ตอนที่ 3 : เซฟค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล กลุ่มไหนลดค่าใช้จ่ายสูงสุด
ค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งของภาระหนักของกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล ที่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือ MUX จากผู้ให้บริการโครงข่าย MUX ทั้งหมด 4 ราย 5 MUX ได้แก่ ททบ.5 จำนวน 2 MUX, ไทยพีบีเอส, อสมท. และกรมประชาสัมพันธ์ รายละ 1 MUX
ราคาค่าเช่าโครงข่ายของ 5 MUX 4 ผู้ให้บริการมีการกำหนดราคาใกล้เคียงกัน โดย ททบ.5 ตั้งราคาค่าเช่า MUX ไว้ถูกว่าอีก 3 รายที่เหลือ โดยราคาค่าเช่า MUX ช่อง 5 สำหรับช่อง SD อยู่ที่ เดือนละ 3.5 ล้านบาท ส่วน ช่อง HD มีราคาค่าเช่า 3 เท่าของช่อง SD อยู่ที่ราคาเดือนละ 10.5 ล้านบาท อีก 3 ราย ตั้งราคาค่าเช่า SD ไว้ที่เดือนละ 3.6 ล้านบาท และ HD ที่ราคา 10.8 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่ใช้บริการ MUX ของททบ.5 มีทั้งหมด 14 ช่องประกอบไปด้วย 5 ช่อง HD -ช่อง 7, ช่องวัน, อมรินทร์ทีวี , พีพีทีวี และช่อง 5 และอีก 9 ช่อง SD – เวิร์คพอยท์, โมโน, จีเอ็มเอ็ม25, สปริง26, เนชั่นทีวี, ทรูโฟร์ยู, ทีเอ็นเอ็น, นิวทีวี และไบรท์ทีวี
กลุ่มช่องที่ใช้บริการ MUX ของไทยพีบีเอส มี 5 ช่อง เป็น HD 2 ช่อง – ช่อง 3 HD และ ไทยพีบีเอส และอีก 3 ช่อง SD – ช่อง 3SD, 3Family และ ช่อง 8
สำหรับ MUX ของอสมท.มีทั้งหมด 6 ช่อง เป็น 2 ช่องHD – ไทยรัฐทีวี และช่อง 9HD และอีก 4 ช่อง SD- สปริงนิวส์, วอยซ์ทีวี, MCOT Family และ ทีวีรัฐสภา
ส่วน MUX ของกรมประชาสัมพันธ์มีเพียง 1 ช่อง HD – ช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์เอง
ทั้งนี้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 4/2562 ฉบับนี้ นอกจากยกเว้นการจ่ายเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายของทุกช่องทีวีดิจิทัลในวงเงินรวม 13,622.4 ล้านบาทแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือการจ่ายค่าเช่า MUX ให้กับทุกช่องจนถึงสิ้นสุดใบอนุญาต เป็นเวลา 9 ปี 6 เดือน รวมเป็นมูลค่ารวม 18,604.8 ล้านบาท
กลุ่มช่องที่มีใบอนุญาตมากที่สุดจึงเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด จากการที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า MUX โดยที่กลุ่มช่อง 3 ที่มี 3 ใบอนุญาต มีภาระค่าเช่า 3 ช่อง ปีละ 216 ล้านบาท จึงได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมทั้งหมด 2,052 ล้านบาท ตลอดอายุใบอนุญาต
กลุ่มที่มี 2 ช่อง ตั้งแต่ช่อง 9 มีภาระค่าเช่า MUX ปีละ 172.8 ล้านบาท แต่เป็นการจ่ายค่าเช่าให้กับอสมท.เอง , กลุ่มช่องทรู ทั้งทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น รวมปีละ 84 ล้านบาท
หากนับรวมกลุ่มช่องของตระกูลปราสาททองโอสถ ที่ถือหุ้นใหญ่ในพีพีทีวี และช่องวัน แล้ว จะเซฟไปได้ถึง ปีละ 126 ล้านบาทต่อช่อง รวม 2 ช่องลดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 252 ล้านบาท มูลค่ารวมถึงสิ้นสุดใบอนุญาตอยู่ที่ 2,394 ล้านบาทเลยทีเดียว
ในขณะที่กลุ่มครอบครัวสิริวัฒนภักดี ในช่องอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม 25 ก็จะเซฟได้ ปีละ 168 ล้านบาท รวมตลอดอายุใบอนุญาต 1,596 ล้านบาท
ประกาศคสช.ฉบับนี้ เท่ากับเป็นการลดค่าใช้จ่ายหลักทั้งหมดของกลุ่มทีวีดิจิทัล ยังคงเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนค่าเช่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมหรือ Must Carry อีกรวมกันทุกช่องประมาณปีละ 700 ล้านบาท ที่แต่ละช่องยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่
ภาระหนักที่ลดลงไปเหล่านี้ คาดหวังว่า จะทำให้ทีวีดิจิทัลทุกช่อง หันไปทุ่มเทกับการผลิตคอนเทนต์ สร้างสรรค์รายการใหม่ๆ ให้ถูกใจผู้ชมทีวี ที่แตกกระจายไปในหลายแพลทฟอร์ม โดยเชื่อว่า หากคอนเทนต์ดี มี impact ไม่ว่าจะเผยแพร่ในช่องทางใด ย่อมได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างแน่นอน
เมื่อต้นทุนหลักถูกยกออกจากอก และคำสั่งคสช.ยังเปิดทางให้คืนใบอนุญาตได้ด้วย แต่ละช่องที่มีข่าวในเบื้องต้นว่า อยากจะขอคืนใบอนุญาต คงต้องกลับไปคิดคำนวณกันใหม่
สุดท้ายแล้ว จะมีกี่ช่องที่ถอดใจ ภายใน 10 พ.ค.คงได้รู้กัน