สำรวจ 7 ช่องทีวีดิจิทัล หลังคืนช่อง มุ่งช่องหลัก-ลงออนไลน์

วิเคราะห์เจาะเรตติง เรตติ้งช่อง

บทสรุป 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ยื่นขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้น มาจาก 5 กลุ่มบริษัท โดยที่ 3 กลุ่มบริษัททิ้งใบอนุญาตที่ถืออยู่มากกว่า 1 ใบ ที่ได้ประกาศไว้ว่ากลับไปเดินหน้าลุยช่องทีวีดิจิทัลที่ยังเหลืออยู่รายละ 1 ใบ และอีก 2 บริษัทประกาศชัดเจนว่ามุ่งหน้าลงช่องทางออนไลน์

กลุ่มแรก 3 บริษัทประกอบด้วย ช่อง 9 อสมท ที่มีใบอนุญาต 2 ใบ 2 ช่อง, ช่อง 3 มี 3 ช่อง และกลุ่มเนชั่น-สปริงนิวส์ รวมกัน 3 ช่อง และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ วอยซ์ทีวี และไบรท์ทีวี

กลุ่มช่อง 3 สิ้นสุดความหวาดกลัวจากสภาพ “ขาดทุน”

การตัดสินใจคืนช่องทีวีดิจิทัลถึง 2 ช่องของกลุ่มช่อง 3 แสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานสถานะทางการเงินของกลุ่มช่อง 3 ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ยังขาดทุนอยู่ที่ 128 ล้านบาท

ตัวเลขสำคัญที่ทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง ยังมาจากรายได้จากค่าโฆษณาที่ยังไม่โตอย่างที่คิด ซึ่งมีผลกระทบกับทุกช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 3 ตัดสินใจเบื้องต้นว่ายังไงก็ต้องคืนช่องเด็ก เพราะข้อจำกัดของความเป็นช่องเด็ก ตามกฏเกณฑ์ของกสทช.ระบุไว้ว่า ช่องเด็ก คือช่องที่มีคอนเทนต์ที่เด็กดูได้ตลอด 24 ชม และต้องมีโฆษณาที่เหมาะสมกับเด็ก ทำให้นอกจากหาคอนเทนต์ยากแล้ว ยังเจอปัญหาหาโฆษณาไม่ได้ เพราะโฆษณาที่เหมาะสมกับเด็ก มีเงื่อนไขรายละเอียดมากมายตามข้อกำหนดการโฆษณาสินค้าของเด็กของสมาคมโฆษณา

รายได้จากช่องเด็ก ช่อง 13 ที่แจ้งไว้กับกสทช.มีรายได้ในปีแรก 2557 อยู่ที่ 112 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 140 ล้านบาท 128 ล้านบาท ในปี 2558-2559  และอยู่ที่ 100 ล้านบาทเท่านั้นในปี 2560 ตัวเลขเหล่านี้ชี้ทิศทางช่องเด็กได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีอนาคต จึงเป็นช่องอันดับแรกที่ต้องขอคืนเป็นการด่วน

แต่กรณีช่อง 3SD หรือช่อง 28 ที่มาพร้อมกับฐานผู้ชม และเรตติ้งในอันดับท็อปเท็น สูงสุดในอันดับ 7 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคอนเทนต์ละครรีรันเป็นหลัก เสริมผังด้วยซีรีส์ต่างประเทศ และรายการกีฬามวยไทย ดูสภาพจากต้นทุนช่องไม่น่าจะมีมากนัก แต่มีรายได้ชัดเจน สภาพดีกว่าอีกหลายๆช่องในวงการทีวีดิจิทัล

นับเป็นงานยาก ในการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ที่มีรายงานข่าวว่ากลุ่มพี่น้องลูกหลานในตระกูล “มาลีนนท์” ต้องปิดห้องประชุมเครียดกันนานหลายชั่วโมง และสุดท้ายก็ตัดสินใจยกเลิกช่อง 3SD ด้วยเหตุผลทางการเงินล้วนๆ ด้วยข้อเสนอเงินชดเชยรวมประมาณ 1 พันล้านบาทจากกสทช. พร้อมๆกับความหวังว่า จะไม่กลับไปเผชิญหน้ากับสภาพ “ขาดทุน”อีกต่อไป

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จำนวนพนักงานรวม 2 ช่องอาจจะอยู่หลักร้อย แต่ที่มากกว่าคือ กลุ่มผู้ผลิตรายการใน 2 ช่อง ที่ต้องวิ่งหาที่ทางใหม่ในการทำธุรกิจ 

