กสทช.คาด ต.ค.นี้ ได้ข้อสรุปเลือกผู้ทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล

กสทช. เกาะติดจอ

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 สำนักงานกสทช. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเรตติ้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ บริษัท PSI (ประเทศไทย)  , นีลเส็น และสมาคมวิจัยและพัฒนาสื่อ หรือ MRDA มานำเสนอรูปแบบการวัดเรตติ้ง ต่อสมาคมทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และเอเจนซี่โฆษณา รวมถึงเจ้าของสินค้ารายใหญ่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มาจัดทำระบบเรตติ้งทีวีดิจิทัลตามคำสั่งคสช.ที่ 4/2562 ที่ระบุให้กสทช.ให้เงินสนับสนุนในการจัดทำเรตติ้งจำนวนหนึ่งด้วย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ภายในเดือนต.ค.นี้ สำนักงานกสทช.จะเริ่มจัดสรรเงินในการสนับสนุนการทำเรตติ้ง ให้กับสมาคมทีวีดิจิทัล ในฐานะที่เป็นองค์กรกลางในการคัดเลือก ผู้จัดทำเรตติ้ง โดยสมาคมทีวีดิจิทัล จะต้องเสนอเหตุผลและแนวทางการใช้เงินมาให้กสทช.พิจารณาด้วย ซึ่งกสทช.จะพิจารณาเงินสนับสนุนให้ตามที่สมาคมทีวีดิจิทัลเสนอมา

ในเบื้องต้นกสทช.ได้ระบุวงเงินที่ให้การสนับสนุนไว้ที่ 431 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินนี้ ซึ่งต้องรอผลการพิจารณาคัดเลือกของสมาคมทีวีดิจิทัลเสียก่อน

ฐากรกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการวัดเรตติ้งของประเทศไทย มีนีลเส็นเพียงรายเดียวเท่านั้น หากว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องการมีการวัดเรตติ้งแบบหลากหลายมีทางเลือกมากกว่านี้ สมาคมทีวีดิจิทัลก็ต้องคัดเลือกมาให้กสทช. อย่างไรก็ตามควรจะต้องเป็นการจัดทำระบบเรตติ้ง ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เจ้าของสินค้า ที่จะซื้อโฆษณามีความมั่นใจ เนื่องจากการซื้อโฆษณาส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากบริษัทต่างชาติ หากผู้จัดทำเรตติ้งมีข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสื่อโฆษณาของผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ด้วย

ทั้งนี้ในการนำเสนอข้อมูลการวัดเรตติ้งของ PSI ที่นำเสนอนั้น เป็นการนำเสนอรูปแบบการวัดแบบ Real Time เพื่อดูจำนวนผู้ชมแต่ละรายการเท่านั้น ยังไม่ได้มีระบบการทำสถิติในการมาคำนวณเรตติ้ง

ส่วนของนีลเส็นนั้น ได้เสนอรูปแบบระบบการวัดเรตติ้งแบบใหม่ที่รวมทั้งการวัดบนแพลตฟอร์มทีวีและดิจิทัล แบบมัลติสกรีน โดยพยายามเสนอเรื่องความน่าเชื่อถือและระบบตรวจสอบตามมาตรฐานโลก นอกจากนี้นีลเส็นยังได้ระบุว่า หากได้เงินสนับสนุนจากกสทช. ทางนีลเส็นจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายในส่วนของดิจิทัลเรตติ้งกับทุกช่องเป็นเวลา 5 ปี

ในขณะที่ MRDA นั้น ได้เสนอรูปแบบการจัดทำเรตติ้งใหม่ เนื่องจากยังไม่เคยทำมาก่อน โดยจะใช้กลุ่มตัวอย่าง 3 หมื่นตัวอย่าง และเลือกวางระบบวัดเรตติ้งจำนวน 3,000 ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการจัดเก็บสร้างฐานข้อมูล หากได้รับเงินสนับสนุนจากกสทช. ระบบเรตติ้งใหม่จะเริ่มใช้งานได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564  พร้อมกันนี้ได้ได้ยื่นข้อเสนอ เหมือนนีลเส็น ที่ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ใช้ข้อมูลดิจิทัลเรตติ้งฟรี 5 ปี แต่เพิ่มเติมคือให้ กสทช. และทีวีของรัฐได้ใช้เรตติ้งฟรีด้วย

Tagged