เรียงช่องทีวี วนเวียน รอศาลตัดสิน

กสทช. เกาะติดจอ

ผลการเปิดรับฟังความเห็นร่างประกาศเรียงเลขช่องทีวีดิจิทัลฉบับใหม่ ยังแตกเป็น 2 ความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านเช่นเดิม กสทช.ลุ้นรอผลศาลปกครองสูงสุด

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 สำนักงาน กสทช.ได้มีการจัดทำ Focus Group ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ สำหรับโครงข่ายโทรทัศน์ซึ่งให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ หรือประกาศเรียงหมายเลขช่องทีวีดิจิทัล ในโครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และอื่นๆ ซึ่งกสทช.ได้จัดเตรียมร่างดังกล่าว เพื่อรองรับหากผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ในกรณีที่อาจจะมีผลทำให้ต้องยกเลิกประกาศเรียงช่องฉบับเดิม

การจัดทำ Focus Group ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการธุรกิจทีวี ประเภททีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ที่เป็นทีวีบอกรับสมาชิก เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งยังคงแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันชัดเจน

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แสดงความสนับสนุนการจัดทำร่างประกาศฉบับใหม่ ให้มาทดแทนประกาศฉบับเก่า หากมีเหตุศาลตัดสินให้ต้องยกเลิก เพราะยึดหลักความสำคัญของประกาศที่ช่วยให้ประชาชนทั่วประเทศไม่สับสน ในการรับชมช่องทีวีดิจิทัลผ่านทุกแพลตฟอร์มเครือข่ายทีวี ซึ่งจะเป็นหมายเลขช่องเช่นเดียวกันในทุกระบบ

ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี มีความเห็นคัดค้านร่างประกาศฉบับนี้ โดยเห็นว่าร่างนี้เป็นการจำกัดสิทธิในการเลือกหมายเลขช่องออกอากาศในเครือข่ายของตนเอง ที่ต้องการจะบริหารจัดการเอง หากสำนักงาน กสทช. ออกประกาศร่างใหม่มา ก็จะต้องคัดค้าน และยื่นเรื่องฟ้องร้องเช่นเดียวกับประกาศเรียงช่องที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการได้ฟ้องร้องต่อศาล และอยู่ระหว่างรอผลการตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดอยู่

ทั้งนี้กสทช.ได้มีแผนเตรียมการรองรับประกาศฉบับใหม่นี้ โดยการจัดการหมายเลขช่องหมวดหมู่สาธารณะใหม่โดยช่อง 5 จะย้ายจากช่อง 1 มาอยู่ที่ช่อง 11 ช่อง NBT จะย้ายจากช่อง 2 เป็นช่อง 12 ช่องไทยพีบีเอส หรือช่อง 3 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 13 ในขณะที่ช่องรัฐสภา หรือ ช่อง 10 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 14 และเตรียมช่องที่ว่างจากกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่เลิกกิจการและคืนใบอนุญาตไปแล้ว อีก 7 ช่อง ได้แก่ช่องหมายเลข 15 17 19 20 21 26 28 สำรองไว้สำหรับช่องสาธารณะ หรือ ช่องทีวีชุมชุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด ทั้งการรับชมในระบบเครือข่ายทีวีดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน และการรับชมผ่านเครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี

โดยที่กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลภาคธุรกิจทั้ง 15 ช่องจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยจะอยู่ในหมายเลขเดิมต่อไป

สำหรับรายละเอียดของร่างประกาศฉบับใหม่นี้ ระบุว่าหมายเลขช่อง 1-10 และช่อง 37 เป็นต้นไปนั้น จะต้องเป็นช่องโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เช่นช่องทีวีดาวเทียม เคเบิล หรือช่องในแพลตฟอร์มอื่นๆทั้งหมด โดย ที่ช่อง 1-10 นั้น มีข้อกำหนดห้ามออกอากาศช่องทีวีที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ ที่แสดงชื่อช่องรายการ เครื่องหมาย หรือโลโก้ เหมือนหรือคล้ายกับช่องทีวีดิจิทัลที่ได้คืนใบอนุญาตไปแล้ว

สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องการเรียงช่องทีวีดิจิทัลนั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้าจะมีทีวีดิจิทัล ในวันที่ 25 พ.ย.2556 กสทช.เคยมีประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ที่ให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และแบบบอกรับสมาชิก สามารถเลือกจัดช่องรายการในช่อง 1-10 ได้เอง  ทำให้ระยะแรกหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลในโครงข่ายทีวีดิจิทัลกับโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่ตรงกัน เพราะในระบบดาวเทียมและเคเบิลจะต้องบวก 10 ทุกช่อง เช่นช่อง 9 อสมท ในเครือข่ายทีวีดิจิทัลอยู่หมายเลข 30 แต่เครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลอยู่หมายเลข 40 จนทำให้ กสทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์จัดลำดับบริการโทรทัศน์ใหม่ ในวันที่ 23 ก.ย. 2558 ที่ระบุให้กันเลข 1-36 ไว้สำหรับกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด เพื่อที่จะให้ผู้ชมทีวี ได้จดจำหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลเป็นหมายเลขเดียวกันในทุกระบบ ทำให้การรับชมทีวีดิจิทัลของคนไทย เหมือนกันทุกโครงข่าย ไม่ว่าจะดูผ่านกล่องดาวเทียม  กล่องเคเบิล และกล่องดิจิทัล ป้องกันมิให้ประชาชนสับสน

ทำให้บรรดาผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบแอนะล็อค ประสบปัญหาเรื่องการใช้เงินลงทุนในการจัดเรียงช่องใหม่ จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนต่อศาลปกครอง ตั้งแต่ปี 2560  ซึ่งมีการฟ้องร้องจากหลายกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมด้วย ในหลายคดี และมีหนึ่งคดีที่ศาลปกครองกลางได้ตัดสิน ให้เพิกถอนประกาศ กสทช.เรื่องจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัล โดยที่กสทช. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และขณะนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้ไต่สวนเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสิน คาดว่าจะมีคำสั่งภายในเร็วๆนี้

ข่าวเกี่ยวข้อง ศาลปกครองสั่งย้ายช่องเลขช่อง 10 ทีวีรัฐสภาจากกล่องเคเบิลทีวี

Tagged