สัมปทานฉบับสุดท้ายของวงการทีวีแอนะล็อกสิ้นสุดลง ในเที่ยงคืนวันที่ 25 มี.ค.63 เป็นการสิ้นสุดทีวีแอนะล็อกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ สำหรับกลุ่มช่อง 3 นับว่าเป็นวันที่กลับมาสู่จุดเริ่มต้น เป็นผู้ประกอบการทีวีช่อง 3 เพียง 1 ช่องเช่นเดิม
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ กลุ่มช่อง 3 ได้หันกลับมาปรับใช้โลโก้ช่อง 3 ดิจิทัลใหม่ เป็นการปรับจากโลโก้เดิมของช่อง 3 แอนะล็อก ในรูปลักษณ์ใหม่ ที่มีความสดใหม่ แวววาว กว่าเดิม ยกเลิกการใช้โลโก้ช่อง 3 ดิจิทัล ที่เคยใช้กับช่อง 3 HD ช่อง 3SD ช่อง 28 และช่อง 3Family ช่อง 13
โลโก้ของช่อง 3 แอนะล็อก คือภาพของความรุ่งเรืองเติบโตของช่อง 3 ในอดีต ในขณะที่โลโก้ช่องดิจิทัลทีวี เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มช่อง 3 ต้องเผชิญสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง จากที่เคยประสบความสำเร็จกำไรสูงลิ่ว จนมาอยู่ในสภาพขาดทุนจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้บริหารช่อง 3 ตัดสินใจกลับมาเลือกรูปแบบโลโก้ดั้งเดิม แต่ minor change เพื่อให้ดูแล้วมีความทันสมัยมากขึ้น คล้ายกับช่อง 7 ที่เมื่อปรับจากแอนะล็อก มาสู่ดิจิทัล ก็ปรับจากโลโก้เดิมเล็กน้อย พร้อมเติมคำว่า HD หลังโลโก้
โลโก้ของของช่อง 3 แอนะล็อก เกิดขึ้นมาเมื่อบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นั้น ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ลงนามในสัญญาดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์ ร่วมกับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511 โดยมีอายุสัญญา 10 ปี ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513-25 มีนาคม พ.ศ. 2523 ต่อมาในปี 2520 บริษัท ไทย โทรทัศน์ แปรรูปมาเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท.ได้รับโอนสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสิทธิในการดำเนินกิจการโทรทัศน์สีจากบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ซึ่ง อ.ส.ม.ท. ได้ตกลงทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันสิ้นอายุของสัญญาที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ทำกับบริษ้ท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2525 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 และได้ร่วมกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ขยายเครือข่ายโทรทัศน์ออกไปทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2530 และทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532
โดยสรุปอสมท ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563
ในช่วงต้นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ออกไปสู่สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคของแต่ละช่องทีวีในขณะนั้น ใช้ดาวเทียมคนละดวง ช่อง 5 และช่อง 7 ใช้ดาวเทียมของอินโดนีเซีย ชื่อ “ปาลาปา” ส่วนช่อง 3 และช่อง 9 ใช้ดาวเทียมของสากล ชื่อ “อินเทลแซ็ท”
สัญญาร่วมดำเนินกิจการฯ เป็นสัญญาประเภท Build Transfer and Operate (BTO) โดยให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สร้างขึ้นและจัดหามาทุกอย่างยกเว้นเงินทุนให้ตกเป็นของ อ.ส.ม.ท. นับแต่วันที่ได้กระทำขึ้นหรือจัดหา โดย บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จะต้องดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ในส่วนที่ ใช้ในการดำเนินการโดย จะต้องดำเนินการซ่อมแซมเปลี่ยนชิ้นส่วนตามอายุหรือจัดหามาทดแทนให้อยู่ในสภาพปฏิบัติงานได้ดีตลอดเวลา
- สัญญาดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับชมโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกอย่างทั่วถึง
- เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทฯ ต้องส่งมอบทรัพย์สินในสภาพที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ และส่งมอบสถานที่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่สัญญาสิ้นสุุด
สัญญาสัมปทานที่ช่อง3 ทำไว้กับอสมท มีการกำหนดการจ่ายค่าสัมปทานเป็นรายปีชัดเจนจนหมดอายุสัมปทาน โดยปี 2562 เป็นปีที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานสูงสุด ในวงเงิน 244.1 ล้านบาท และปี 2563 (จนถึง 25 มี.ค.63 เป็นเงิน 61.8 ล้านบาท นอกจากนี้ในสัญญามีการระบุว่าจะต้องส่งมอบอุปกรณ์ให้กับอสมท ตามสัญญา
ทั้งนี้ตัวเลขมูลค่าอุปกรณ์ที่จะต้องส่งมอบให้อสมท ทั้งหมด เป็นมูลค่ารวม 609 ล้านบาท แบ่งเป็น
อุปกรณ์เครือข่าย มูลค่า 349 ล้านบาท
อุปกรณ์ทีวีและวิทยุ มูลค่า 190 ล้านบาท
อุปกรณ์ส่งสัญญาณทีวีและวิทยุ มูลค่า 64 ล้านบาท
ตำนานแห่งความรุ่งเรืองในยุคแอนะล็อกของช่อง 3 กำลังจะปิดฉากลงไป แต่สัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองในอดีตของช่อง 3 ยังคงอยู่ ธุรกิจทีวียังคงต้องเดินหน้า มีการแข่งขันจากคอนเทนต์ที่หลากหลายช่องทางมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจและโรคระบาดทั่วโลก ขอให้ทุกฝ่ายฝ่าฟันวิกฤตเหล่านี้ไปให้ได้