ดูเหมือนว่า รายการแข่งขันร้องเพลงยอดนิยมของไทย เดอะวอยซ์ (The Voice) ที่เคยได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย กำลังเผชิญหน้ากับความนิยมลดลง วัดได้จากเรตติ้งรายการที่กำลังลดลงเรื่อยๆ หลังจากที่ย้ายมาสู่ช่องพีพีทีวี
The Voice เป็นรายการ ลิขสิทธิ์จากทัลปา เนเธอร์แลนด์ ยักษ์ใหญ่วงการมีเดีย เจ้าของลิขสิทธ์รายการวาไรตี้ เกมโชว์ชื่อดังของโลก เริ่มออกอากาศครั้งแรกในประเทศไทยปี 2555 ในช่อง 3 โดยเป็นการซื้อลิขสิทธิ์รายการจากบริษัทเอพี แอนด์ เจ ซึ่งเป็นบริษัทรร่วมทุนกับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เช่าเวลาออกอากาศช่อง 3 ในช่วงเย็นวันอาทิตย์
การเปิดตัวในซีซันแรก สร้างความฮือฮากับรูปแบบรายการใหม่ ของการประกวดร้องเพลงของไทย ทำเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศได้สูงสุดในซีซันแรกถึง 7.3 และยังได้รับความนิยมต่อเนื่องในซีซันที่ 2 มีตอนที่ได้เรตติ้งสูงสุดถึง 8.4
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 เริ่มมีทีวีดิจิทัล จากสถานการณ์คู่แข่งในช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่มีมากขึ้น ทั้งจากช่องเก่าอย่างช่อง 7 และช่องใหม่ๆ เช่นเวิร์คพอยท์ ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยของซีซันต่อๆมา เรตติ้งลดลงมาเรื่อยๆ โดยในซีซันที่ 4 มีเรตติ้งเฉลี่ย 4.487 , ซีซันที่ 5 เฉลี่ย 3.333 และ ซีซันที่ 6 ซีซันสุดท้ายที่อยู่ที่ช่อง 3 ได้เรตติ้งเฉลี่ย 3.283
ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ และการแข่งขันสูงทำให้เอพีแอนด์เจ ตัดสินใจยุติบทบาทผู้ผลิตรายการ The Voice ที่รวมถึง The Voice Kids ที่ทำมาแล้ว 5 ซีซีน ให้ทางช่อง 3 และย้ายออกมาเป็นผู้รับหน้าที่ รับจ้างผลิตรายการให้กับช่องพีพีทีวี ของกลุ่มปราสาททองโอสถแทน และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป็น เอพีเจ แอนด์โค โดยที่ไม่มีกลุ่มทรูถือหุ้นอีกต่อไป
พีพีทีวีก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการ The Voice คนใหม่ ในระยะเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะต้องผลิตรายการ The Voice Senior ในแต่ละปีด้วย รวมทั้งหมด 3 รายการต่อ 1 ปี ในระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งหมด 6 รายการ โดยพีพีทีวีเคยประกาศว่า ได้ทุ่มทุนกว่า 500 ล้านบาท สำหรับค่าลิขสิทธิ์และค่าผลิตรายการทั้งหมด
เปิดตัวครบ 3 รายการ เรตติ้งวูบ
