เรตติ้งรายใหม่ ส่อเค้าล่ม ช่อง 7 ฟ้องศาลปกครอง!

รายการข่าว เกาะติดจอ

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ช่อง 7 ได้ยื่นฟ้องต่อ กสทช.ที่ศาลปกครอง ในประเด็นการออกกฏเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล โดยระบุว่าประกาศดังกล่าวเป็นการล็อคสเปค และไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งของ คสช.  

ช่อง 7 เล่นแรงขนาดนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าการฟ้องในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อแผนการให้เงินสนับสนุนผู้ทำเรตติ้งรายใหม่ของกสทช.ด้วย

คำสั่งคสช.ที่ 4/2562 ในวันที่ 11 เม.ย.2562 เป็นประกาศฉบับสุดท้ายในยุครัฐบาล คสช. เพื่อช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิทัล ได้ระบุให้ กสทช.ให้เงินสนับสนุนแก่องค์กรกลางของช่องทีวีดิจิทัลในการจัดทำเรตติ้งจำนวนหนึ่ง   ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา กสทช. ได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (ทีวีเรตติ้ง)

รายละเอียดประกาศหลักเกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือเพื่อจัดทำ TV Rating นี้ ระบุไว้ว่า กสทช.จะจัดสรรงบประมาณในการทำทีวีเรตติ้งให้กับ องค์กรกลาง ซึ่งหมายถึง องค์กรที่เป็นการรวมกลุ่มของช่องทีวีดิจิทัล ที่คงเหลืออยู่หลังจากการคืนช่อง โดยที่องค์กรกลางนั้น จะต้องมีสมาชิก และกรรมการ ไม่น้อยกว่า 1ใน 3 จะต้องเป็นผู้แทนจากช่องทีวีดิจิทัล และไม่รวมถึง 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ประกอบไปด้วย ช่อง 3SD, สปริง 26วอยซ์ทีวีไบรท์ทีวีสปริงนิวส์ , 3Family และ MCOT Family ที่ได้แจ้งขอคืนช่อง เพื่อเลิกกิจการ

สาระส่วนสำคัญในประกาศฉบับนี้ กำหนดคุณสมบัติขององค์กรกลางนี้ไว้ว่า จะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ที่จดทะเบียนมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ตั้งแต่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tvdigitalwatch.com/news-nbtc-24-05-62/ )

รายงานข่าวเปิดเผยว่า คำฟ้องของช่อง 7 ระบุว่า การกำหนดอายุองค์กรกลางไม่ต่ำกว่า 3 ปี นับว่าเป็นการล็อคสเปคให้กับองค์กรหนึ่งที่มีอยู่เพียงองค์กรเดียวในปัจจุบัน ที่เป็นการทำเกินกว่า คำสั่ง คสช.ที่ออกมาด้วย 

องค์กรกลางด้านทีวีดิจิทัลตามเงื่อนไขดังกล่าว มีอยู่เพียงองค์กรเดียวในขณะนี้ ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่มีนายสุภาพ คลี่ขจาย เป็นนายกสมาคม และเป็นแกนนำในการร้องขอให้รัฐช่วยทีวีดิจิทัล รวมถึงเรื่องการผลักดันให้มีเรตติ้งรายใหม่ด้วย 

ทั้งนี้มีรายงานจาก กสทช.ด้วยว่า สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เป็นองค์กรเพียงรายเดียวที่แจ้งมาที่กสทช.เพื่อขอเป็นผู้คัดเลือกผู้ทำทีวีเรตติ้งตามประกาศของกสทช.โดยเพิ่งทำหนังสือแจ้งมายังกสทช.อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ก.ย. หลังจากที่สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นหนังสือมาที่กสทช. ช่อง 7 ก็ไปยื่นฟ้องศาลปกครองทันที 

