หลังจากเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2564 วุฒิสภา ได้โหวตเลือกบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ จำนวน 5 คน จาก 7 รายชื่อแล้วนั้น
ขั้นตอนต่อไป สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะจัดให้ว่าที่ บอร์ด กสทช.ทั้ง 5 คนประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกคนหนึ่งคนใดเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งต่อประธานวุฒิสภารับทราบ เพื่อแจ้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อ 5 บอร์ดใหม่ทูลเกล้าเพื่อรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง จึงจะเริ่มต้นทำงานได้อย่างเป็นทางการ
ในขณะที่คณะกรรมการสรรหาชุดเดิม จะเร่ิมกระบวนการคัดสรรบอร์ด กสทช.ในสายกิจการโทรคมนาคมและกฏหมายใหม่อีกครั้ง
สำหรับว่าที่ 5 บอร์ด กสทช.ชุดใหม่นั้น จะมาแทนที่บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2554 จากจำนวน 11 คนเหลืออยู่ในปัจจุบัน 6 คน
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าบอร์ดชุดใหม่คงจะสามารถเริ่มต้นทำงานได้ในต้นปี 2565 เดือนม.ค.หรือ ก.พ.ได้ทันที
การเปลี่ยนแปลงบอร์ด กสทช. ในแต่ละครั้ง มีผลต่อการกำหนดนโยบาย ทิศทางของอุตสาหกรรม รูปแบบการกำกับดูแล ที่มีผลต่อทั้งผู้ประกอบการ และประชาชน พร้อมกับความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องในวงการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงของไทยว่า จะได้เห็นองค์กรกำกับดูแลชุดใหม่ กับแนวนโยบายทำงานการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็น Regulator ที่ทันสมัย รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้รอบด้าน พร้อมรับฟังและแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมให้กับทุกฝ่ายด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง
สำหรับวิสัยทัศน์ของว่าที่บอร์ดกสทช.ทั้ง 5 คนนั้นได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ตามสาขาที่สมัคร ไว้กับคณะกรรมการสรรหา ดังนี้
ศ.คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)
ภาระใหญ่ 4 เรื่อง
1.การกำกับดูแลใช้คลื่นเพื่อควบคุมโรคระบาด กสทช.น่าจะมีบทบาทในการควบคุมโรคระบาดตั้งแต่เริ่มมีการระบาด การแจกซิมหรือบังคับให้ให้ผู้บริการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ส่วนเรื่องการดูแลผู้ป่วยที่ล้นหลาม การใช้คลื่น 5G ในอนาคตน่าจะตรวจสอบสัญญาณชีพและส่งสัญญาณไปยัง Telemedicine ได้ และกสทช.น่าจะรู้ว่าการกระจุกของสัญญาณโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ไหน น่าจะ Provide ได้ว่า ตรงไหนเป็นแหล่งมั่วสุม ตรงไหนเป็นแหล่งที่ชุกชุมของผู้คน ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น กสทช.น่าจะทำเป็น Format ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งจะเป็นบทบาทของกสทช.ในการควบคุมโรคระบาด
2.ในสังคมดิจิทัล คลื่นเป็นตัวจักรสำคัญทำให้เราออกพรบ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกว่า Digitize กระบวนการยุติธรรม ความมั่นคง จราจร จนกระทั่งเงินตรา Currency ที่ตอนนี้แบงค์ชาติกำลังทำอยู่ คลื่นจะเข้ามาช่วยพัฒนาการแพทย์และสาธารณะสุขได้ อยากเห็น Smart Hospital ที่จะทำให้การรักษาพยาบาลเร็วขึ้น ทั้ง Transfer คนไข้ และ Telesugery
3.วิสัยทัศน์ เราต้องมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ตอนนี้เราใช้ LINE เป็นโทรศัพท์ ใช้ YouTube เป็น TV เรา depend on ผู้ให้บริการมาก เราต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้มี application ในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ถ้าคิดดูดีๆ เมื่อเราใช้คลื่นและ internet เยอะ เราก็จะมี look into social media entertainment banking ซึ่งเราไม่อยากเห็นการนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่ monopoly ตัวอย่างเช่น AIS จะจับมือกับ Disney โดย AIS เป็น Internet Provider เป็นสัญญาณ ส่วน Disney เป็น content provider เราไม่น่าให้ทั้งสองคนจับมือกัน น่าจะให้แยกแยะ คนสร้างถนนกับคนผลิตรถ ควรจะแยกออกจากกัน
