ข่าวประชาสัมพันธ์
ครบรอบ 62 ปี ททบ.5 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เป็นประธานในงาน วันสถาปนา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ครบรอบ 62 ปี โดยมี พลเอก กิตติเชษฐ์ ศรดิษฐพันธ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้ร่วมผลิตรายการ ศิลปิน ดารา มาร่วมแสดงความยินดีอย่างมากมาย
โดยเวลา 07.15 น. พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ประธานในพิธีเดินทางถึง ททบ. และ สักการะรูปปั้น ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ก่อตั้ง ททบ. ซึ่งได้เรียนเชิญ พลเอก สมชาย ธนะรัชต์ ทายาท มาร่วมในพิธีด้วย หลังจากนั้น มีการมอบเงินรางวัล พร้อมประกาศนียบัตร ให้กับเจ้าหน้าที่ ททบ. ผู้ได้รับรางวัลดีเด่นจากการประกวดการผลิตข่าวและสกูปข่าว เชิงสร้างสรรค์สังคม และส่งเสริมความมั่นคงในชาติ จำนวน 8 ทีม ในโครงการ “คนข่าวมืออาชีพ TV5HD1”
ส่วนจัดงานปีนี้ ททบ. ยังคงขอความร่วมมือในการบริจาคเงินแทนการมอบดอกไม้ หรือกระเช้าอวยพร เพื่อนำเงินดังกล่าวสมทบบัญชี “เงินทุนเพื่อช่วยเหลือทหารที่ปกป้องอธิปไตย” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 54 จำนวน 5 แสนบาท เป็นเงินทุนเพื่อช่วยเหลือทหารที่ปกป้องอธิปไตย และครั้งที่ 2 พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีก 5 แสนบาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 55 โดยกองทัพบกได้รับสนองพระราชเสาวนีย์ และได้มอบให้ ททบ. จัดทำบัญชีดังกล่าว เพื่อเปิดรับบริจาคและบริหารจัดการ นำเงินเหล่านี้ไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติจากสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดน รวมทั้งความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
เพิ่มกลยุทธ์หางานจากภาครัฐ G to G
ด้านทิศทางการดำเนินงานของ ททบ. ในปี 63 มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อความมั่นคง ผลิตและนำเสนอข่าวสาร สาระ ถูกต้อง เป็นกลาง เชื่อถือได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และเป็นศูนย์รวม (HUB) ในการส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ผ่านระบบโครงข่ายที่ครอบคลุม ทุกพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมียุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่
1.ด้านบริหารจัดการองค์กร ด้วยกลยุทธ์การปรับทัศนคติ เปลี่ยนแนวคิดการบริหาร กลยุทธ์การแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Micro unit performance) และกลยุทธ์การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2.ด้านการปฏิบัติการ ด้วยกลยุทธ์ด้านโทรทัศน์ดิจิทัล ทั้ง On Air Online On Ground และ โทรทัศน์ดาวเทียม “Thai TV Global Network” (TGN) ในการเพิ่มเรตติ้ง กลยุทธ์การหารายได้จากงาน G to G กลยุทธ์การผลิตรายการเพื่อความมั่นคง กลยุทธ์การปรับมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และกลยุทธ์การสร้างอัตลักษณ์ (Brand Identity) ใหม่ของ ททบ.
3.ด้านเทคโนโลยี ด้วยกลยุทธ์ด้านโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อความมั่นคงและการรักษามาตรฐานคุณภาพของโครงข่าย และกลยุทธ์ด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี จัดทำระบบบริหารอุปกรณ์ รวมทั้งกลยุทธ์การสร้างฐานข้อมูลออนไลน์
สำหรับงานด้านวิทยุกระจายเสียง ได้มีการปรับราคาตามราคาตลาดและนำเนื้อหารายการวิทยุมาจัดทำเป็นคลิปเสียงดิจิทัล (Podcast)
ใช้เทคโนฯวัดความนิยมคนดูทีวี และรายการด้านความมั่นคง
นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสำรวจพฤติกรรมการรับชม ทั้งการวัดความนิยมของรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย และการตรวจสอบการรับชมรายการที่มีผลด้านความมั่นคงด้วย
ส่วนงานด้านโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Mux) ในฐานะที่ ททบ. เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล จำนวน 2 โครงข่าย ททบ. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งสถานีเสริม/สำรอง พร้อมติดตั้ง ศูนย์รวบรวมกระจายสัญญาณ (Head End) สำรองที่กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์ระบบบีบอัดสัญญาณรุ่นใหม่ของ Head End นับเป็นโครงข่ายแรกที่ได้ดำเนินการ อันจะส่งผลทำให้สัญญาณภาพมีความคมชัดเพิ่มขึ้นอีก 20% นอกจากนี้ ททบ. ยังมีเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการและบำรุงรักษา กรณีอุปกรณ์เกิดปัญหาขัดข้อง ตลอด 24 ชม. เพื่อให้ผู้ใช้บริการโครงข่ายของ ททบ. มั่นใจในศักยภาพในการส่งสัญญาณอย่างเต็มรูปแบบ
สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2501 ด้วยความดำริและความอนุเคราะห์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐ กองทัพ และประชาชน รวมทั้งผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ในด้านสาระ ความรู้ และสาระบันเทิง นอกจากนี้ ททบ. คือ หนึ่งในสถานีที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานถึง 62 ปี โดยยึดหลักการทำงานตามปรัชญา “นำคุณค่าสู่สังคมไทย” และยังคงมุ่งหมายพัฒนาในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ยึดมั่นในหลักจริยธรรม และจรรยาบรรณสื่อ ในฐานะเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยสาธารณะ