The Voice 7 มาแน่ กันยายนนี้ พร้อมกฎกติกาใหม่
แม้ว่าทุกวันนี้รายการร้องเพลงจะเกลื่อนจอ มีอยู่แทบทุกช่วงเวลาในหลายๆช่องทีวีดิจิทัล แต่ The Voice รายการประกวดร้องเพลง สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ก็ยังยืนหยัดมาได้ถึงซีซัน 6 เป็นซีซันที่มีการเปลี่ยนแปลง กฎ กติกา และ”เซอร์ไพรส์” มาเป็นระลอก ซีซั่น 6 จบลงด้วยแชมป์คนใหม่ “ไม้หมอน – วชิรวิทย์ จีนเกิด “ นักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร จากทีม”สิงโต-นำโชค” หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ผู้ชื่นชอบเพลงเพื่อชีวิต
ในแง่เรตติ้ง ได้เฉลี่ยทั้งซีซั่น 3.283 โดยมีเรตติ้งสูงสุด 4.232 แต่ได้เรตติ้งในพื้นที่กรุงเทพฯlสูงถึง 6.075 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฐานผู้ชมของ The Voice ยังคงหนาแน่นในกลุ่มนี้ ทำให้อาจกิจ สุนทรวัฒน์” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บ.เอพีแอนด์เจ โปรดักชัน จำกัด ผู้ผลิตและเจ้าของลิขสิทธิ์รายการ เดอะวอยซ์ ประเทศไทยประกาศทันทีว่า The Voice ซีซั่น 7 มาแน่นอนในเดือนกันยายนปีนี้
กฎ กติกาใหม่ “Block Buttom”
“เมื่อเป็นซีซั่นที่ 7 เราก็จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างใหม่ ให้รายการ ที่สามารถบอกได้ตอนนี้คือ จะมีปุ่ม บล็อก หรือ Blocked Buttom สำหรับรอบ Blind audition”
ปุ่มบล็อกนี้ จะให้สิทธิโค้ชแต่ละคน สามารถกดปุ่มเพื่อกันไม่ให้โค้ชคนอื่น หันมาเลือกผู้เข้าแข่งขันที่ตัวเองได้หันมาเลือกก่อน โดยแต่ละคนมีสิทธิกดปุ่มนี้ได้เพียงคนละครั้งในรอบ Blind กฎใหม่นี้รายการเดอะ วอยซ์ อเมริกาได้เริ่มใช้ไปแล้วในปีนี้
“นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของกติกาใหม่ ที่เราจะมีอีกหลายอย่าง ที่รับรองว่า จะสนุกมากกว่าเดิมแน่นอน”
แต่เมื่อถามว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโค้ชอีกไหม เมื่อเคยเปลี่ยนโค้ชครั้งแรกในซีซั่นที่ 3 และ 4 อาจกิจเพียงแต่ยิ้มและบอกว่า “ยังไม่ได้ตัดสินใจ”
“สำหรับรอบชิงชนะเลิศของซีซั่น 6 นี้ เป็นหนึ่งในรอบชิงที่บีบหัวใจ ยอดโหวตทั้งหมดสูงกว่าซีซั่นที่แล้ว เพราะเราได้ผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายที่เข้ามาแข่งกันได้อย่างสนุก และผลโหวตทั้งหมดคือของจริง แม้ว่าจะมีเสียงบ่นตามมาบ้างว่าชอบคนนั้นคนนี้ แต่ก็เป็นแบบนี้ทุกปี เพราะนี่คือโหวตจากมหาชนจริงๆ”
ยืนยัน รายการนี้ไม่มี”ดราม่า” ไม่เตี้ยม