4. Treat ของกสทช.เราควบคุมกำกับดูแลคลื่น แต่สิ่งที่กำลังจะตามมาคือ Low Orbit Satellite ที่จะนำมาซึ่งการสื่อสารในราคาถูก หรืออาจจะฟรีสำหรับทุกคน และใช้อุปกรณ์ที่ง่ายขึ้น เราไม่อาจสามารถควบคุมกำกับดูแลสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดล่วงหน้าเหมือนกันว่า กสทช.อีก 5 ปีข้างหน้า ยังสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่
รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์)
ผมอยากเห็น กสทช. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญและมีขีดความสามารถสูงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้มีการพัฒนาต่อเนื่องที่ค่อนข้างยั่งยืน มีความเป็นสากล และทำให้เศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้าในอนาคต เพราะ Digital Economy ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ จะทวีสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งภารกิจสำคัญในสายเศรษฐศาสตร์ ที่ผมอยากจะทำ ได้แก่
ประการแรก คือ การกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ภารกิจนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเป็นกิจการที่มีผู้เล่นหลายราย อันเป็นผลมาจากคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัด การเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลของ กสทช. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยความท้าทายที่สำคัญที่สุดเสมอมาของ กสทช. คือ การกำกับดูแล ไม่ให้ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาด เพื่อให้เกิดสภาวะการแข่งขันให้
มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ที่ควรต้องได้รับบริการในราคายุติธรรม และผู้ประกอบการจะต้องมีเงินพอจะลงทุนในเทคโนโลยีในอนาคต เพราะกิจการโทรคมนาคมคือโครงสร้างพื้นฐาน
(Infrastructure) และแพลตฟอร์ม (Platform) ที่สำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจต่อไป
ประการต่อมา คือ การกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งสำคัญมาก เนื่องจากการแข่งข้นในอุตสาหกรรมนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ในขณะนี้มีการเกิดขึ้นของ
บริการ Over the Top หรือ OTT เข้ามาเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหา (Broadcaster) โดยอาศัย Platform ของโทรคมนาคม ซึ่งจุดนี้ เรายังไม่ได้ทำอะไร แต่ผมเชื่อว่า สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ให้กับผู้ใช้สื่อ เปรียบเหมือนกับการฉีดวัคซีน ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสื่อมีภูมิคุ้มกัน และสามารถแยกแยะ ตลอดจนรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาได้ด้วยตนเอง
ประการที่สามคือ เรื่อง Digital Divide หรือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีปัญหาทั้งเรื่องของการกระจายรายได้ (Income Distribution) และ ความเหลือมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)
โดยในขณะนี้ มีโครงการหนึ่ง เรียกว่ากองทุน Universal Service Obligation (USO) ซึ่งผมคิดว่าจะต้องเอามา revitalize ให้กลับมาใช้งานได้และทำให้เกิดผลจริงให้ได้
ประการสุดท้ายคือเรื่องของความแตกต่างระหว่างรุ่น หรือ Generation Divide ซึ่งมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ค้นพบว่า มีช่องว่าง (Gap) ระหว่างคนอายุ 42 ปีขึ้นไปกับคนอายุ 42 ปีลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการเปิดรับสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างคน 2 กลุ่ม ที่ทำให้ประเทศเรามีปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างรุ่น ฉะนั้น กสทช. จึงน่าจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้
ส่วนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างประเทศ มี 2 เรื่อง ได้แก่ การมีส่วนร่วม (Engagement) กับ International Organization และ APEC ในเรื่องที่ได้มีข้อตกลง (Agreement) ร่วมกันไว้ เพราะในอนาคต จะต้องเตรียม
การผลักดันเรื่อง Digital Trade Agreement ซึ่งประเทศอื่นๆ เริ่มทำกันบ้างแล้ว
