กสทช.ได้สรุปยอดเงินที่กสทช.ต้องจ่ายเงินชดเชยในกรณี ช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตทั้งหมด 7 ช่องเป็นวงเงินรวมทั้งหมด 2,932.68 ล้านบาท ในขณะที่ทั้ง 7 ช่องได้รับเงินสด หลังหักค่าใช้จ่ายรวมกัน 2,461.75 ล้านบาท ช่อง 3SD ได้รับเงินสดสูงสุด 661.63 ล้านบาท
วันที่ 30 ก.ย. 2562 เป็นวันสุดท้ายของการออกอากาศช่อง 3SD และช่อง 3Family ซึ่งเป็น 2 ช่องสุดท้าย ที่แจ้งขอคืนใบอนุญาต และได้เงินชดเชยจากการคืนช่องจากกสทช.
จากข้อมูลของกสทช.ได้สรุปว่า ช่อง 3SD เป็นช่องที่ได้รับการประเมินมูลค่าชดเชยสูงสุดถึง 680.08 ล้านบาท แต่เมื่อหักภาษี เงินค้างชำระค่าธรรมเนียมให้กับกสทช.แล้ว สรุปช่อง 3SD ได้เงินชดเชย 661.63 ล้านบาท ส่วนช่องที่ได้รับเงินสดมากสุดเป็นอันดับ 2 ได้แก่ช่อง สปริงนิวส์ ได้รับการประเมินมูลค่าไว้ที่ 500.95 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงเหลือได้เงินสดรวม 493.23 ล้านบาท ทั้งช่อง 3SD ประมูลช่องมาในวงเงิน 2,275 ล้านบาท
แต่ถ้าคำนวณจากยอดการประเมินมูลค่าชดเชยที่จะได้รับแล้ว ช่องสปริง 26 เป็นช่องที่ได้รับการประเมินมูลค่าชดเชยสูงถึง 675.67 ล้านบาท แต่เนื่องจากสปริง 26 ติดภาระทั้งหนี้ค้างค่าเช่าโครงข่าย ช่อง 5 จำนวน 70.87 ล้านบาท และหนี้ธนาคารกสิกรไทย อีกจำนวน 250.64 ล้านบาท รวมกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต จึงได้รับเงินสด 341.19 ล้านบาท จากการประมูลช่องมาในวงเงิน 2,200 ล้านบาท
วอยซ์ทีวีเป็นอีกช่องที่ได้รับค่าชดเชยเป็นเงินสดสูงถึง 372.64 ล้านบาท จากมูลค่าประเมินวงเงินชดเชยอยู่ที่ 378.05 ล้านบาท ทั้งนี้วอยซ์ทีวีประมูลช่องมาในวงเงิน 1,330 ล้านบาท
ส่วนช่องไบรท์ทีวี ซึ่งประมูลช่องมาในมูลค่า 1,298 ล้านบาท ได้รับการประเมินมูลค่าเงินชดเชย 371.98 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าธรรมเนียมค้างชำระ และค่าเช่า MUX กับช่อง 5 อีกจำนวน 87.39 ล้านบาท ทำให้เหลือได้รับเงินสดจำนวน 273.42 และช่อง MCOT Family ที่ประมูลมาในราคา 660 ล้านบาท ได้รับการประเมินมูลค่าชดเชยไว้ที่ 163.30 ล้านบาท หักค่าภาษี เหลือได้รับเงินสดชดเชย 161.03 ล้านบาท
และสุดท้าย ช่อง 3Family ประมูลมาในวงเงิน 666 ล้านบาท ได้รับการประเมินมูลค่าชดเชยอยู่ที่ 162.54 ล้านบาท หักค่าธรรมเนียมค้างชำระ เหลือได้รับเงินสดอยู่ที่ 158.60 ล้านบาท โดยรวมแล้ว 2 ช่องในกลุ่มช่อง 3 ได้รับเงินสดชดเชยเป็นวงเงินรวม 820.23 ล้านบาท
รวมเป็นวงเงินประเมินมูลค่าชดเชยทั้ง 7 ช่องรวม 2,932.68 ล้านบาท แต่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมด กสทช.ได้จ่ายเงินสดรวม 2,461.75 ล้านบาท
โดยสรุปทั้งหมด 7 ช่อง เป็นช่องในหมวด SD วาไรตี้ 2 ช่อง ช่องข่าว 3 ช่อง และช่องเด็ก 2 ช่องที่จากไป จะเหลือ 7 ช่องในหมวด HD 5 ช่องในหมวด SD และ อีก 3 ช่องในหมวดข่าว รวมเป็น 15 ช่อง และยังมีช่องสาธารณะอีก 4 ช่อง ได้แก่ช่อง 5 ช่องไทยพีบีเอส ช่อง NBT และช่องทีวีรัฐสภา รวมเป็นทีวีดิจิทัลทั้งหมด 19 ช่อง แต่ที่มีการวัดเรตติ้งเพียง 18 ช่อง ยกเว้นทีวีรัฐสภา