“ The Voice เราเน้นการเล่าเรื่อง ไม่เน้นดราม่า เล่าเรื่องตัวตนของแต่ละคน เราต้องคิดว่า เราทำอะไร เพื่ออะไร ไม่ใช่ เพื่อประโยชน์ตัวเรา ซึ่งจะทำให้เราเสียเองได้ เราทำให้ศิลปินและคนที่มาออกรายการเรา Happy ทุกคน ”
The Voice ซีซัน 1 เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเริ่มมีทีวีดิจิทัล รายการร้องเพลงยังไม่ได้มีมาก เช่นทุกวันนี้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป รายการใหม่ๆมา คนก็ย้ายไปดูของใหม่บ้าง แต่โดยรวม อาจกิจก็เชื่อว่า The Voice ยังเป็นหนึ่งในรายการที่ทำให้ทั้งครอบครัวได้นั่งดูรายการพร้อมๆกัน ในวันอาทิตย์ ด้วยหลักของความเป็น Simple Happiness
บางคนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ซีซั่น 6 มีศิลปินหลายคนมาร่วมรายการ เตี๊ยมกันมาหรือเปล่า แต่อาจกิจยืนยัน “รายการเราไม่มีเตี๊ยม และไม่เคยจ้างใครมาในรายการ”
“กรณีต้อม ไกรวิทย์ พุ่มสุโข เขาอยากร่วมรายการ เขาบอกว่า คนชอบมองเขาว่าเป็นนักแสดง แต่เขาอยากให้คนรู้ว่าเขาคือนักร้อง เขาต้องการให้คนรู้ว่า เขาร้องเพลงได้นะ ซึ่งเราก็พูดกันชัดเจนว่า จะไม่มีการขายความดราม่า ความเป็นกระเทย แล้วเขาก็เข้ามาทดสอบก็ผ่านขั้นแรก จนเข้าสู่รอบ Blind ออดิชั่น
ตรงจุดนี้ เขายอมรับ เพราะเขาต้องการพิสูจน์ว่า เขาจะได้การยอมรับโดยไม่ต้องเห็นหน้ากันเลย มันถือว่ามีความหมายมากกว่า เขาร้องให้เป็นตัวเขา ไม่ต้อง pretend ไม่ต้องสร้างคาแรคเตอร์ใหม่ ที่ไม่ใช่ตัวเขา ”
หรือกรณีพี่ทุย – เอ็ดเวิร์ด แวนโซ่ นักร้องนำวงเฮฟวี่เมทัลในตำนาน “คาไลโดสโคป” เจ้าของฉายา ร็อด สจ๊วต เมืองไทย เขาเป็นมะเร็ง แล้วหายไปจากวงการ เขาอยากมาเพราะยังอยากให้คนรู้ว่า เขายังไม่ตายนะ เขายังร้องเพลงได้ ทำงานได้ โดยไม่มาขอร้อง ตั้งเงื่อนไขอะไรเลย และเขาก็พร้อมที่จะตกรอบตั้งแต่รอบ Blind ด้วยซ้ำ
ยืดหยุ่นกฏเกณฑ์ เพื่อความสนุก แปลกใหม่
ซีซัน 6 เป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎ โดยได้รับอนุมัติจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง ทัลปา มีเดีย กรุ๊ป ที่ส่ง Philbert Braat , International Producer มาเป็นผู้คอยคุมกฎตลอดการแข่งขัน
“เขาแนะนำเราว่า สามารถปรับได้ โดยเอารอบ Knock Out มาก่อนรอบ Battle เพราะเคยมี The Voice Australia ทำมาก่อนแล้ว เราเองก็มองว่า การ Battle ในเพลงเดียวกันเลย มันตัดสินยาก เพราะคนสองคน มีเสียงที่ต่างกัน ก็เลยทำตามที่เขาแนะนำ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมาก “
โดยสรุปในซีซั่น 6 สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ
