หลังจากที่คณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่นความถี่ 700 MHz ที่มีพ.อ.นที ศุกลรัตน์เป็นประธาน ได้ออกมาแถลงข่าวแผนการเตรียมการปลดล็อคปัญหาทีวีดิจิทัลทั้งระบบ ด้วยการเอาคลื่น 700 MHz ที่ที่วีดิจิทัลใช้งานอยู่มาประมูลคลื่น เพื่อบริการ 5G แล้วนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้มีการเรียกประชุมครั้งที่ 2
มติที่ประชุมมีข้อสรุปว่า เห็นควรกำหนดหลักการแนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจาการเรียกคืนคลื่นความถี่ ตามสิทธิและหน้าที่ดังนี้
1.ผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 700 MHz คือ ผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz , ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกในการกิจการทีวีดิจิทัล
2.ให้นำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz มาทดแทน ชดใช้ หรือ จ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบตามข้อ 1 ดังนี้
2.1 ค่าใช้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล และค่าใช้บริการโครงข่ายเพื่อปฏิบัติตามประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตลอดระยะเวลาการได้รับอนุญาตการให้บริการทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่
2.2 ค่าขาดประโยชน์จากสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่เดิมของผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล จำนวนเท่ากับค่างวดการประมูลคลื่นความถี่ 2 งวดสุดท้ายที่จะต้องชำระ
2.3 ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายโทรทัศน์เพื่อให้เป็นไปตามแผนความถี่ใหม่ที่ กสทช. จะกำหนดเพื่อรองรับการให้บริการทีวีในระบบดิจิทัล
2.4 ค่าผลกระทบโดยตรง ที่ผู้ให้บริการโรงข่ายได้รับ จากการปรับเปลี่ยนการให้บริการ
2.5 ค่าจัดทำการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล
- วิธีการและระยะเวลาการทดแทน การจ่ายค่าชดใช้ และค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่กสทช.กำหนด
คาดใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ช่วยทีวีดิจิทัลทั้งระบบ
จากมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่า จะต้องใช้เงินที่จะได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz ที่จะส่งเข้ากองทุนกสทช.ทั้งหมด มาชดเชยให้ผู้ประกอบการในวงการทีวีดิจิทัลทั้งระบบเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่ประกอบด้วย
1.ค่าใช้บริการโครงข่ายดิจิทัล Mux จนถึงสิ้นสุดใบอนุญาต ในปี 2572 มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท
- ค่าขาดประโยชน์จากการใช้คลื่น 700MHz คิดเป็นเงิน 2 งวดสุดท้ายของวงเงินประมูลทีวี มูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท
- ค่าใช้บริการโครงข่ายตามเงื่อนไขประกาศ Must Carry จนสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 รวมมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ตามคลื่นความถี่ใหม่ มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท
- ค่าจัดทำ TV Rating รายใหม่ มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท
รวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 43,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามขั้นตอนการจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดนี้ คงต้องแบ่งจ่ายเป็นช่วงๆ ตามงวดการชำระเงินของการประมูลคลื่น 700 MHz โดยที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเงื่อนไขในการประมูลคลื่น 700 MHz ที่คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ประมาณกลางปี 2562 นี้