ภารกิจสุดท้าย เป็นเรื่องการปรับปรุงขีดสมรรถนะของกสทช. ในเรื่องวิชาการให้มากขึ้น โดยใช้โมเดลธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเท่าที่ผมได้มีส่วนร่วมและดูงานต่างๆ ที่สำคัญ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นยุทธศาสตร์ในการวางแผนนโบายต่างๆ ที่ผ่านมาของกสทช. พบว่า ส่วนใหญ่ กสทช.ไม่ได้ทำเอง แต่จ้างคนอื่นทำ ซึ่งบางเรื่องควรที่จะต้องทำเองให้ได้ เช่น เรื่องการประเมินผลลัพธ์ (Contribution) ทางเศรษฐกิจหรือการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในอนาคต เพราะอาจเกิดความล่าช้าเนื่องจากต้องรอการจัดจ้าง ผมจึงเสนอว่า ควรสร้าง กสทช.ให้เป็นองค์กรชั้นแนวหน้า (Elite)ในเรื่องเศรษฐศาสตร์โทรคมนาคมและบรอดแคสท์ โดยศึกษาแนวทางการสร้างองค์ความรู้ภายในองค์กรจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในด้านการสร้างสมรรถนะทางวิชาการ และ Strategic data ด้วย
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์)
วิสัยทัศน์บทบาทของกสทช.ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่มีความท้าทายเชิงเทคโนโลยีและสังคมสูง โดยขอเน้น 6 เรื่อง คือ การกำกับดูแลทีวีดิจิทัลและการส่งเสริมศักยภาพด้านเนื้อหาในยุคที่เรียกว่า Post-broadcasting ซึ่งเป็นยุคที่เนื้อหาประเภทโสตทัศน์เคลื่อนย้ายไปสู่ช่องทาง Online มากขึ้น และแม้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะได้รับการคลี่คลายด้วยประกาศ คสข. ทั้ง 4 ฉบับตามมาตรา 44 แต่ปัญหาที่ปรากฏอยู่ คือ ปัญหาด้านเนื้อหา ซึ่งล่าสุดเป็นกรณีที่รายการไทยรัฐนิวสโชว์เปิดคลิปให้คุณตาและคุณยายของผู้ต้องหาที่เสียชีวิตจากการคลุมถุงดำบนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ดูว่า หลานตายอย่างไร ทำให้ได้ภาพคุณตาและคุณยายร้องให้มาออกรายการ แสดงให้เห็นว่า สื่อหิว rating จนกระทั่งลืมเรื่องจริยธรรม
ดิฉันมองว่า คุณภาพเนื้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบเชิงสังคมและวัฒนธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การมุ่งหาทางรอดทางธุรกิจ โดยมิได้มองความยั่งยืนทางสังคม สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมนี้ขาดความเข้มแข็งทางจริยธรรม จึงต้องส่งเสริมเรื่องการกำกับดูแลตนเองหรือที่เรียกว่า Self-regulation ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่อง Disinformation และ Fake News แพร่หลายในพื้นที่ออนไลน์ย่างกว้างขวาง สื่อกระแสหลักที่มีความเป็นมืออาชีพสูง ยิ่งต้องเป็นเสาหลักในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ กสทช.มีเงื่อนไขของทีวีดิจิทัลว่า ต้องมีกระบวนการกำกับดูแลตนเองอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร อีกเรื่องหนึ่ง คือ กสทช. มีแนวโน้มที่จะรวบการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาเข้าไปอยู่ใน
ขอบเขตของมาตรา 37 ซึ่งเป็นเรื่องของเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศ ทำให้ Learning curve เกี่ยวกับเรื่องSelf-regulation ไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าที่ควร โดยในเรื่องนี้ ดิฉันเห็นว่า กสทช. ต้องแยกแยะเนื้อหาร้ายแรงที่ไม่สามารถออกอากาศได้กับเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ทางจริยธรรม และมีกระบวนการทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับใบอนุญาตมีกระบวนการกำกับดูแลตนเองอย่างชัดเจนและมีผลสัมฤทธิ์ในขณะเดียวกันควรจะรณรงค์ให้ประชาชนผู้เปิดรับสื่อตระหนักรู้และเข้าร่วมตรวจสอบสื่ออย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่วนการพัฒนาหรือส่งเสริมเนื้อหา ดิฉันมองว่า ในยุคที่เคลื่อนย้ายสู่ Post-broadcasting สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ในแง่ของการพัฒนากำลังคน โดย กสทช. มีกองทุน กทปส. และอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งสามารถจัดอบรมให้ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพมีระบบการผลิตที่เป็นสากลมากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Digital platform ว่า จะใช้ประโยชน์อย่างโร เช่น การนำ AI มาใช้ใน Audience management Media data เพื่อช่วยในการออกแบบสื่อ หรือการวัดระดับความนิยมเนื้อหา Multistreaming สามารถใช้ประโยชน์จาก Digital platform ได้อย่างซาญฉลาด ขณะเดียวกัน กสทช. มีแนวทางหรือนโยบายส่งเนื้อหาสู่โลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเนื้อหาท้องถิ่น (Local content) ด้วยการให้ทุนการผลิตหรือการแปลภาษาต่างประเทศ การกำกับดูแลที่ไม่จำเป็น มีการกำหนดโควตาของ Local content ใน OTTต่างประเทศ อาจร่วมกับเอกชนในการสร้าง Platform ที่ดึงศักยภาพของผู้ผลิตที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยเริ่มต้นจากตลาดอาเชียนและจีน
นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
ปัจจุบันผมอายุ 45 ปี ผมประสบอุบัติเหตุสูญเสียการมองเห็น ตั้งแต่ปี 2535 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี ด้วยเหตุที่ผมสูญเสียการมองเห็นทำให้ผมตระหนักและเข้าใจถึงสภาพปัญหาความยากลำบากของคนพิการ ประชาชน ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้สูงอายุ ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นอย่างดี และเป็นเหตุที่ทำให้ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักตันนโยบายกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และด้วยเหตุความพิการของผมทำให้ผมได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือ Smartphone เพื่อใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษา การประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน ผมจึงตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีต่อคนในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างดี
เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจการในการกำกับของ กสทข. นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่เป็นยุค Digital disruption แน่นอนว่าใครที่ปรับตัวได้ เปลี่ยนแปลงได้ก็จะมีโอกาสเติบโต อย่างเช่น Platform จำหน่ายสินค้าออนไลน์ต่าง ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ประชาชนกลุ่มที่ไม่พร้อมหรือขาดโอกาสก็จะกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทันที อย่างเช่น ในกรณีโควิด-19 ที่มีการศึกษาออนไลน์ และพบข้อเท็จจริงว่า มีครอบครัวนักเรียนจำนวนมากที่ขาดความพร้อม ทั้งอุปกรณ์และทุนทรัพย์ในการเข้าถึงบริการ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคมปัจจุบัน และเป็นหน้าที่สำคัญชอง กสทช. ที่ต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารของชาติได้อย่างมีคุณภาพและเสมอภาค
ซึ่งอุปสรรค์ในการเข้าถึง จะแบ่งเป็นหลัก ๆ 4 ประการด้วยกัน
1. การอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นเหตุที่อาจจะได้รับบริการที่ด้อยคุณภาพ
2.สภาพความพิการ หรือการเสื่อมสภาพตามวัย ซึ่งมีเงื่อนไขในการเข้าถึงแตกต่างจากบุคคลทั่วไป อุปกรณ์และ Application ต่าง ๆ ไม่รองรับ
3.สถานะทางเศรษฐกิจที่ทำให้เข้าไม่ถึงอุปกรณ์บริการที่มีคุณภาพ
4.การขาดความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในการเข้าใช้บริการ และความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องใช้อำนาจหน้าที่เครื่องมือกลไกต่าง ๆ พร้อมกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งผมคิดว่าปัจจัยในความสำเร็จเรื่องนี้มีอย่างน้อย 3 ประการ
1.กสทช. ต้องมีความเข้าใจหรือสภาพปัญหานี้อย่างลีกซึ้ง
2.กสทช. ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและเข้าใจบริบทความแตกต่างของคนในสังคม
3.กสทช. ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานไปพร้อมกันเพื่อให้ กสทช. เป็นองค์กรที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องได้รับการเสริมพลังให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิเสรีภาพนั้น เพื่อที่จะได้นำไปสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม ประเทศชาติต่อไป
บนพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ซึ่งผมมั่นใจว่า ประสบการณ์ของผมในการทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพกว่า20 ปี และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องของ กสทช. ผมสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติหน้าที่นี้ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน เป็นสำคัญและเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้สภาพความพิการของผมไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.
