ยกขบวนจิตอาสาร่วมศึกษาดูงาน ‘ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ’ ในกิจกรรม “ช่อง 3 อาสาทำดี รีไซเคิลพลาสติก คืนชีวิตให้สิ่งแวดล้อม” ณ จังหวัดระยอง
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นำโดย คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร พนักงานจิตอาสา และนักแสดงจากซีรีส์ ‘Twin The Series สลับรัก นักลูกยาง’ เฟรม-ฤทธิ์ชนนท์ ศรีประสิทธิ์เดชา, ไรอัน-ปัญญา แม็คเชน, มีมี่-ฤทัยภัทร พัทธนนปภังกร และ ทีม-ธัชนนท์ ทองเภ้า ร่วมกิจกรรม “ช่อง 3 อาสาทำดี รีไซเคิลพลาสติก คืนชีวิตให้สิ่งแวดล้อม” ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
วิสาหกิจชุมชนบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนา พอเพียง ยั่งยืน” โดยให้ผู้อยู่อาศัยร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน มีโรงคัดแยกขยะ จัดสถานที่ทิ้งขยะอันตราย โรงหมักน้ำชีวภาพ แปลงผักปลอดสารพิษ การนำขยะรีไซเคิลมาแปรรูป ซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและยังได้รับรางวัลด้านการจัดการขยะอย่างมากมายนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พนักงานจิตอาสาได้เรียนรู้เรื่องการคัดแยกและการจัดการขยะ นำขยะรีไซเคิลมาแปรรูปเป็นสิ่งใหม่ ทั้งกิจกรรมการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่รับบริจาคภายในองค์กร มาบดแล้วรีดเป็นเส้นหวายสำหรับสานเป็นตะกร้า ซึ่งตะกร้าดังกล่าวได้นำมาจัดชุดสังฆทาน ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์วัดหนองน้ำขุ่น และกิจกรรมการนำซองกาแฟ ซองขนม ซองน้ำยาซักผ้ามาบดผสมปูนเพื่อขึ้นรูปเป็นอิฐบล็อกและกระถางต้นไม้ นอกจากนี้ จิตอาสายังร่วมกันปลูกต้นกระบองเพชรจากกระถางต้นไม้ที่รีไซเคิลแล้ว ซึ่งนอกจากพนักงานจะได้เรียนรู้การรีไซเคิลขยะพลาสติกแล้ว ยังได้รับความสนุกสนานจากการได้ลงมือปฏิบัติจริงอีกด้วย
นอกจากนั้น พนักงานยังได้ล่องเรือและปั่นจักรยานชื่นชมธรรมชาติ เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่ชุ่มน้ำป่าเสม็ด ณ สวนพฤกษศาสตร์ จังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นสวนพันธุ์ไม้ที่สำคัญในภาคตะวันออก โดยได้ทดลองเดินบนพื้นหญ้าแพหนังหมา ที่มีลักษณะเป็นหญ้าทับถมกันจนสูงประมาณ 1 เมตร และชื่นชมป่าดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่อายุหลายร้อยปีที่เจริญเติบโตในที่ลุ่มน้ำ
ช่อง 3 ในฐานะสื่อมวลชนชั้นนำ ขอสนับสนุนการจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการคัดแยกที่ปลายทางและการฝังกลบ เพื่อโลกที่น่าอยู่ของเรา