บริษัท บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 9 ส.ค.นี้ว่า ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีผลประกอบการขาดทุน 103.6 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนต่อเนื่อง โดยเริ่มขาดทุนครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2560 โดยมีสาเหตุภาวะเศรษฐกิจ ตลาดโฆษณาลด
บีอีซี เวิลด์ได้แจ้งว่า ไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.092.3 ล้านบาท ลดลง 22.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,709.5 ล้านบาท ซึ่งขาดทุน 22.6 ล้านบาท
บีอีซี เริ่มมีผลประกอบการขาดทุนครั้งแรกจำนวน 335 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2560 ต่อมาในไตรมาสแรกของปี 2561 ขาดทุน 126 ล้านบาท พลิกฟื้นมามีกำไรในไตรมาส 3 จำนวน 78 ล้านบาท จากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ แต่ในไตรมาสที่ 4/2561 และไตรมาสแรกของปี 2562 กลับมาขาดทุนอยู่ที่ 260 ล้านบาท และ 128 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 2/2562 นี้ รายได้หลัก 86.7% ของกลุ่มช่อง 3 ยังคงมาจากรายได้ค่าโฆษณา ที่มีรายงานว่าไตรมาสนี้มีรายได้ค่าโฆษณาอยู่ที่ 1,814.8 ล้านบาท โดยลดลง 23% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2561 ที่มีรายได้ค่าโฆษณาอยู่ที่ 2,358.4 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันของตลาดทีวีดิจิทัลสูงขึ้น และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ในส่วนของรายได้จากค่าลิขสิทธิ์และบริการอื่นๆ เช่นคอนเทนต์ออนไลน์ใน Mello คิดเป็น 11.8% ของรายได้รวม โดยไตรมาส 2 / 2562 อยู่ที่ 246.2 ล้านบาท ลดลง 7.9% จาก 267.2 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2/ 2561 ที่มีรายได้หลักมาจากการขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและอีเวนท์อยู่ที่ 19.3 ล้านบาท ลดลง 72.3% จาก 69.5 ล้านบาทในไตรมาส 1/2561
ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมของบริษัท อยู่ที่ 1,867.4 ล้านบาท ลดลง 20.4% จาก 2.345.8 ล้านบาทในไตรมาส 2/2561 โดยส่วนใหญ่มาจากการลดต้นทุนจากการนำละครเก่า มารีรันออกอากาศ และการได้ลดค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายและค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่กสทช.เข้ามาช่วยเหลือตามคำสั่งคสช.
ทั้งนี้บีอีซี ระบุว่า จากการที่มี “อริยะ พนมยงค์” มาเป็น President คนใหม่ของกลุ่มตั้งแต่ 18 เม.ย.2562 ซึ่งอริยะ เป็นมืออาชีพด้านธุรกิจออนไลน์ ซึ่งบริษัทได้มีแผนระยะสั้นในการหารายได้ ทั้งจากธุรกิจทีวีที่เป็นธุรกิจหลัก ธุรกิจออนไลน์ และขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ และยังมีการทำแผนระยะยาวในการต่อยอดรายได้จากธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพการแข่งขันของตลาด และพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงในการรับชมคอนเทนต์ของผู้บริโภค
ตั้งแต่อริยะ เข้ามารับตำแหน่ง ได้มีการปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูง มีการรับผู้บริหารใหม่เข้ามาจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจาก LINE จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และกลุ่มทรู มากกว่า 10 คน
ในขณะเดียวกันกลุ่มช่อง 3 เพิ่งมีการลดพนักงาน ไปประมาณ 154 คน โดยระบุสาเหตุหลักในการลดพนักงานเนื่องจากคืนช่อง 3SD และช่อง 3 Family ที่มีแผนจะปิดช่องในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยจะได้รับเงินเยียวยาจากกสทช.จำนวน 680 ล้านบาท และ 163 ล้านบาท ตามลำดับ