ปลดล็อคถอดหน้ากากอนามัย รายการ “เกมโชว์-วาไรตี้” กสทช.เสนอ ศบค. 17 มิ.ย.นี้
สำนักงาน กสทช. หารือแนวทางถ่ายทำรายการโทรทัศน์ เปลี่ยนผ่าน “โควิด-19” สู่โรคประจำถิ่น “เกมโชว์-วาไรตี้” ขอปลดล็อคถอดหน้ากากอนามัย เตรียมเสนอ ศบค. 17 มิ.ย.นี้
วันที่ 7 มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับเพิ่มเติม แก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ และสื่อมวลชน
ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ร่วมกันปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นอย่างดี ทั้งการดำเนินการภายในกองถ่าย หรือรายการประเภทข่าว ก็ได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนมาโดยตลอด ถือเป็นวิชาชีพที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างภาพจดจำให้กับสังคม อย่างไรก็ดีสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น
ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานในอุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยเฉพาะการถ่ายทำรายการโทรทัศน์สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และปลอดภัย กสทช. จึงปรับแนวทางในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีประเด็นหลักประกอบด้วย ยกเลิกการตรวจ ATK และการตรวจวัดอุณหภูมิ ปรับมาตรการการเว้นระยะห่างส่วนบุคคล ปรับแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของกองถ่าย รวมถึงการเพิ่มมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มผู้เสี่ยงสูง และการสวมหน้ากากอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในกองถ่าย
ทั้งนี้ในการประชุมผู้ประกอบการได้สอบถามเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย โดยมองว่าการถ่ายทำรายการวาไรตี้ และการถ่ายทำละครควรผ่อนปรนให้สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ แต่จะมีการตรวจ ATK เป็นประจำ ส่วนกรณีของผู้ประกาศข่าวก็ขอผ่อนปรนถอดหน้ากากอนามัย แต่สำหรับรายการที่มีผู้ประกาศข่าวมากกว่า 1 คน ยังคงมีมาตรการป้องกัน เช่นมีฉากกั้น เว้นระยะห่างระหว่างกัน
อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่ม 608 ยังเป็นกลุ่มที่ต้องมีมาตรกรป้องกันอย่างต่อเนื่อง ในการเข้าร่วมรายการต่างๆ
นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการและนายทะเบียนและเลขานุการสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรทัศน์เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจึงมีความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน เพราะหากมีผู้ติดเชื้อจะมีผลกระทบกับคนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องหยุดงาน ที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้มาตรการป้องกัน เช่น การตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอทุก 3 วัน มีการเว้นระยะห่างและเฝ้าระวัง ส่วนการใช้ฉากกั้น หรือเฟซชีลด์ (face shield) ยอมรับว่ามีผลกระทบกับการถ่ายทำในรายการที่ไม่ใช่รายการข่าว
“ส่วนตัวมองว่าถ้าละครถอดหน้ากากอนามัยได้ รายการแบบอื่นก็น่าจะถอดหน้ากากอนามัยได้เช่นกัน” นายเดียว กล่าว
ด้านแพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โควิด-19 มีลักษณะของการแพร่กระจายผ่านอากาศ ในทางสาธารณะสุขการสวมหน้ากากอนามัยจึงยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยังคงมีข้อบังคับเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยอยู่ และคาดว่าจะผ่อนคลายมาตรการอื่น ๆ เช่น การเว้นระยะห่าง ก่อน และหน้ากากอนามัยจะเป็นมาตรการหลังๆที่จะปลดล็อค
แพทย์หญิงวรรณา กล่าวว่า เข้าใจธรรมชาติของการรายการโทรทัศน์ที่จำเป็นต้องเปิดหน้าเพื่อทำการแสดง การสวมหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงานอาจเป็นอุปสรรค แต่เพื่อความรอบคอบ และเป็นการผ่อนปรนในส่วนที่จำเป็นจึงเสนอให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาในส่วนของมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน และนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณะสุขก่อนเสนอต่อที่ประชุม กสทช. และ ศบค. ต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะรวบรวมข้อเสนอของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมกรมควบคุมโรค และที่ประชุม กสทช. เพื่อทำการพิจารณาปรับปรุงมาตรการเพิ่มเติมตามที่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เสนอ ก่อนนำเข้าที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้