ปัจจุบันกลุ่มคนพิการในประเทศไทยมีอยู่กว่า 2 ล้านคน หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สิทธิของเขาเหล่านี้ยังด้อยกว่ามาก วันที่เราใช้เวลาแค่ 5 นาที เราอาจจะ download ข้อมูลได้ 100 เมกะไบต์ แต่ในพื้นที่ห่างไกลใช้เวลาเท่ากัน 5 นาที อาจจะ load ข้อมูลได้แค่ 50 เมกะไบต์แสดงว่า ถ้าความเท่าเทียมไม่เกิดขึ้น เวลาของคนในพื้นที่ห่างไกลจะมีคุณค่าน้อยกว่าเวลาของคนในพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งผมคิดว่า สิทธิเสรีภาพเป็นฟื้นฐานสำคัญในเรื่องทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ทุกคนควรได้รับ
ในส่วนกิจการกระจายเสียง ผมเรียนว่าข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญของประชาชน ในบริการโทรทัศน์ เราพยายามที่จะทำให้เกิดเสียงบรรยายภาพ หรือดำบรรยายแทนเสียง ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะคนตาบอดหรือคนหูหนวก แต่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในบางเวลาที่ไม่ได้ใช้สายตาหรือบางเวลาที่อาจมีเสียงอื่นรบกวนก็สามารถมองภาพได้ เรียนท่านกรรมการว่า เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งที่ต้องสร้างให้เกิดเรียกว่า Accessibility standard หรือ Accessibility guideline เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ที่มีความพิการ สูงอายุ หรือยากจน จะไม่กลายเป็นผู้เสียเปรียบในการเข้าถึงและใช้บริการจากกิจการต่าง ๆ เหล่านี้
ถ้าเราแบ่งกระบวนการจากผู้ผลิตรายการหรือ Content ไปสู่ตัวประชาชน เริ่มจาก Content หรือเนื้อหา ซึ่งทุกวันนี้ Content เริ่มปรับตัวให้มีล่ามภาษามือ ตัวอักษรวิ่งหรือเสียงบรรยายภาพ อันที่ 2 Network หรือโครงข่าย ซึ่ง coverage พื้นที่ในการเข้าใช้บริการ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมี coverage การให้บริการโทรคมนาคมที่ดีพอสมควร อันที่ 3 เป็น Device หรืออุปกรณ์ อันที่ 4 Application ซึ่งมี interface ทั้งนี้ในเรื่อง Device และ Application ต้องมี Accessibilty standard แม้จะเป็นหน้าจอสัมผัส แต่สามารถที่จะส่งเสียงบอกเวลาให้คนตาบอดได้ทราบ เป็นการสร้าง interface หรือวิธีการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับคนที่เหมาะสมกัน และอันที่ 5 เป็น User หรือผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่ที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิต Application ยังไม่เข้าใจเรื่องAccessibility ซึ้งเป็นเรื่องสากล หากผู้ประกอบการเข้าใจเรื่องนี้ จะได้ประโยชน์ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่เข้าถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนตาบอด คนหูหนวก หรือผู้ที่มีความบกพร่องอื่น ๆ เช่นเรื่องการเรียนออนไลน์สำหรับคนพิการ ต้องมีคนที่เรียกว่าเป็น Resource teacher ซึ่งเป็นครูที่เข้าไปช่วยสอนเสริม แต่ปัญหาหนึ่ง คือกลุ่มพ่อแม่ที่เป็นคนพิการ แต่มีลูกที่ไม่พิการ ซึ่งปัจจุบันเรามีการสร้าง Community ขึ้นมาช่วยลูกทำการบ้าน เนื่องจากบางครั้ง สวัสดิการรัฐเข้าไปไม่ถึง จึงอาจต้องใช้ Community เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาเพื่อช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการเช่นเดียวกับคนทั่วไป
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
