นับถอยหลัง เตรียมจอดำ “สปริงนิวส์” ผลงาน 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล

รายได้ทีวีดิจิทัล เรตติ้งช่อง

 “สปริงนิวส์” หนึ่งใน 2 ช่องของกลุ่มเนชั่นทีวี และนิวส์ คอร์ปอเรชั่น ที่แจ้งคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล มีกำหนดยุติการออกอากาศอย่างเป็นทางการในคืนวันที่ 15 ส.ค.นี้

จากข้อมูลใน “หนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิตอล” ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้มีการสรุปผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีของช่องทีวีดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการในปี 2557 จนถึงสิ้นสุดปี 2561 ซึ่งในส่วนของช่องสปริงนิวส์นั้น มีรายละเอียดรวมตั้งแต่ ข้อมูลเรตติ้ง ที่เจาะลึกลงถึงฐานผู้ชมช่อง พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อายุ และเพศของกลุ่มผู้ชมของช่อง รวมถึงประเภทสัดส่วนรายการของช่องที่จัดลงผังรายการในแต่ละปี และยังมีรายได้จากการประกอบกิจการของช่องในแต่ละปี ที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานกสทช. ดังนี้

 

สปริงนิวส์ : จากช่องข่าวสู่ TV Shopping

จุดเด่น: รายการข่าว และ TV Shopping

 

สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เปิดตัวในฐานะช่องข่าวในโครงข่ายทีวีดาวเทียม ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีฐานผู้ชมของช่องจำนวนหนึ่ง และเมื่อมาเปิดตัวในฐานะช่องหมวดหมู่ข่าวสารและสาระในทีวีดิจิตอล จึงไม่ใช่ช่องที่ต้องเริ่มสร้างแบรนด์ใหม่อีกครั้ง

การเปิดตัวครั้งแรกในเครือข่ายทีวีดิจิตอล ปี 2557 ช่องสปริงนิวส์มีเรตติ้งอยู่ในอันดับ 16 เปิดตัวได้ดี เนื่องจากชื่อเสียงช่องที่มาจากเครือข่ายทีวีดาวเทียม แต่สภาพการแข่งขันสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกับช่องใหญ่ทั้งช่องดั้งเดิม และช่องใหม่ที่ต่างลงทุนรายการข่าวเช่นกัน สปริงนิวส์ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับช่องหมวดหมู่ข่าวสารและสาระช่องอื่นๆ อันดับช่องจึงตกลงมาอยู่ในอันดับ 22 ในปี 2558 และอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับสุดท้ายในช่วงปี 2558-2561

 

เดือนกุมภาพันธ์ 2561 บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ที่ทำธุรกิจขายสินค้าประเภท TV Shopping ได้เข้ามาเช่าเวลาช่องสปริงนิวส์ เพื่อขายสินค้าผ่านช่องสปริงนิวส์ โดยเบื้องต้นเช่าเวลาวันละ 12 ชั่วโมง ก่อนขยายมาเป็น 18 ชั่วโมงในเดือนพฤษภาคม 2561

 

ในช่วงปลายปี 2561 บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) และบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้มีข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกัน ขยายขอบเขตธุรกิจ โดยที่ บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด แต่ได้ยุติไป จากกรณีที่กสทช.จะมีมาตรการชดเชยให้กับทีวีดิจิตอลที่ขอคืนช่อง แต่ทีวีไดเร็คก็ยังเช่าเวลาในช่องสปริงนิวส์ เพื่อขายสินค้า TV  Shopping อยู่เช่นเดิม

 

จากสัดส่วนรายการที่ออกอากาศในช่องสปริงนิวส์ จากที่ให้น้ำหนักในรายการที่ผลิตเอง มีสัดส่วนถึง 81.73% ในปี 2558 ก็เริ่มเห็นสัดส่วนของการเช่าเวลาออกอากาศที่มีสัดส่วนมากขึ้นในปี 2561 จำนวน 14.48% และสัดส่วนของรายการผลิตเองลดลงมาอยู่ที่ 71.85%

 

เมื่อผู้ถือหุ้นของช่องสปริงนิวส์ เข้าไปถือหุ้นในกลุ่ม Nation TV  และ SPRING26 ( หรือช่อง NOW 26 ในขณะนั้น) อย่างเป็นทางการในปี 2561 ทั้ง 3 ช่อง ได้มีความร่วมมือในการรายงานข่าวแบบรวมศูนย์ โดยมี Nation TV เป็นแกนหลัก และแบ่งรูปแบบเนื้อหารายการของทั้ง 3 ช่องให้มีความแตกต่างกัน โดยที่ Nation TV ยังคงเน้นที่รายการข่าวเป็นหลัก ส่วน SPRING26 มีรายการถ่ายทอดสดมวยไทยเป็นรายการหลัก ในขณะที่ช่องสปริงนิวส์ยังคงให้น้ำหนักในการเป็นช่อง TV Shopping

ข้อมูลรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิตอลของช่องสปริงนิวส์ที่แจ้งไว้กับสำนักงาน กสทช.นั้น พบว่ามีรายได้ในปีแรก 130 ล้าน และเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกปี มาอยู่ที่ 224 ล้านบาทในปี 2561

 

รายละเอียดเพิ่มเติม https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/620700000011.pdf

นอกจากนี้ ข้อมูลผลประกอบการของบริษัทสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ที่ได้รายงานผลประกอบการไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้น พบว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สปริงนิวส์มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยขาดทุนในปีแรก ปี 2557 อยู่ที่ 84.55 ล้านบาท และสูงสุดในปี 2559 ขาดทุนเป็นจำนวน 211.45 ล้านบาท ส่วนในปี 2561 ลดการขาดทุนมาเหลือ 16.26 ล้านบาทและเป็นปีที่มีรายได้สูงสุดอยู่ที่ 239.42 ล้านบาท แม้จะมีผลประกอบการดีขึ้น แต่การเป็นช่องที่มีเรตติ้งในอันดับสุดท้าย ได้รับความนิยมน้อยที่สุด อีกทั้งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทก็ยังมีใบอนุญาต “เนชั่นทีวี” ที่มีแบรนด์ติดตลาด และมีเรตติ้งในระดับดีกว่า จึงเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ต้องขอคืนใบอนุญาต เพื่อยุติบริการ

ผลประกอบการบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น

Tagged