แผนใหม่กสทช.หวังช่วยฟื้นธุรกิจทีวีดิจิทัลระยะยาว ใช้เงินประมูลคลื่น 5G กว่า 4 หมื่นล้านบาท ชดเชยช่องทีวีดิจิทัล ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลคลื่น 2 งวดสุดท้าย, เช่า MUX และค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.61 กสทช.ได้ประกาศแผนการจัดระเบียบคลื่นความถี่ที่เกี่ยวกับวงการทีวีดิจิทัล เพื่อปูทางไปสู่การนำคลื่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นจากกิจการทีวีส่วนหนึ่งในย่าน 700 MHz เพื่อนำไปใช้ในบริการสื่อสาร 5G
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการ เรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz แก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลครบวงจร ได้เรียกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าร่วมประชุมครั้งแรก
โดยที่ประชุม มีบทสรุป ทางรอดทีวีดิจิทัล ที่เกี่ยวพันกับการประมูลคลื่น 5G ด้วยการเห็นชอบในหลักการ ปรับโครงสร้างทีวีดิจิทัล ในการสนับสนุนผู้ประกอบการทีวี สำหรับค่าใช้จ่าย 3 ส่วน ได้แก่เงินประมูลทีวีดิจิทัลใน 2 งวดสุดท้าย และค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลหรือ MUX และ ค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามประกาศ Must Carry
ทั้งนี้จะเป็นการนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz ไปให้บริการ 5G และส่งเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนพัฒนากิจการทีวี แทนที่การนำเงินส่งเข้ารัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามพรบ.กสทช.และตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
อย่างไรก็ตามพ.อ.นที ยังไม่ได้บอกว่าวงเงินที่บรรดาทีวีดิจิทัลจะได้รับการสนับสนุนมีมูลค่าทั้งหมดเท่าไร โดยที่กองทุนจะเป็นผู้จัดการการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมด
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการชุดนี้ จะพิจารณาหลักเกณฑ์ทั้งหมด ทั้งการเรียกคืน การจัดแผนใหม่ ภายในเดือนมี.ค 2562 เพื่อจัดการประมูลคลื่นในไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีหน้า โดยที่การชดเชยทั้งหมดจะเริ่มเกิดขึ้นในประมาณปี 2563
คาดใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาทช่วยทีวีดิจิทัล
จากข้อมูลของสำนักงานกสทช.พบว่า เงินที่กสทช.เก็บได้จากค่าประมูลทีวีดิจิทัลในงวดที่ 1-5 นั้น เป็นมูลค่ารวมประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนใหญ่จ่ายถึงงวดที่ 4 โดยขอเข้าระบบผ่อนจ่ายแบบมีดอกเบี้ย มีเพียงช่อง 7 และ เวิร์คพอยท์ที่จ่ายงวดที่ 5 ไปแล้ว โดยวงเงินที่กสทช.จะต้องได้ทั้งหมดจากการประมูลอยู่ที่ 50.862 หมื่นล้านบาท ( ไม่รวม VAT)
ทั้งนี้มียอดเงินประมูลที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดเป็นเงิน 15.851 หมื่นล้านบาท
หากผู้ประกอบการใดจ่ายเงินบางงวดไปแล้ว เมื่อเริ่มมาตรการชดเชยก็สามารถมาขอเบิกคืนได้ภายหลัง
ส่วนภาระการจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล หรือ MUX นั้น ปัจจุบันทุกช่องรวมกัน มีค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท และค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามกฎ Must Carry ประมาณปีละ 700 ล้านบาท ไปจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตในปี 2572 รวมแล้ว ประมาณ 2.88 -3.2 หมื่นล้านบาท ขึ้นกับว่าจะเริ่มมาตรการในปีไหน
ทั้งนี้ภาระในทั้ง 3 ส่วนนี้ ถือเป็นภาระหลักของผู้ประกอบการกิจการทีวีดิจิทัลทุกราย นอกเหนือจากการจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาต หากว่าได้รับการยกเว้นส่วนนี้ เชื่อว่าจะทำให้บรรดาผู้ประกอบการไปมุ่งหน้าพัฒนาคอนเทนต์ แข่งขันกันเสนอรายการใหม่ๆเพื่อดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น
บทสรุปทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น คงต้องรอคอยว่าแผนทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้ทีวีดิจิทัลรอดได้ทั้งหมดหรือไม่