เดอะวอยซ์เปิดตัว ครั้งแรกช่องพีพีทีวี ในชื่อ เดอะวอยซ์ 2018 หรือเป็นซีซัน 7 ในประเทศไทย ออกอากาศครั้งแรก 19 พ.ย.2561 ด้วยทีมโค้ชเก่า ที่รวมถึงการกลับมาของ “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” และ “ป๊อป ปองกูล” ที่เป็นโค้ชคนใหม่ สร้างสีสันให้กับรายการ โดยเฉพาะในรอบ Blind Audition ที่ทำเปิดตัวเรตติ้งด้วย 0.575 แม้ไม่มากเท่ากับที่เคยอยู่ช่อง 3 แต่ก็นับว่าสูงที่สุดในบรรดารายการภาคบันเทิงของช่องพีพีทีวีในช่วงนั้น แถมยังเป็นรายการหลักนอกจากรายการกีฬา ที่ช่วยดันให้ช่องพีพีทีวี เข้าไปติดอันดับ 10 ของตารางกลุ่มท็อปช่องทีวีดิจิทัลประจำเดือนก.พ.2562 ได้เป็นครั้งแรก
ซีซัน 7 นี้มีเรตติ้งสูงสุดที่ 0.969 ในตอนที่ 4 และจบลงด้วยเรตติ้งเฉลี่ยทั้งซีซันนี้ที่ 0.775
เมื่อต้องออกอากาศต่อเนื่อง ผู้ผลิตกลับเลือก The Voice Senior รายการที่ยังไม่เคยผลิตในประเทศมาก่อน มาออกอากาศต่อ แต่ด้วยรูปแบบรายการ คนร่วมรายการ กลุ่มผู้ใหญ่ เน้นอารมณ์ ความสุข ครอบครัวของผู้สูงวัย ขาดสีสันจัดจ้านเรื่องการแข่งขัน แย่งชิง แถมยังมีอารมณ์เพลงของผู้สูงวัย ทำให้กระแสรายการไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก เรตติ้งเปิดตัวอยู่ที่ 0.523 เท่านั้น
The Voice Senior ออกอากาศทั้งหมดเพียง 4 ตอน เรตติ้งสูงสุดเพียงตอนแรก และจบไปอย่างเงียบๆ ด้วยเรตติ้ง 0.406 มีเรตติ้งเฉลี่ยตลอดซีซัน 1 นี้อยู่ที่ 0.441 โดยมีฐานผู้ชมหลักอยู่ในกลุ่มคนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปตามความคาดหมาย
พีพีทีวีจัดออนแอร์ The Voice Kids Thailand หรือซีซันที่ 6 ของไทย ต่อเนื่องทันที โดยที่รูปแบบรายการ ไม่ได้แตกต่าง จากที่เคยออกอากาศทางช่อง 3 มากนัก มีเด็กๆมากความสามารถ ฉายแววได้ดีหลายคน พร้อมโค้ชคนใหม่ ถึง 2 คน ทั้ง “แหม่ม พัชริดา” และ “โจ๊ก โซคูล” แต่ด้วยฐานผู้ชมของช่องที่ยังมีน้อย และมีแรงส่งต่อจาก The Voice Senior อย่างน้อยนิด การเปิดตัวในตอนแรกจึงมีเรตติ้งเบาบางลงเรื่อยๆ จากเรตติ้งเปิดตัวอยู่ที่ 0.377 ตอนที่ 2 ได้ 0.349 และตอนล่าสุดตอนที่ 3 ได้เพียง 0.270 รวม 3 ตอนได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.332
แม้ภาพรวมเรตติ้ง The Voice Kids ยังถือว่าสูงกว่าเรตติ้งเฉลี่ยของช่องในเดือนมี.ค.ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 0.197 อยู่ในอันดับ 11 แต่ก็น้อยกว่าบางรายการเดิมของช่อง
บทสรุปของกลุ่มรายการ The Voice ในช่องพีพีทีวี ที่เปลี่ยนจากรายการออนแอร์เย็นวันอาทิตย์เมื่อครั้งอยู่กับช่อง 3 ไปสู่ผังไพรม์ไทม์คืนวันจันทร์ ช่องพีพีทีวี ยังต้องเหนื่อยหนัก เพราะต้องแข่งขันกับคอนเทนต์แข็งแกร่งจากช่องใหญ่ๆ ทั้งละคร เกมโชว์ หนังดัง และรายการข่าว ที่มาตามกระแสสถานการณ์ข่าว
พีพีทีวีคงต้องคิดหนัก เพราะการรูปการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า กลยุทธ์การดึงรายการดังจากช่องอื่นมาร่วมสร้างความนิยมช่อง ยังไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้