ตลาดโฆษณาทีวีดิจิทัลเดือน ก.พ.62 มูลค่ารวม 4,920 ล้านบาท เติบโตแค่ 2%

มูลค่าโฆษณา

ข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาของกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลเดือน ก.พ.ปี 2562 รวบรวมโดยนีลเส็น จาก 24 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีโฆษณาได้ ไม่รวมช่องไทยพีบีเอส และทีวีรัฐสภา พบว่า มีมูลค่ารวมทั้งหมด 4,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 4,820 ล้านบาท เติบโตเพียง แค่ 2%

ทั้งนี้ตัวเลขมูลค่าโฆษณารวมเดือน ก.พ. 62 ยังมีมูลค่าสูงขึ้นจากเดือน ม.ค. 62 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,667 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่างบโฆษณาเริ่มมามากขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาล วันหยุด ทำให้เห็นว่าทีวีแต่ละช่องเริ่มปล่อยของแข็งลงผัง หวังชิงเค้กมูลค่าโฆษณานี้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามตัวเลขมูลค่าโฆษณาเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณการที่จัดทำโดยนีลเส็น ยังไม่รวมส่วนลด และโปรโมชั่นของแต่ละช่อง ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ทุกช่องรวมทั้งช่องใหญ่อย่างช่อง 7 และช่อง 3 ก็ร่วมทำแพ็คเกจพิเศษหวังชิงส่วนแบ่งโฆษณากันเต็มที่

สำหรับรายได้โฆษณาแบ่งตามหมวดช่อง HD, SD, ข่าวและช่องเด็ก ตามหมวดหมู่ช่องที่ประมูลของกสทช.นั้น พบว่า ในเดือน ก.พ. 2562 นี้ หมวดช่อง SD ที่มีอยู่ทั้งหมด 7 ช่อง เป็นหมวดที่มีการเติบโตของมูลค่าโฆษณามากที่สุดในกลุ่มทีวีธุรกิจ โดยเติบโต 10.04% มีมูลค่ารวม 1,343.89 ล้านบาท จากยอด 1,208.90 ล้านบาทในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ลำดับช่องที่มีมูลค่าโฆษณาสูงสุดในหมวดนี้ เริ่มตั้งแต่ เวิร์คพอยท์, ช่อง 8, โมโน, ช่อง3SD, จีเอ็มเอ็ม25, ทรูโฟร์ยู และช่องนาว 26 ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อช่องเป็นสปริง 26 ในเดือน มี.ค. 2562 นี้

ส่วนกลุ่มช่อง HD จำนวน 7 ช่อง ที่ประกอบไปด้วย ช่อง 7, ช่อง 3, ช่องวัน, ไทยรัฐทีวี, อมรินทร์ทีวี, ช่อง 9 และพีพีทีวีนั้น มียอดเติบโตเพียงแค่ 1.41 % เท่านั้น โดยเดือน ก.พ.62 นี้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,064.40 ล้านบาท จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มียอดรวมอยู่ที่ 3,021.33 ล้านบาท

ทั้งนี้ในกลุ่มช่อง HD นี้ รายได้ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ 2 ช่องหลัก คือช่อง 7 และช่อง 3

ในขณะที่กลุ่มช่องข่าว 6 ช่อง ได้แก่ช่อง เนชั่นทีวี , วอยซ์ทีวี, นิวทีวี, ไบรท์ทีวี, ทีเอ็นเอ็น และ สปริงนิวส์ ก็มีมูลค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1.02% เท่านั้น มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 196.93 ล้านบาท จาก 194.93 ล้านบาทของเดือน ก.พ.ปี 61
กลุ่มช่องเด็ก ที่มีอยู่ 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3Family, MCOT Family เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าโฆษณาลดลงมากที่สุด ลดลงถึง 34.56% จากมูลค่ารวม 53.34 ล้านบาทของปีที่แล้ว ลดลงเหลือ 39.64 ล้านบาทเท่านั้น
แม้กระทั่งกลุ่มช่องภาครัฐที่เป็นทีวีสาธารณะ ทั้งช่อง 5 และ NBT ก็มีมูลค่าลดลงเช่นกัน โดยลดลง 23.87% จากมูลค่า 340.79 ล้านบาท หล่นมาอยู่แค่เพียง 275.13 ล้านบาทเท่านั้น
Tagged