โควต้าใหม่รับภารกิจร้อน บอร์ด กสทช. ด้านสิทธิและเสรีภาพ(ตอนที่ 2)

กสทช. กสทช. บทความพิเศษ

ตอนที่ 2 ของคุณสมบัติของบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ สายงานใหม่ด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในบอร์ดกสทช.ชุดเก่า ตอนนี้มาฟังความเห็นจาก อดีต บอร์ด กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ “.สุภิญญา กลางณรงค์” ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย (COFACT Thailand)

“สุภิญญา” ให้ความเห็นว่า การเพิ่มโควตาของกรรมการด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แยกออกมาต่างหากเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีโควตาของสื่อและภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้น

​“ครั้งนี้จะแยกออกมาเลยว่า คนหนึ่งจะเป็นภาคประชาสังคมคุ้มครองผู้บริโภค อีกคนก็จะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ไม่ใช่จะมาคุมเข้มแบบเดิมที่ใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเดียว ซึ่งดูจากที่ระบุไว้ในกฎหมายก็คาดว่า น่าจะอยากได้คนที่มีความเข้าใจเรื่องนี้ พูดง่ายๆ ก็น่าจะเป็นกรรมการที่เป็นนักวิชาการสื่อหรือคนในวงการสื่อมวลชน แต่ในรายชื่อผู้สมัครด้านนี้ก็มีน้อย และสุดท้ายก็ไม่รู้ว่า ในขั้นตอนเลือกขั้นสุดท้ายจะมีการเขย่ารวมอย่างไร แล้วเกณฑ์คุณสมบัติลึกๆ อย่างไรที่จะชี้วัดคุณสมบัติในด้านนี้ “

“ถ้าพูดตรงๆ ก็มีความคาดหวังน้อยมาก เพราะบรรยากาศช่วงนี้ไม่เอื้อในการเสริมส่งให้กรรมการทำหน้าที่ได้อย่างอิสระได้จริงๆ รายชื่อผู้สมัครที่เป็นทหารก็เยอะเหมือนเดิม กับข้าราชการ การเลือกก็เลือกโดยส.ว. ซึ่งถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า เป็นอิสระจริงแค่ไหนในการเลือก เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารได้หรือเปล่า ถ้าเทียบกับยุคที่เลือกตนเองมาก็เป็นยุคที่มี ส.ว. มาจากการแต่งตั้งกับเลือกตั้งอย่างละครึ่งๆ และบรรยากาศเปิดกว้างในการถ่วงดุลกันมากกว่า ก็ยังมีหน้าตาเป็นทหารมากกว่าอย่างที่เห็น ที่สำคัญคือกระบวนการสรรหาล้มมาแล้วหลายรอบ ก็ไม่รู้ว่า รอบนี้จะรอดปลอดภัยหรือไม่”

​ส่วนงานที่กรรมการด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพจะต้องเร่งทำ มีทั้งเรื่องกิจการวิทยุที่ตามกฎหมายได้กำหนดสัดส่วนการใช้งานคลื่นความถี่ของภาคประชาชนไว้ การทบทวนแผนแม่บทคลื่นความถี่ที่ขยายเวลาใช้แผนเดิมมา 5 ปีแล้วและกระทบกับการเรียกคืนคลื่นความถี่

“เรื่องวิทยุควรจะต้องทำเสียที เพราะเป็นตราบาปของ กสทช. นี่ก็ยังรู้สึกผิดอยู่ที่เหมือนยังไม่ได้ทำอะไรเลย ฉะนั้นนี่น่าจะเป็นงานแรกที่จะต้องพิจารณาว่าจะเอาอย่างไรต่อสำหรับเรื่องวิทยุ ต้องทำให้ชัดเจนทั้งคลื่นความถี่หลัก ที่ต้องเรียกคืน คลื่นสำหรับวิทยุชุมชนที่ผู้ประกอบการอยากได้ใบอนุญาตประกอบกิจการแบบ 7 ปี ก็ยังไม่ได้ให้เขา ได้แต่แบบชั่วคราวปีต่อปี จนจะ 10 ปีแล้ว และศาลปกครองก็มีคำพิพากษามาแล้วว่า ถ้าเป็นวิทยุประเภทธุรกิจจะต้องมีการประมูลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเผือกร้อนของ กสทช. ที่บอร์ดชุดใหม่มาน่าจะเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นโจทย์ที่ยาก ทั้งวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจ แล้วยังมีเรื่องวิทยุดิจิทัลที่เคยมีการวางนโยบายไว้”

​ที่สำคัญคือ เรื่องการกำกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ที่ไม่ได้เห็นผลงานของ กสทช. เลย หากไม่ใช่เรื่องประเด็นการเมือง

“อย่างปัญหาการละเมิดสิทธิประชาชนของสื่อมวลชนที่เห็นกันในหลายๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลุงพล ผู้กำกับโจ้ และอีกหลายๆ เรื่อง ก็เหมือน กสทช. ไม่มีตัวตน ไม่หือไม่อือ ไม่ได้บอกว่า ทุกเรื่องจะต้องลงโทษทางปกครอง แต่ต้องกระตุ้นให้ตระหนักในเรื่องนี้ ฉะนั้นต้องแอคทีฟมากขึ้นในด้านนี้ โดยเฉพาะสิทธิและการคุ้มครองเด็ก ต้องแก้ภาพลักษณ์ของ กสทช. ที่คนจะมองว่ามุ่งแต่กำกับแต่เนื้อหาและช่องทางที่ตรงข้ามรัฐบาล”

ขณะที่อุปสรรคการทำงานที่กรรมการด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ น่าจะต้องเจอ “สุภิญญา” ระบุว่า

​“สุดท้ายจริงๆ คือ เรื่องการตัดสินใจที่เป็นอิสระจากการเมืองได้ไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพสื่ออย่างแน่นอน ยิ่งในช่วงหลัง กสทช. ทำตามที่ฝั่งรัฐร้องขอมาหมด ซึ่งท่าทีของ กสทช. ไม่ควรเป็นแบบนั้น คือ กสทช. พร้อมรับลูกคำสั่งของภาครัฐ และเมื่อสุดท้ายจะต้องตัดสินกันด้วยการโหวตเสียงข้างมาก ฝั่งคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพก็เป็นฝั่งเสียงข้างน้อยตลอด นี่คือความยากในการทำงานว่าจะเลือกใช้วิธีการแบบบู้หรือแบบบุ๋น มีศิลปะในการทำงาน เจรจานอกรอบเพื่อประนีประนอม เพราะสุดท้ายตัดสินด้วยเสียงโหวต ฉะนั้นการที่ได้โควตากรรมการเพิ่มเข้าไปก็น่าจะดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้คนที่ตรงเจตนารมณ์ไหม เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพสื่อหรือเปล่า แล้วเมื่อเข้าไปแล้วกล้าจะยืนยันในการทำงานตามเจตนารมณ์นั้นไหม โดยเฉพาะต้องกล้าในที่ประชุมด้วย จุดยืนต้องเข้มแข็งชัดเจน”

รายละเอียด 13 รายชื่อผู้สมัครเป็นบอร์ด กสทช.สายส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

 

Tagged