท้าทายสูงต่อผู้คนและธุรกิจทุกระดับ รวมทั้งผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอล ที่จำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการเพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ไปให้ได้

Tagged