- ไม่ให้บรรดาโค้ช คุยกับคนที่ตกรอบ ตอนแรกบรรดาโค้ชก็มีโวยบ้าง เพราะวัฒนธรรมไทย การได้พูดคุยกันจะเป็นการให้กำลังใจกับผู้ที่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบ แต่ก็ต้องยอมรับในกฏกติกา
- การยอมให้มีการร้องใหม่อีกครั้ง ของแพรว ในการแข่งรอบ Blind กรณีนี้ เคยคุยกับ Producer ฝรั่งมาก่อนแล้วว่า ปีนี้จะยินยอมให้มีแค่ครั้งเดียว ในกรณีที่มีการขอให้ผู้เข้าแข่งขันร้องใหม่ แต่ไม่คาดคิดว่า โจอี้จะทำเองทันที ซึ่งโจอี้ก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นใคร เพียงแต่เขารู้สึกว่า อยากให้ร้องใหม่เพราะครั้งแรกเขาร้องดี แต่พลาดเพราะความตื่นเต้นมากเกินไป
- การนำ รอบ Battle มาก่อนรอบ Knock Out
- การแหกกฎในรอบ Battle โดยที่โค้ชโจอี้ ขอให้ทั้ง เปรี้ยว และ แชมป์เข้ารอบทั้งสองคน ไม่เลือกคนในคนหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้าไปเป็นดูโอ้ ร้องคู่กันในรอบต่อไป ซึ่งทั้งคู่สามารถฝ่าฟันไปถึงรอบชิงชนะเลิศ
เมื่อถามว่า ในรอบ Blind แต่ละซีซั่นเคยมีการส่งสัญญาณให้บรรดาโค้ชหรือไม่ ว่าควรจะเลือกใคร อาจกิจบอกว่า
“เอาตรงๆเลยนะ เราก็มีการ guide บ้าง เพราะฝรั่งบอกทำได้บ้าง แต่อย่าบอกว่าคนนั้นคือใคร เช่นบอกว่า คนนี้ร้องเจ๋งนะ แต่ก็คิดเอาเองนะ แต่ผลที่ออกมาคือ โค้ชเขาไม่สนใจเรา โค้ชทุกคน เขามีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะเขาต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเอง เขาไม่ค่อยฟังเราหรอก ”
เรื่องลับ! ที่ไม่เคยเปิดเผย ของซีซัน 1-4
- ซีซัน 1
มีการเทค ให้ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งในรอบ Blind ร้องใหม่ เพราะผู้เข้าแข่งขัน ตกใจที่โค้ชหันหลังกลับมา จนร้องเพลงต่อไปไม่ได้ เป็นการ Take ครั้งแรกและครั้งเดียวของรายการ
- ซีซัน 2
โค้ชทะเลาะกัน เพราะงอนกัน แย่งผู้เข้าแข่งขัน แรงถึงขั้นไม่ยอมมองหน้ากัน บางคนร้องไห้
แสดงให้เห็นถึง ความกดดันที่โค้ชแต่ละคนต้องแบกรับไว้มาก การเกิดขึ้นของ Social Media สร้างความกดดันให้กับบรรดาโค้ช บางคนถึงขั้นต้องปิดไอจีชั่วคราว หลังจากโดนถล่มหนัก
- ซีซัน 3
แสตมป์เครียด ต้องขอออก และสิงโตเข้ามาแทน
แสตมป์ เป็นโค้ชคนแรก ที่ขอยุติบทบาท สาเหตุจากความกดดันในโลกโซเชียล เนื่องจากทำงานด้วยความเครียด ไม่มีความสุข
- ซีซัน 4
สาเหตุในเปลี่ยนแปลงโค้ชผู้หญิง เป็นการปรับตามความเห็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่เห็นว่าการเปลี่ยนโค้ช จะเป็นหนึ่งในการกระตุ้น Energy ของรายการเพิ่มขึ้น และทำตามแบบตัวอย่างของรายการ The Voice ในต่างประเทศคือ ปรับโค้ชตัวแทนฝ่ายผู้หญิง จากเจนนิเฟอร์ คิ้ม เป็น ดา เอ็นโดรฟิน