อสมท.ตั้งเป้ากลับสู่ท็อปเท็น

ช่อง 9 อสมท.ระบุว่า การคืนช่องเด็ก ก็เพื่อไปมุ่งมั่นพัฒนาคอนเทนต์ในช่อง 9 อสมท. ให้กลับมาติดอันดับท็อปเท็นอีกครั้ง ช่อง 9 เคยเป็นช่องในกลุ่มท็อปเท็นทีวีดิจิทัลมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561 เพิ่งมาหลุดกลุ่มท็อปเท็นในปี 2562 จากคู่แข่งที่มีมากขึ้น เรตติ้งประจำเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ช่อง 9 หลุดไปอยู่ในอันดับ 13 แล้ว

ที่ผ่านมาการมีช่องเด็ก เป็นภาระหนักกับอสมท เนื่องจากมีข้อจำกัดมาก ตามกฏเกณฑ์ที่กล่าวไว้ข้างต้นทั้งคอนเทนต์และโฆษณา ทำให้อสมท ประสบความยากลำบากในการบริหารจัดการช่องนี้

เมื่อไม่มีโฆษณาเข้า หาคอนเทนต์ยาก อสมท จึงต้องดิ้นรน มีการปรับเปลี่ยนแนวทางช่องหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ไปรอด มีรายได้ที่แจ้งไว้กับกสทช.น้อยมาก ปีแรก 2557 มีเพียง 6 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 24 ล้านบาท และ 29 ล้านบาท ในปี 2558 และ 2559  ส่วนในปี 2560 ยังมีรายได้เพียงแค่ 100 ล้านบาทเท่านั้น

การยกเลิกช่องเด็ก จึงเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพื่อจัดคนไปสู้ในช่อง 9 ให้แข็งแรงมากขึ้น นอกจากพนักงานภายในอสมท.ได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีผู้ผลิตภายนอก ที่จัดทำรายการ ทั้งรายการเด็ก และรายการขายสินค้าในช่อง น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อวสาน สปริงนิวส์ บนทีวีดิจิทัล

สปริงส์นิวส์ เริ่มต้นจากธุรกิจทีวีดาวเทียม ตั้งแต่ปี 2553 ในยุคทีวีดาวเทียมเฟื่องฟู เป็นช่องข่าวดัง มีฐานแฟนคลับชัดเจน เมื่อเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล อาศัยฐานของทีวีดาวเทียม ต่อยอดมาสู่ทีวีดิจิทัล เคยมีอันดับสูงสุดในปี 2557 ปีแรกของยุคทีวีดิจิทัล อยู่ในอันดับ 18 แต่ด้วยสภาพการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น สถานะความเป็นช่องข่าวล้วน เรตติ้งจึงค่อยๆหล่นลงไปอยู่อันดับท้ายๆของตาราง จนปี 2561 อยู่ในอันดับ 24

ในขณะที่กลุ่มเนชั่น ประมูลทีวีดิจิทัล 2 ใบ ด้วยความมุ่งหมายเบื้องต้นให้เป็นช่องข่าวทั้ง 2 ใบ แต่ประมูลช่องข่าว 2 ใบไม่ได้ตามกฏกติกา จึงมาลงที่กลุ่มช่องวาไรตี้ แยกทีมผู้บริหารออกจากกันชัดเจน โดยเนชั่นทีวี มีฐานผู้ชมจากสมัยทีวีดาวเทียมชัดเจนแข็งแกร่ง เคยได้อันดับ 11 ในปีแรกของทีวีดิจิทัล แล้วค่อยๆหล่นลงมาในช่วงปี 2558 ก่อนที่จะค่อยๆไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 15 ในปี 2561 ส่วนเรตติ้งเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำได้ในอันดับ 11 อีกครั้ง

ส่วนช่องนาว 26 เป็นช่องใหม่ จากทีมงานหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่ต้องการสร้างช่องให้เป็นสถานีข่าวเศรษฐกิจของไทยแบบ CNBC  จึงต้องใช้เวลา เรตติ้งอยู่ในอันดับท้ายๆในปีแรก ที่อันดับ 27  จากช่องที่ไม่มีใครรู้จัก ค่อยๆขึ้นมา หลังจากปรับธีมช่องให้เป็นช่องวาไรตี้มากขึ้น จัดสารคดี และซีรีส์ลงผัง จนมาลงตัวที่เป็นช่องที่มีการถ่ายทอดสดมวยไทยทุกวัน ที่กลายเป็นคอนเทนต์เด่นที่สุดของช่อง จนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 11 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2559-2561

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ได้เปลี่ยนชื่อช่องนาว 26 เป็น สปริง 26 ไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่หลังจากเปลี่ยนชื่อช่อง เรตติ้งก็ลดลง จนในเดือนเม.ย.อยู่ในอันดับที่ 12

เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นของสปริงนิวส์เข้าไปเทคโอเวอร์กลุ่มเนชั่น ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้มีช่องทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่อง จึงจำเป็นต้องคืนช่อง คงเหลือเพียงเนชั่นทีวี ที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดไว้เพียงช่องเดียว

นอกเหนือจากพนักงานของทั้ง 2 ช่องที่ต้องปิดตัวลงไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือบรรดาผู้ผลิตรายการของทั้ง 2 ช่อง กรณีสปริงนิวส์ คงมีพนักงานไม่มาก เพราะกลายเป็นช่องขายสินค้า TV Shopping  ไปได้พักใหญ่แล้ว ส่วนสปริง 26 พูลข่าวกับช่องเนชั่นทีวีอยู่แล้ว แต่ก็มีรายการแยกออกมาหลายรายการ และยังมีโปรแกรมถ่ายทอดสดมวยไทย ที่บรรดาเจ้าของสิทธิ์คงต้องวิ่งเจรจากับช่องทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ทั้งหมดแทน อย่างไรก็ตามคาดว่าเบื้องต้น คงกระทบพนักงานหลักร้อยคนเช่นกัน

ไบรท์ทีวี มุ่งออนไลน์

ไบรท์ทีวี ของกลุ่ม 3 เอ มาร์เกตติ้ง เป็นกลุ่มที่มาจากการเป็นผู้ผลิตรายการข่าวให้กับช่อง 5 มาเป็นเวลานาน ก้าวเข้าสู่สนามทีวีดิจิทัล ด้วยความคาดหวังส่วนแบ่งรายได้โฆษณาจากตลาดทีวี  เปิดตัวปีแรก อยู่ที่อันดับ 25 แต่ด้วยความเป็นช่องใหม่ และเป็นช่องข่าว ที่มีการแข่งขันสูงจากช่องใหญ่ๆด้วย อันดับและเรตติ้งของช่องจึงอยู่ในกลุ่มท้ายแถวมาโดยตลอด

ที่ผ่านมาไบรท์ทีวี มีการขยายงานไปสู่ช่องทางออนไลน์ ด้วยการต่อยอดจากแบรนด์ไบรท์ทีวี จนพอมีรายได้เลี้ยงตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ติดที่ปัญหาการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตที่เป็นเงินก้อนใหญ่ ด้วยจำนวนเงินชดเชยที่แสนจูงใจ ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจ ทิ้งทีวีดิจิทัล ลงสู่ช่องทางออนไลน์ และอาจจะขยายงานไปสู่การรับเป็นผู้ผลิตรายการเหมือนในอดีต

วอยซ์ทีวี ลงออนไลน์ สบายกว่า ไร้กฏกสทช.

ด้วยความเป็นช่องข่าวการเมืองชัดเจน วอยซ์ทีวีที่มีเจ้าของเป็นตระกูล “ชินวัตร” ทำให้อยู่ในสถานการณ์ลำบากกว่าช่องข่าวอื่นๆ จึงมักโดนตักเตือนในหลายระดับขั้นจากกสทช.ในฐานะผู้คุมกฎตลอดเวลา โดนปิดช่องชั่วคราว พักการออกอากาศไปหลายหน เรื่องเงินคงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเจ้าของช่อง แต่การออกจากกฎข้อบังคับ คงเป็นเรื่องใหญ่กว่า

วอยซ์ทีวี ประกาศหลังยื่นขอคืนช่องว่า จะเข้าสู่แพลทฟอร์มทีวีดาวเทียม และออนไลน์ทั้งช่องทางเฟซบุ๊ก และยูทูป เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ จะเป็นสถานีข่าวเข้มข้น มีคุณภาพ และพยายามตอกย้ำจุดยืนหลักว่า ยืนหยัดหลักประชาธิปไตย ที่เป็นจุดเด่นของช่อง

การเข้าสู่เพลทฟอร์มทีวีดาวเทียม ยังคงอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของกสทช.แต่มีการผ่อนคลายมากกว่าการเป็นฟรีทีวีในระบบทีวีดิจิทัล แต่การลงช่องทางออนไลน์ เป็นรูปแบบอิสระ ที่กสทช.ไม่ได้มีกฎกติกาเข้าไปควบคุม แม้ว่าก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามจะเข้ามาตั้งกฏกติกาไปบ้างก็ตาม แต่ความขัดแย้งภายในของผู้มีอำนาจของไทย ทำให้แผนการ “แท้ง”ไปเสียก่อน จึงมีแต่เพียงกฎหมายอื่นๆ เช่นพรบ.คอมพิวเตอร์

การปรับตัวครั้งใหม่ของวอยซ์ทีวี ในช่องทางออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่า ดีกรีข่าวจะเดินต่อไปถึงระดับไหน

Tagged