วิสัยทัศน์จากการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากศึกษาและทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อทำหน้าที่ กสทช. ซึ่งรับผิดชอบสายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาคที่มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบและกำกับดูแลสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 5,000 สถานีทำให้ได้รับทราบถึงประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมทั้งข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงขออนุญาตเสนอแนวทางในการแก้ไข เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ ดังนี้
ประเด็นแรก เรื่องการออกใบอนุญาต จะเห็นได้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาตได้ โดยสาเหตุหลักมาจากขีดจำกัดของ Analog technology ที่กิจการกระจายเสียงไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล แต่การเปลี่ยนดังกล่าวต้องดำเนินการแบบเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการจัดทำ Platform วิทยุออนไลน์ เพื่อเป็นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสร้างโครงข่ายวิทยุดิจิทัล ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการในการออกอากาศที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ทั้งในส่วนของวิทยุชุมชน ภูมิภาค และระดับประเทศ โดยจะต้องสร้างโครงข่ายนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี
จากนั้นจึงจะเริ่มให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการสถานีวิทยุตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จากระบบนิเวศใหม่นี้ จะทำให้สถานีวิทยุมีหน้าที่ผลิตเนื้อหารายการเป็นหลัก โดยไม่ต้องกังวลต่องานด้านเทคนิคในการออกอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้สถานีวิทยุสามารถแข่งขันกันผลิตเนื้อหาที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาของคลื่นรบกวนไม่ว่าจะเป็นการรบกวนกันเอง หรือรบกวนการบิน ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป
ดังนั้น จะคงเหลือปัญหาหลักของกิจการกระจายเสียง คือ จะกำกับดูแลเนื้อหาอย่างไร ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่ต้องคุ้มครองประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ซึ่งในที่นี้คือประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นด้วย ซึ่งในระบบดิจิหัลจะมีการบันทึกเนื้อหาการออกอากาศจากทุกช่องรายการของทุกสถานี ดังนั้น ผู้ออกอากาศไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการสากลที่ ITU
สำหรับรายละเอียดผลคะแนนจากการโหวตของ สว.วันที่ 22 ธ.ค.2564 มีข้อสรุปดังนี้
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ | เห็นชอบ 212 ไม่เห็นชอบ 5 งดออกเสียง 6 |
ศ.พิรงรอง รามสูต | เห็นชอบ 213 ไม่เห็นชอบ 4 งดออกเสียง 6 |
นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ | เห็นชอบ 63 ไม่เห็นชอบ 145 งดออกเสียง 15 |
ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ | เห็นชอบ 210 ไม่เห็นชอบ 6 งดออกเสียง 7 |
นายต่อพงศ์ เสลานนท์ | เห็นชอบ 196 ไม่เห็นชอบ 19 งดออกเสียง 8 |
ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ | เห็นชอบ 60 ไม่เห็นชอบ 142 งดออกเสียง 21 |
รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย | เห็นชอบ 205 ไม่เห็นชอบ 11 งดออกเสียง 7 |