เรตติ้งทีวีดิจิทัลประจำเดือนก.ย.2564 เป็นเดือนที่ผังรายการของทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ยังคงมีรายการรีรันอยู่ในช่วงเวลาหลักของวันต่อเนื่อง ช่วงปลายเดือนรัฐบาลเริ่มมาตรการผ่อนคลาย จากตัวเลขการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มลดลง ละครเริ่มเปิดกองถ่ายทำภายใต้มาตรการที่เคร่งครัดได้แล้ว เดือนต.ค.จะเป็นเดือนที่เริ่มเห็นรายการรีรันลดลงไปบ้างแล้ว
เรตติ้งทีวีดิจิทัลประจำเดือน จัดเทียบความนิยมกลุ่มผู้ชมทีวีดิจิทัลทั้ง 18 ช่อง แบบ 3 กลุ่ม ตั้งแต่เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป ในกลุ่มคนเมือง หรือ BU 15+ และเรตติ้งเฉลี่ยกลุ่มผู้ชมผู้หญิงทั่วประเทศอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือ F15+ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของฐานผู้ชมของแต่ละช่องทีวีดิจิทัลแบบแยกกลุ่มให้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ตัวเลขเรตติ้ง Nationwide 4+ สะท้อนถึงฐานผู้ชมโดยรวม ในขณะที่ตัวเลขเรตติ้ง 15+BU และ F15+ สะท้อนถึงกลุ่มผู้ชมที่เป็นเป้าหมายของสินค้าที่ลงโฆษณา
เรตติ้ง 4+ ทั่วประเทศ : ช่อง 7 ดีขึ้น
เรตติ้งกลุ่มผู้ชมอายุ 4 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ช่อง 7 เรตติ้งดีขึ้นชัดเจน จากชุดละครรีรันลงผังช่วงค่ำ 1 ทุ่ม “สุสานคนเป็น” ทำผลงานได้ดี เรตติ้งสูงสุดของช่วง 1ทุ่ม ในทุกวันที่ออนแอร์ ส่วนละครไพรม์ไทม์ “แม่เบี้ย” เรตติ้งดีเช่นกัน มีผลทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่องเพิ่มจากเดือนก่อนหน้า 1.342 เป็น 1.511
ในขณะที่ช่อง 3 เรตติ้งเฉลี่ยรวมในกลุ่มนี้ลดลงจาก 1.156 เป็น 1.073 โดยละครไพรม์ไทม์ที่จัดลงมาชุดนี้ ผลตอบรับไม่ดีนัก แต่มีละครรีรัน “ทองเนื้อเก้า” ช่วง 6 โมงเย็นที่ได้รับความนิยมสูง กลายเป็นรายการหลักเรียกเรตติ้งของช่อง และยังมีกลุ่มรายการข่าวช่วงเวลาหลักที่ได้รับความนิยมเช่น “โหนกระแส”
ในเดือนนี้ช่อง Mono อันดับ 3 ที่เด่นด้านภาพยนตร์ต่างประเทศ เรตติ้งเฉลี่ยลดลงเช่นกันจาก 0.871 เป็น 0.863
ภาพรวมของช่องเน้นข่าว ช่องไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี ได้อันดับ 4 ร่วมกัน เรตติ้งดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งคู่ รายการข่าวของทั้งสองช่องในช่วงไพรม์ไทม์ได้รับความนิยมสูงกว่ารายการบันเทิงหลายช่อง ส่วนช่องเวิร์คพอยท์และช่อง One เรตติ้งดีขึ้น รักษาอันดับ 6 และ 7 เช่นเดิม
เรตติ้ง BU15+ : คนเมืองรับชมทีวีลดลง
เรตติ้งกลุ่มคนเมืองที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป เรตติ้งกลุ่มนี้สะท้อนภาพผู้ชมในพื้นที่เมืองที่มีกำลังซื้อสูง พบว่า 12 ช่อง เรตติ้งเฉลี่ยลดลง สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนเมืองอาจจะมีทางเลือกในการรับชมคอนเทนต์ที่หลายหลายช่องทางได้มากขึ้น จึงมีการรับชมคอนเทนต์ทางทีวีดิจิทัลลดลง โดยเฉพาะช่อง 3 ที่เจาะกลุ่มคนเมือง เรตติ้งเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เรตติ้งลดลงจาก 1.936 มาที่ 1.787
6 ช่องที่เรตติ้งเฉลี่ยดีขึ้นในกลุ่มนี้ ได้แก่ ช่อง 7 ช่องอมรินทร์ทีวี ช่องเวิร์คพอยท์ ช่อง One ช่อง JKN18 และช่อง 5
เรตติ้ง F15+ : ช่อง One อันดับขึ้น
เรตติ้งในกลุ่มผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ เป็นกลุ่มที่นิยมคอนเทนต์บันเทิง โดยเฉพาะละครเป็นคอนเทนต์หลัก ในกลุ่มนี้ที่เด่นขึ้นมา เป็นช่อง One ที่เริ่มนำละครใหม่ลงผัง โดยการนำ “กระเช้าสีดา” กลับมาออนแอร์ตั้งแต่เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง 2 ตอนแรก ได้เรตติ้งสูงกว่าครั้งที่ออนแอร์รอบแรก ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยกลุ่มนี้ขยับจากอันดับ 7 เรตติ้งเฉลี่ย 0.577 ในเดือนที่แล้ว มาที่อันดับ 6 เรตติ้งเฉลี่ย 0.662
นอกจากนี้พบว่าช่องส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เรตติ้งดีขึ้น สำหรับช่อง 5 เป็นอันดับสุดท้ายอันดับ 18 ในกลุ่มผู้หญิง เนื่องจากฐานผู้ชมช่อง 5 เป็นกลุ่มผู้ชายมากกว่า และเมื่อดูจากเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ อายุ 4 ปีขึ้นไป ช่อง 5 อยู่อันดับ 17