ปรับใช้ Youtube เพื่อโปรโมท ไม่ลงทั้งรายการ
ซีซั่นที่ 6 เริ่มมีการปรับรูปแบบการนำรายการไปลง Youtube ไม่ได้ใส่เต็มทั้งรายการเหมือนเดิมแล้ว แต่จะใส่เฉพาะช่วงการร้องเพลงเท่านั้น เพราะมองว่า ต้องวางการใช้ออนไลน์เป็นสื่อเพื่อการโปรโมท เช่นในต่างประเทศ ก็ไม่ให้ดูรายการเต็มๆทั้งหมดเหมือนกัน ถ้าจะดูทั้งรายการเต็มๆ ก็ต้องมาดูสดในการออกอากาศ
อาจกิจบอกว่า สำหรับคนดูทีวีในทุกวันนี้ กลายเป็นกลุ่มคนอายุ 35+ และจะเป็นกลุ่มคนที่จะดูทีวีไปเรื่อยๆจนแก่
คู่แข่งเยอะ โจทย์ยาก จากสถานะ “กำไร” สู่ เสมอตัว
บ.เอพีแอนด์เจ ไม่ได้ทำแค่รายการ The Voice เพียงรายการเดียว ขณะนี้มีรายการ The Voice Kids และกำลังทำรายการเกมส์โชว์ให้กับช่องพีพีทีวี และช่องทรูโฟร์ยู ในรูปแบบของการรับจ้างผลิตรายการ ในขณะที่รายการ The Voice & The Voice Kids นั้นเป็นการเช่าเวลาออกอากาศ และหารายได้จากการโฆษณา ซึ่งสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ ทำให้บริษัทต้องพิจารณาเรื่องแผนการลงทุนอย่างหนัก
จากรายการที่เคยทำกำไรได้ทันทีในปีแรกที่ออกอากาศในยุคที่ยังไม่มีทีวีดิจิทัล อาจกิจบอกว่า ปีนี้สถานการณ์ด้านรายได้อยู่ในสถานการณ์ที่หนักหนามาก คาดว่าน่าจะพอเสมอตัว มีกำไรบ้างเล็กน้อย เพราะรายได้ลดลงประมาณ 40% สาเหตุหลักที่รายได้ลดเพราะ มีคู่แข่งรายการแบบเดียวกันมากขึ้น ลูกค้าใช้เงินประหยัดมากขึ้น ลดการโฆษณาลงอีก
ตั้งแต่ซีซันแรก The Voice เป็นรายการที่ทุ่มทุนด้านการผลิตมาก การถ่ายทำแต่ละตอนต้นทุนเกิน 10 ล้านบาท แต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางการเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2016 ดังนั้นในปีถัดๆมา ทำให้ต้องลดต้นทุนการผลิตลง ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ต้นทุนต่อตอนก็ยังเกินกว่า 5 ล้านบาท
ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้เข้ามาช่วยลดขั้นตอนการผลิต ในการไปออดิชั่นทั่วประเทศ ที่ในซีซันแรกๆ ต้องใช้เงินถึง 9 ล้านบาท แต่ยุคนี้เปลี่ยนเป็นการออดิชั่นด้วยระบบออนไลน์ ทำให้ลดต้นทุนเหลือเพียง 2 ล้านบาท จากจำนวนคนมาออดิชั่นทั้งหมดปีนี้ 2 หมื่นคน คัดออกเหลือ 400 และเหลือเพียง 90 คน ในรอบ Blind ทำให้รายการเข้มข้นขึ้น
“ปัญหาของการทำรายการคือ ทุกคนอยากได้เรตติ้ง ที่จะมาพร้อมกับเงินรายได้ สองสิ่งนี้ต้องมาพร้อมกัน
ทำให้ทุกคนต้องกัดฟัน สร้างเรตติ้ง ดังนั้นรายการทุกวันนี้จะหวังว่า จะมีกำไรเลยทันที มันไม่มีแล้ว ถ้าเราเห็นว่าทำรายการแล้วไม่มีกำไร เราก็ไม่ควรทำ”