ปัจจุบันนีลเส็น เป็นบริษัทจัดทำเรตติ้งทีวีเพียงรายเดียวของไทย มานานหลายสิบปี  จนหลายหน่วยงานรู้สึกว่าเป็นการผูกขาดทางธุรกิจมาตลอด  รวมทั้งผลการวัดเรตติ้งมีทั้งกลุ่มที่พอใจและไม่พอใจ จนทำให้เคยมีความพยายามในการหาผู้จัดทำเรตติ้งรายใหม่มาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคทีวีแอนะล็อค ที่มีอยู่ 6 ช่อง จนมาถึงยุคทีวีดิจิทัลที่เปิดตัวมาด้วย 24 ช่อง  ก็มีรวมตัวเป็นขั้วที่ 2 เกิดขึ้นเพื่อพยายามหาผู้จัดทำเรตติ้งรายใหม่ เมื่อสมาคมมีเดีย เอเจนซี่และธุรกิจสื่อในประเทศไทย (MAAT) จัดตั้งหน่วยงาน Media Research Bereau  ( MRB) ที่ภายหลังเปลี่ยนเป็นสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (MRDA)  เปิดประมูลจัดทำเรตติ้ง จนได้ กันตาร์ มีเดีย เข้ามาเพื่อเตรียมการจัดทำเรตติ้ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดด้วยข้อจำกัดหลายประการทั้งด้านธุรกิจและการดำเนินงานจัดการ   ต้องยกเลิกไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560

นีลเส็น จึงยังคงเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ทำงานด้านทีวีเรตติ้งในประเทศไทย จวบจนวันนี้ 

ในครั้งนี้ MRDA เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการวัดเรตติ้งทีวีรายใหม่ ผ่านทางสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่มีกลุ่มทีวีดิจิทัลบางช่องให้การสนับสนุน โดยที่กสทช.เองได้เคยประกาศไปเบื้องต้นว่า จะให้เงินสนับสนุนการทำ TV Rating ตามคำสั่งคสช.จำนวน 431 ล้านบาท

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กสทช.ก็ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเรตติ้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ บริษัท PSI (ประเทศไทย)  นีลเส็น และสมาคมวิจัยและพัฒนาสื่อ หรือ MRDA มานำเสนอรูปแบบการวัดเรตติ้ง ต่อสมาคมทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และเอเจนซี่โฆษณา รวมถึงเจ้าของสินค้ารายใหญ่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มาจัดทำระบบเรตติ้งทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช. ซึ่งกสทช.บอกหลังการประชุมในครั้งนั้นว่า คาดว่ากระบวนการคัดเลือกผู้ทำเรตติ้งรายใหม่จะเสร็จสิ้นภายในเดือนต.ค.นี้

ทั้งนี้ศาลปกครองได้เริ่มแจ้งให้กสทช.เข้าไปชี้แจงในประเด็นที่ช่อง 7 ฟ้องร้องในเร็วๆนี้แล้ว

เรตติ้ง คือตัวชี้วัดความนิยมที่ได้รับการยอมรับจากเอเจนซี่ เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาจัดวางโฆษณาในช่องทางทีวี  โดยดูจากความคุ้มค่าของราคาต่อ 1 เรตติ้งหรือ CPRP ในยุคทีวีดิจิทัลมีการเรียกร้องให้ควบรวมหรือทำเรตติ้งจากออนไลน์ด้วย  เนื่องจากกลุ่มคนหนุ่มสาวมักจะรับชมรายการผ่านทางสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออฟไลน์  

สื่อโทรทัศน์ในยุคที่เงินทองหายาก จึงเรียกร้องให้มีการจัดทำเรตติ้งทั้งออนไลน์ออฟไลน์ ให้มีมาตรฐานและยุติธรรม  เพราะเรตติ้งคือตัวแปรที่ชี้ชะตาธุรกิจทั้งสื่อโทรทัศน์ เอเจนซี่และเจ้าของสินค้า  แต่การจะได้มาซึ่งความพึงพอใจของทุกฝ่ายก็เป็นเรื่องยาก จนวันนี้อาจรู้สึกว่าเป็นเพียงความคาดหวังที่ผู้เกี่ยวข้องต่างก็ตั้งตารอ

และวันนี้เมื่อมีเม็ดเงินสนับสนุนก้อนโตมาเป็นสิ่งล่อใจ ความเห็นที่แตกต่างจึงยิ่งมีมุมมองที่แตกต่างและประเด็นที่ถกเถียง  ศึกครั้งนี้ คงไม่มีใครมาชี้ชัดให้พอใจได้ แม้นว่าจะไปอัญเชิญท้าวมาลีวราช จากวรรณคดีเข้ามาตัดสิน   

Tagged