กสทช.รับมือม็อบตามคำสั่งรัฐ เตรียมเรียกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 19 ช่อง มาประชุมด่วน กำหนดแนวทางเนื้อหาออกอากาศช่วงใช้พรก.ฉุกเฉินร้ายแรง พุธที่ 21 ต.ค.นี้
หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลโดยกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ได้สั่งการให้กสทช. และกระทรวงดีอี ทำการตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการของ 5 สื่อ ที่มีรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ที่ระบุว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร” อีกทั้งยังมีหนังสือจากกระทรวงดีอีให้ สำนักงานกสทช.ระงับการใช้แอปพลิเคชัน Telegram หลังกลุ่มผู้ชุมนุมย้ายฐานกระจายข่าวสารใหม่เป็นแอปฯ ดังกล่าว
ล่าสุด มีรายงานข่าวจากสำนักงานกสทช. ว่า กอร.ฉ.ได้ขอให้ กสทช.ดำเนินการเรียกประชุมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีออกอากาศทั้งหมด 19 ช่อง (รวมช่องทีวีรัฐสภา) มาประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหารายการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
ทั้งนี้จะจัดการประชุมในวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563 เวลา 9.30 – 12.00 น. ณ อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงาน กสทช. พหลโยธิน ซอย 8 โดยมีพลโท พีระพงษ์ มานะกิจ บอร์ดกสทช.เป็นประธานการประชุม
สำหรับช่องทีวีดิจิทัล ที่มีใบอนุญาตออกอากาศในปัจจุบัน ได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง Mono ช่อง One ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี ช่องอมรินทร์ทีวี ช่องไทยรัฐทีวี ช่อง 8 ช่องเนชั่นทีวี ช่อง 9 อสมท ช่อง PPTV ช่อง GMM25 ช่องไทยพีบีเอส ช่อง True4U ช่อง TNN ช่อง NEW TV ช่อง NBT ช่อง 5 และช่องทีวีรัฐสภา
ในขณะเดียวกัน กสทช.ได้มีข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงเรื่องการประสานงานของกระทรวงดิจิทัลฯว่า สำนักงาน กสทช. เพิ่งได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัล แจงหลักปฏิบัติการดำเนินการเกี่ยวกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่ผิด กม. ถ้า กระทรวงดิจิทัล ส่งหลักฐานการกระทำมาให้ กสทช. จะดำเนินการตามกฏหมาย
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (19 ต.ค. 2563) สำนักงาน กสทช. เพิ่งได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอีเอส) เรื่อง ขอให้ดำเนินการระงับการกระทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า หลักปฏิบัติโดยทั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวเนื้อหาที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2563 กระทรวงดิจิทัล เป็นผู้มีอำนาจในการชี้ว่าเนื้อหาใดที่ปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ตผิดตาม พ.ร.บ. และจะประสานงานไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และผู้ให้บริการโครงข่าย (IIG) ในประเทศไทยให้ดำเนินการตามกฎหมาย และจะส่งเรื่องมาให้สำนักงาน กสทช. ช่วยกำชับไปยัง ISP และ IIG ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว
สำหรับในกรณีนี้ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผิดร้ายแรง ได้มีคำสั่งที่ 11/2563 เรื่อง ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน ม. 9 ประกอบ ม. 11 ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้สำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการเพื่อระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงฯ จึงได้ขอความร่วมมือให้สำนักงาน กสทช. จะประสานไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายดำเนินการตามคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผิดร้ายแรง ต่อไป