เรตติ้งทีวีดิจิทัล 18 ช่อง เดือนพ.ค.64

เรตติ้งประจำเดือน

เรตติ้งทีวีดิจิทัล 18 ช่องประจำเดือนพ.ค.2564 เดือนที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพุ่งไม่หยุด เป็นข่าวร้อนแรงของประเทศในยุคที่ต้องหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน รายการข่าวได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการกลับคืนจอของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กรรมกรข่าว ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” และ “เรื่องเล่าเสาร์ อาทิตย์” ทำให้เรตติ้งกลุ่มรายการข่าวของช่อง 3 ดีขึ้นด้วย มีผลทำให้หลายๆช่องต้องปรับกลยุทธ์รายการข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมด้วยเช่นกัน

เรตติ้งทีวีดิจิทัลประจำเดือน จัดเทียบความนิยมกลุ่มผู้ชมทีวีดิจิทัลทั้ง 18 ช่อง แบบ 3 กลุ่ม ตั้งแต่เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป ในกลุ่มคนเมือง หรือ BU 15+ และเรตติ้งเฉลี่ยกลุ่มผู้ชมผู้หญิงทั่วประเทศอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือ F15+ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของฐานผู้ชมของแต่ละช่องทีวีดิจิทัลแบบแยกกลุ่มให้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ตัวเลขเรตติ้ง Nationwide 4+ สะท้อนถึงฐานผู้ชมโดยรวม ในขณะที่ตัวเลขเรตติ้ง 15+BU และ F15+ สะท้อนถึงกลุ่มผู้ชมที่เป็นเป้าหมายของสินค้าที่ลงโฆษณา

 

เรตติ้ง Natonwide 4 + เดือนพ.ค.64

เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่วัดจากกลุ่มผู้ชมอายุ 4 ปีขึ้นไปในเดือนพ.ค.นี้ มีการเปลี่ยนแปลงในอันดับ 6 ระหว่างช่องอมรินทร์ทีวี ขยับจากอันดับ 7 ขึ้นมา และไทยรัฐทีวีตกลงไปที่อันดับ 6 ทั้งสองช่องมีรายการข่าวเป็นรายการเด่นของช่อง แต่เดือนนี้อมรินทร์ทีวีเรตติ้งดีกว่า จาก 0.579 ในเดือนเม.ย.มาที่ 0.605 ส่วนไทยรัฐทีวีเรตติ้งลดลงจาก 0.593 มาที่ 0.569

และอีกคู่อันดับสุดท้าย ระหว่างช่อง NEW18 และช่อง 5 โดยที่ช่อง NEW18 มีการปรับผังรายการครั้งใหม่ หลังจาก เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น JKN มีอันดับดีขึ้นเล็กน้อย จาก 0.016 เดือนเม.ย. มาที่ 0.018 จากอันดับ 18 มาที่อันดับ 17 และช่อง 5 อยู่อันดับ 18 แทน

ในเดือนนี้ช่องส่วนใหญ่เรตติ้งดีขึ้น ในกลุ่ม TOP10 มีช่องที่เรตติ้งขึ้น 6 ช่องได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง Mono ช่องอมรินทร์ทีวี ช่อง 8 และช่อง True4U โดยเฉพาะช่อง 8 ได้ผลงานละคร “เรือนร่มงิ้ว” ที่มาแรงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมเรตติ้งเฉลี่ยช่องดีขึ้นด้วย

ช่อง One เป็นช่องที่เรตติ้งลดลงมาก หลังจากที่เดือนเม.ย.เรตติ้งพุ่งแรงที่สุด จากความสำเร็จของละคร “วันทอง” แม้ว่าเดือนนี้ละคร “กระเช้าสีดา”มาแรง แต่ต้องหยุดออกอากาศชั่วคราวเพราะยังถ่ายทำไม่เสร็จเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด -19

หลายๆช่องเริ่มปรับกลยุทธ์รายการที่ออนแอร์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งรีรันหรือรวมฮิต ทำให้เรตติ้งลดลงบ้าง

 


 

เรตติ้ง BU 15+ เดือนพ.ค.64

เรตติ้งกลุ่มคนเมืองอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่า ช่อง 3 ซึ่งมีฐานผู้ชมคนเมืองเป็นหลัก เรตติ้งดีขึ้นมาก เพิ่มจาก 1.826 ในเดือนเม.ย.มาที่ 2.065  โดยมีทั้งละครค่ำ “สะใภ้เจ้าสัว” และรายการข่าวที่ปรับโฉมใหม่ จากการกลับมาของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” และในช่วงปลายเดือนละครไพรม์ไทม์เริ่มกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นจากเรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” และรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลทีมหญิงไทยในศึกเนชั่นส์ลีก

ช่องใหญ่อย่างช่อง 7 และช่อง Mono เรตติ้งกลุ่มคนเมืองดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ช่อง One เรตติ้งเฉลี่ยลดลงมากสุดในกลุ่มนี้ โดยยังมีละครค่ำเป็นรายการเรียกเรตติ้งหลักของช่องเช่นเดิม ช่อง One เรตติ้งเฉลี่ยลดลงจาก 1.057 ในเดือนที่แล้วมาที่ 0.889 ตกจากอันดับ 4 เป็นอันดับ 5 ในขณะที่ช่องเวิร์คพอยท์แม้เรตติ้งเฉลี่ยช่องลดลงแต่ยังดีกว่าช่อง One จึงขึ้นจากอันดับ 5 มาที่อันดับ 4

ช่องที่มีอันดับเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนเมืองเดือนนี้ ยังมีอีกหลายช่องได้แก่

อันดับ 6 และ 7 เป็นการสลับกันระหว่างช่องอมรินทร์ทีวีและไทยรัฐทีวี และอันดับ 17 และ 18 สลับกัน โดยช่อง NEW18 ขึ้นมาที่อันดับ 17 ช่อง 5 ตกไปที่อันดับสุดท้าย เช่นเดียวกับเรตติ้งในกลุ่ม Nationwide 4+

ที่เปลี่ยนแปลงอันดับอีกคู่ ระหว่างช่อง ThaiPBS ขยับจากอันดับ 14 ขึ้นมาอันดับ 13 และช่องเนชั่นทีวีลงจากอันดับ 13 เป็นอันดับ 14


เรตติ้ง F15+ เดือนพ.ค.64

เรตติ้งกลุ่มผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ เดือนพ.ค.64  กลุ่มผู้หญิงซึ่งนิยมคอนเทนต์บันเทิง โดยเฉพาะละคร สำหรับช่องใหญ่ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ที่มีละครเป็นรายการหลักเรตติ้งในกลุ่มนี้ดีขึ้นทั้งสองช่อง ละครช่อง 7 ที่มีผลงานดีเช่น “เผาขน” และละครรีรันช่วงบ่าย “มธุรสโลกันตร์” ต่อเนื่องมายัง “เจ้าสาวจำยอม”

ช่อง One เป็นช่องที่เรตติ้งเฉลี่ยลดลงมากสุดในกลุ่มนี้เช่นกัน แต่ยังรักษาอันดับ 3 ไว้ได้

เข้าสู่ช่วงกลางปีแล้ว ปัญหาใหญ่ของประเทศยังเป็นการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจยังรอการฟื้นฟูอีกมาก เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปด้วยกัน

 

Tagged