ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล เตรียมยื่นหนังสือถึงกสทช. ภายในเดือน พ.ค. นี้ เสนอ 2 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการโครงข่าย หลังลูกค้าคืนใบอนุญาต 7 สถานี ทำให้สูญเสียรายได้รวมกัน 300 ล้านบาทต่อปี และการบริหารจัดการอาจสูญเสียมูลค่าจากทรัพย์สินที่ลงทุนไปแล้ว
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ชคท.) หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) ร่วมประชุมกับ 4 หน่วยงานผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ประกอบด้วยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม การวิเคราะห์เรื่องผลกระทบด้านเทคนิค, ด้านผู้ชมและด้านการเงิน รวมถึงเสนอแนวทางในการเจรจากับ กสทช. เพื่อบรรเทาและเยียวยากรณีโครงข่าย มีผู้ใช้บริการน้อยลง
นายเขมทัตต์ พลเดช เปิดเผยว่า “ที่ประชุมชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ครั้งที่ 2/2562 มีมติเห็นชอบให้มีหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอความชัดเจนใน 2 ประเด็น คือ
1. กรณีผู้ประกอบการโครงข่ายยังเปิดให้บริการครบทุกราย
1.1 ) ความชัดเจนของกรอบระยะเวลาเยียวยาผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ว่า จะเริ่มเมื่อไร
1.2 ) การเยียวยาชดเชยให้กับโครงข่าย จะเยียวยาอย่างไร ในกรณีที่มีผู้ใช้บริการโครงข่ายลดลงฯ ว่าจะเยียวยาให้กับโครงข่ายเฉพาะที่มีผู้ประกอบการดิจิทัลเหลืออยู่ 15 ราย หรือ ทาง กสทช. จะพิจารณา ตามสัญญาที่ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ทำกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่ง กสทช. ได้ให้ การสนับสนุนเงินช่วยเหลือถึง 50 %หรือ 100 % ซึ่งหากผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ไม่ได้รับการช่วยเหลือในส่วนนี้ก็จะประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมากต่อเนื่อง
2. กรณีที่ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่าย จำนวน 1 โครงข่าย เพื่อเปิดทางให้ กสทช. นำคลื่นความถี่ 700 MHz. ย้ายไปพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทาง กสทช. จะมีแนวทางเยียวยาและกรอบหลักเกณฑ์การคำนวณวงเงินเป็นอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าภายหลังจากที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้คืนใบอนุญาตจำนวน 7 ช่องสถานี ส่งผลให้ผู้ให้บริการทุกโครงข่ายฯ สูญเสียรายได้ทันทีประมาณการ 300 ล้านบาท /ปี
นอกจากนี้เนื่องจากมีช่องสัญญาณเหลืออยู่ ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จึงมีแนวคิดที่จะเสนอ ให้ กสทช. เพิ่มคุณภาพช่องสัญญาณจากช่อง SD ที่มีผู้ประกอบกิจการอยู่ ให้เป็น Super SD เพื่อให้ได้คุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้น โดย กสทช. คงยังก็ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ แต่ช่อง SD ที่ยังประกอบกิจการอยู่อาจจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ กสทช. ตามคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้ รับประโยชน์จากภาพที่คมชัดขึ้น และช่อง SD มีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าโฆษณาส่งผลให้ กสทช. ได้รับรายได้ ค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอหลายประเด็นของชมรมโครงข่ายที่เป็นประโยชน์ต่อวงการธุรกิจโทรทัศน์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้รับชมทีวีดิจิทัลอีกมาก สำหรับทั้ง 5 โครงข่ายเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปัจจุบันรวมเงินลงทุนไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท หากมีปัจจจัยผันแปรที่ได้รับผลกระทบ กสทช. ควรมีแนวทางช่วยเหลือสนับสนุนโครงข่ายด้วย เพื่อให้ครบกระบวนการหลังจากที่ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลมาแล้วอย่างไรก็ตามทางชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะทำหนังสือเสนอมาตรการในการชดเชยและเยียวยา ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาภายในเดือนพ.ค.นี้” นายเขมทัตต์กล่าว