ส่องโฆษณาช่อง 11 หรือ NBT ท่ามกลางกระแสค้าน

เกาะติดจอ

จากการสำรวจโฆษณาที่ออนแอร์ 8 เดือนแรกของปีนี้ ในช่องเอ็นบีที หรือช่อง 11 ประมาณการได้ว่ามีมูลค่ากว่า 683 ล้านบาท มากกว่าช่องทีวีดิจิทัลของเอกชนกว่า 10 ช่อง

จากภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวี 8 เดือนแรก ของปี 2561  (มกราคม-สิงหาคม) ที่นีลเส็นสำรวจ และประมาณการ 24 ช่อง (ยกเว้นไทยพีบีเอส เพราะไม่มีรายได้จากโฆษณา)  นั้น มีมูลค่ารวม  44,946 ล้านบาท

กลุ่มทีวีอนาล็อกเดิมที่ออกอากาศในระบบดิจิทัล 5 ช่อง ที่มีรายได้จา

กโฆษณา คือ ช่อง 3 5 7 9 ช่อง 11 รวมกันได้ประมาณ 25,652 ล้านบาท ส่วนช่องทีวีดิจิทัล 19 ช่อง รวมกันประมาณ 19,294 ล้านบาท

ในส่วนของช่อง  11 นั้น ประมาณการรายได้โฆษณาจากที่ได้จากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ แต่ละเดือนประมาณ 70-90 ล้านบาท รวม 8 เดือนประมาณ 683 ล้านบาท โดยเดือนที่มีรายได้เกิน 90 ล้านบาท นั้นคือมกราคม มีนาคม และเมษายน ส่วนเดือนที่น้อยที่สุดคือกรกฎาคมประมาณ 70 ล้านบาท  สำหรับเดือนสิงหาคมล่าสุดมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท

ประมาณการรายได้ของช่อง 11 นั้น สูงกว่าทีวีดิจิทัลกว่า 10 ช่อง รวมถึงกลุ่มช่องข่าว  ที่บางช่องรายได้ยังไม่ถึง 100 ล้านบาท และยังสูงกว่าช่องเอชดีบางช่องที่ประมาณการแล้วรายได้ยังไม่ถึง 400 ล้านบาท

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็น ต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์ ที่รองรับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 9/2561 วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่เปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ โดยไม่เป็นการมุ่งแสวงหากำไรทางธุรกิจ

สาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือให้ช่อง 11 สามารถหารายได้จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ไม่เกิน 8 นาทีต่อชั่วโมง  แต่รวมเวลาโฆษณาเฉลี่ยตลอดวันแล้วต้องไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง และสามารถหารายได้จากการแบ่งเวลาให้บุคคลอื่นดำเนินการ และรายได้จากการขอรับบริจาค สนับสนุน หรืออุดหนุนก็ได้ แต่เมื่อรวมรายได้แล้ว จะต้องเป็นไปเท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการโดยไม่เน้นการแสวงหากำไร

ต่อมาสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน ร่างประกาศดังกล่าวของกสทช.

Tagged