กสทช. ประวิทย์แจงปมเยียวยาคลื่น 2600  อสมท ไร้สิทธิ์รับเยียวยา

กสทช. เกาะติดจอ

28 พฤษภาคม – จากกรณีเลขาธิการ กสทช. แถลงข่าวผลประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ว่ายังไม่มีข้อยุติเรื่องเยียวยาคลื่น 2600 MHz แก่ อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค เนื่องจากมี กสทช. คนหนึ่ง walk out จากที่ประชุม และ กสทช. ประวิทย์ ไม่ลงมติ ส่วนกรรมการที่เหลือเสียงแตกเป็นข้างละ 2 คน

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เปิดเผยถึงความจริงที่เกิดขึ้นในห้องประชุมว่า ตามระเบียบวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอต่อที่ประชุม กสทช. นั้น มีการตั้งประเด็นให้พิจารณาเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือการเลือกแนวทางกำหนดอายุการถือครองคลื่นความถี่ของ อสมท ซึ่งมีเสนอเป็น 3 แนวทางของระยะเวลาที่แตกต่างกัน ระหว่าง 3 ปี, 6 ปี 5 เดือน และ 8 ปี 6 เดือน โดยประเด็นระยะเวลานี้ส่งผลต่อจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายเยียวยาเป็นจำนวน 1,010 ล้านบาทเศษ 3,235 ล้านบาทเศษ และ 4,275 ล้านบาทเศษ ตามลำดับ ส่วนประเด็นที่สองเป็นการพิจารณากำหนดสัดส่วนของจำนวนเงินเยียวยาว่าจะจ่ายแก่ อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค ฝ่ายละเท่าใด

“การตั้งประเด็นเช่นนี้อยู่บนฐานที่ว่าจะต้องมีการเยียวยาให้แก่กรณีนี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ให้บอร์ดเลือกจำนวนเงินและแบ่งก้อนเงิน ซึ่งตลอดเส้นทางหลายปีที่มีการพิจารณาเรื่องสิทธิการถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ของ อสมท ผมตั้งประเด็นมาโดยตลอดว่ายังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ว่า อสมท เป็นผู้ได้รับอนุญาตและมีสิทธิในคลื่นย่านดังกล่าวตามกฎหมายหรือไม่ และไม่ชัดด้วยว่าสัญญาที่ อสมท ทำกับบริษัท เพลย์เวิร์ค ให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS เพื่อให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังเคยมีการชี้แล้วว่ากรณีนี้ไม่มีเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่น และเคยมีการตรวจสอบไม่พบการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวอีกด้วย ส่วนเรื่องที่มักอ้างกันว่า กสทช. เคยอนุมัติเลขหมายรหัสโครงข่าย หรือ MNC ให้แก่การประกอบกิจการของ อสมท กับบริษัท เพลย์เวิร์ค ผมก็เคยลงมติแย้งไว้แล้วว่าเป็นการทำผิดประกาศของ กสทช. เอง ดังนั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วาระ ผมจึงแจ้งความเห็นชัดเจนว่า ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาก่อนว่า อสมท มีสิทธิ์รับการเยียวยาหรือไม่ แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่เลือกจะโหวตตามประเด็นที่สำนักงานตั้งไว้ ผมจึงขอไม่ร่วมโหวตในประเด็นเหล่านั้น และแจ้งขอสงวนความเห็น”

นายประวิทย์ยืนยันว่า การสงวนความเห็นไม่ใช่การไม่ออกความเห็นหรืองดออกเสียง แต่คือการขอสงวนสิทธิที่จะมีความเห็นแตกต่างหรือสวนทางกับที่ประชุม ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ที่แข็งขันและยากลำบากมากกว่าการเห็นคล้อยตามไปกับสิ่งที่สำนักงาน กสทช. ชงให้ หรือตามเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม นอกจากนี้ ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายถือว่าเป็นคุณภาพและคุณค่าสำคัญสำหรับการทำงานในลักษณะองค์คณะแบบ กสทช. เพราะจะเป็นที่มาของการใช้ดุลพินิจด้วยความรอบคอบ รอบด้าน มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง

