คลอด 17 ช่องทีวีดิจิทัลใหม่ เพื่อการศึกษา หนุนเรียนที่บ้าน รับมือโควิด-19 บอร์ดกสทช.อนุมัติให้ทดลองออนแอร์ 6 เดือน เริ่ม 16 พ.ค.นี้ เฉพาะช่องทางเครือข่ายทีวีดิจิทัลเท่านั้น
เมื่อวันที่ 30 เม.ย.63 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานบอร์ดกสทช.เปิดเผยว่า บอร์ดกสทช.ได้มีมติอนุมัติ 17 ช่องทีวีดิจิทัลใหม่ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ขอทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัล เพื่อการศึกษาสำหรับรองรับนักเรียน นักศึกษาในช่วงที่ปิดเทอม อยู่บ้าน เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนผ่านทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ ในช่วงที่ประเทศยังต้องมีมาตรการหยุดเชื้อ ลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะเริ่มออนแอร์ทั้ง 17 ช่อง ในระบบ SD ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.นี้เป็นต้นไป เป็นเวลา 6 เดือน
รายละเอียดทั้ง 17 ช่อง ประกอบไปด้วย
-
-
-
ช่องอนุบาล 1-3 จำนวน 3 ช่อง
-
ช่อง ป.1-ป.6 จำนวน 6 ช่อง
-
ช่อง ม.1-ม.3 จำนวน 3 ช่อง
-
ช่อง ม.4-ม.6 จำนวน 3 ช่อง
-
ช่องการศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 1 ช่อง
-
ช่องอาชีวะ จำนวน 1 ช่อง
-
-
รวมทั้งหมด 17 ช่อง
ในขั้นตอนต่อไป กสทช.จะมีการจัดสรรหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลให้กับแต่ละช่องทีวีการศึกษาอีกครั้ง โดยเบื้องต้นนี้เป็นการทดลองออกอากาศ 6 เดือน ซึ่งสามารถต่ออายุได้ โดยที่กสทช.ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการใบอนุญาตทั้งหมดด้วย
ส่วนหมายเลขช่องที่ออกอากาศของทั้ง 17 ช่องใหม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยบอร์ดกสทช.มีมติไว้ว่า จะต้องเป็นหมายเลขที่ติดกันทั้งหมด
สำหรับเนื้อหารายการที่จะนำมาออนแอร์นั้น ในกลุ่มช่องอนุบาล ถึงระดับมัธยมต้น จะเป็นการนำรายการจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ที่ปกติออกอากาศอยู่แล้ว สำหรับช่องการศึกษาของมัธยมปลาย เป็นรายการผ่านช่องทีวีดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสม ของสถานศึกษา
ส่วนช่องกศน.นำคอนเทนต์มาจากช่อง ETV ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ปัจจุบันมีการออกอากาศในช่องทางออนไลน์ www.ETVThai.tv และ www.ceted.org และแอปพลิเคชั่นออนไลน์ และช่องอาชีวะ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นการนำคอนเทนต์ส่วนหนึ่งมาจาก DLTV ช่อง 13 ที่ปัจจุบันออนแอร์สัปดาห์ละ 3 วัน
อย่างไรก็ตาม การออกอากาศของช่องการศึกษาเป็นการส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายทีวีดิจิทัลเท่านั้น ไม่รวมการรับชมผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี
ทั้งหมดนี้ สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (เคอร์ฟิว)ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ถึง 30 เม.ย.2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เป็นโรคระบาดใหญ่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่และยังไม่มีวัคซีนป้องกันและรักษาได้ผล รัฐบาลจึงต้องควบคุมสถานการณ์และบังคับใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนในการควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้างโดยขอให้ประชาชนอยู่บ้าน ไม่รวมกลุ่มกับผู้คนจำนวนมาก และป้องกันโรคเพื่อตนเองและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศเมื่อวันที่ 17มี.ค. 2563 ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษนี้ ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มี.ค.2563 เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนดแนวทางแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน และต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พ.ค. 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 มีมติรับทราบการเตรียมความพร้อม ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 ก.ค.2563 เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมขอทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาแล้ว
อย่างไรก็ตามล่าสุดรัฐบาลได้ขยายเคอร์ฟิวที่สิ้นสุดรอบแรก 30 เม.ย.2563 ออกไปถึง 31 พ.ค.2563 แล้ว