เจอผิด โอ้อวด ไม่ผ่าน อย. ทุกสถานีต้องรับผิดชอบ โทษปรับสูงสุด 5 ล้าน คาดกระทบรายได้ช่องเล็ก
หลังจากที่มีข่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับตำรวจ ลุยปราบปรามผลิตภัณฑ์อาหารเสริมผิดกฎหมาย ในเครือบริษัท เมจิก สกิน เข้าข่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้หน่วยงานรัฐต้องเข้มงวดในการโฆษณาสินค้าทั้งเครื่องสำอางและอาหารเสริมที่แพร่หลายมากขึ้นทางทีวี
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) อย. จึงเรียกประชุมผู้ประกอบทีวี เพื่อหาแนวทางระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยมีข้อสรุปว่า
กสทช. และ อย. จะทำงานร่วมกันโดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก อย. มาประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ที่ผิดกฎหมาย ที่สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์
หากพบว่ามีโฆษณาใดที่ผิดกฎหมาย อย. จะทำหนังสือแจ้งมาเพื่อให้เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งระงับโฆษณานั้นเป็นการชั่วคราว แล้วส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และ กสทช. จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ
หากยังมีการฝ่าฝืน แต่ละสถานีทีวี จะมีโทษปรับตามประกาศกสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5(2) ที่ระบุว่าการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท
ทั้งหมดนี้เป็นการปรับลดขั้นตอนการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้นภายใน 1-2 วัน จากเดิมต้องใช้เวลาประมาณ 45-60 วันจึงจะยุติการออกอากาศโฆษณาสินค้าเหล่านั้นได้
การเข้มงวดครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของภาครัฐ ที่จะตรวจสอบโฆษณาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อไม่ให้มีโฆษณาเผยแพร่ผ่านสื่อออกมาหลอกลวงผู้บริโภค ความร่วมมือระหว่าง อย. และ กสทช. ในการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นผลดีที่ทำให้สามารถกลั่นกรองโฆษณาได้ตั้งแต่ต้น ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการรับข่าวสารโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางวิทยุและโทรทัศน์
ผู้ประกอบการทีวี ส่อกระทบรายได้หด
ผลจากการเข้มงวดของภาครัฐในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณา ซึ่งปัจจุบันการขายสินค้า ขายตรงเป็นหนึ่งในรายได้หลักของสถานีทีวีช่องต่างๆ โดยเฉพาะช่องขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีรายการขายสินค้า หลากหลายประเภท แทรกอยู่ในทุกช่วงของเวลาออกอากาศ เนื่องจากเป็นช่องที่มีเรตติ้งไม่สูงมาก ทำให้แบรนด์สินค้าขนาดใหญ่ไม่ค่อยมาลงโฆษณาอยู่แล้ว หันไปทุ่มงบลงช่องที่มีเรตติ้งสูงกว่า บรรดาช่องขนาดเล็กจึงอยู่ได้ด้วยการโฆษณาสินค้าขายตรง การรีวิวสินค้า
[xyz-ihs snippet=”AD1-TV-NEWS”]