นายประวิทย์เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมา ในที่ประชุม กสทช. มีการพยายามอธิบายว่า การให้เงินชดเชย อสมท ไม่น่าจะต้องเข้มงวดตรวจสอบกันมากมาย เพราะเป็นการชดเชยให้หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง รัฐไม่เสียหาย แต่ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ผู้บริหารระดับสูงของ อสมท ที่เข้าชี้แจง กลับเสนอให้ กสทช. กำหนดแบ่งเงินให้เอกชนครึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องให้บอร์ดของ อสมท พิจารณาเอง ซึ่งตรงกับประเด็นที่สองที่สำนักงาน กสทช. เสนอโหวต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. เอง เคยให้ความเห็นไว้แล้วว่า กสทช. ไม่จำเป็นที่ต้องกำหนดเรื่องสัดส่วนการเยียวยาแต่อย่างใด นอกจากนั้น ในการพิจารณาคราวเดียวกัน คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ยังมีมติในเรื่องระยะเวลาการถือครองคลื่นของ อสมท ว่า มีสิทธิสูงสุดไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 ใช้บังคับ

“ถ้า อสมท ถือครองคลื่นความถี่ถูกต้องตามกฎหมาย และพิสูจน์ได้ว่าการมีใช้ประโยชน์ในคลื่นย่าน 2600 MHz จริง ผมก็ยอมรับได้ที่จะเยียวยา อสมท ในฐานะที่เป็นผู้ครองคลื่นและได้รับความเสียหาย แต่การที่จะให้ไปถึงเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่เป็นเรื่องที่คู่สัญญาต้องไปตกลงกันเอง การเยียวยาที่คิดเผื่อไปถึงคู่สัญญาของ อสมท นั้น นอกจากส่งผลต่อจำนวนเม็ดเงินที่ควรจะได้นำเข้ารัฐสำหรับทำประโยชน์แก่สังคม ยังเป็นเรื่องการทำหน้าที่เกินขอบเขตกฎหมายของบางฝ่าย และทำหน้าที่พร่องของบางฝ่ายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มงวดจริงจังต่อไป” นายประวิทย์กล่าว พร้อมทั้งยืนยันอีกครั้งว่า ผลลัพธ์การใช้ดุลพินิจของ กสทช. ในเรื่องนี้กระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะโดยตรง ตนในฐานะกรรมการคนหนึ่งจะไม่ยอมตกอยู่ภายใต้สภาพบังคับใดๆ หรือการชี้นำของใคร

อนึ่ง เรื่องการเยียวยาให้กับผู้ถือครองคลื่นความถี่ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz นี้ สำนักงาน กสทช. ได้เคยมีการจ้างสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย 3 แห่ง ศึกษาและประเมินมูลค่าเอาไว้ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานที่เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ฯ พ.ศ. 2561 ปรากฏว่า โดยรวมแล้ว ผลการศึกษาเสนอการเยียวยาในจำนวนที่น้อยกว่าที่ อสมท เรียกร้อง แต่เมื่อผ่านชั้นการกลั่นกรองของอนุกรรมการที่ กสทช. ตั้ง ซึ่งเป็นชุดที่มีประธานเป็นนายจิตรนรา นวรัตน์ ในฐานะผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กลับมีการเสนอไม่ให้ใช้ผลการศึกษาของทั้งสามสถาบัน และเสนอกรอบวิธีคิดที่ทำให้วงเงินเยียวยาสูงขึ้นถึงระดับหมื่นล้านบาท เมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กสทช. ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2562 จึงทำให้ไม่อาจหาข้อยุติได้ จนยืดเยื้อข้ามปีมา กระทั่งต่อมาจึงเกิดการเรียกสถาบันการศึกษามาปรับเพิ่มเติมผลการศึกษา แล้วในการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งนายประวิทย์ไม่ได้เข้าร่วม ก็ได้พิจารณาวางกรอบการเยียวยา อสมท ไว้ในวงเงินกว่า 6,600 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่สถาบันวิจัยทั้งสามแห่งได้ประเมินไว้มากกว่าเท่าตัว แต่เมื่อเรื่องกลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ครั้งต่อมา ที่ประชุมก็ไม่อาจหาข้อยุติได้ทั้งในเรื่องจำนวนเงินและสัดส่วนที่ว่าจะจ่ายแก่ อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค ฝ่ายละเท่าไร จึงมีการส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. พิจารณาในสองประเด็นดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ เป็นประธาน และมีกรรมการระดับปรมาจารย์นักกฎหมายอย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายวีรพล ปานะบุตร นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ร่วมเป็นองค์คณะ ความจริงแล้ว มติของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายชุดนี้ วางแนวทางคำตอบที่ชัดเจนไว้แล้ว เพียงแต่แนวดังกล่าวเมื่อตีเป็นจำนวนเงิน ยังเป็นระดับต่ำกว่าที่กรรมการ กสทช. ส่วนใหญ่ลงมติเลือกไว้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

Tagged