มูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัลตลอดปี 2563 ลดลง 9.36%

มูลค่าโฆษณา

ประมาณการมูลค่าตลาดโฆษณาของทุกช่องทีวีดิจิทัลปี 2563 จากการเก็บข้อมูลของนีลเส็นทั้งปี อยู่ที่ 61,662ล้านบาท ลดลง 9.36% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่ารวม 68,030 ล้านบาทจากปี 2562 มูลค่าโฆษณาในทีวีดิจิทัลไม่ได้เติบโตสูงเหมือนในอดีต จากการแข่งขันของธุรกิจให้บริการคอนเทนต์ที่มีหลากหลายช่องทาง ตามทิศทางเทคโนโลยี แต่ปี 2563 เป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มมีผลกระทบในเดือนมี.ค.เป็นเดือนแรกที่มูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัลรวมลง และเดือนพ.ค.เป็นเดือนที่มูลค่าโฆษณารวมหดตัวมากที่สุดถึง 31.48%

จากข้อมูลของนีลเส็น เมื่อแบ่งกลุ่มประมาณการรายได้โฆษณาเป็นหมวดต่างๆ กลุ่มช่อง HD จำนวน 7 ช่อง ได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ช่องOne ช่องไทยรัฐทีวี ช่องอมรินทร์ทีวี และช่อง PPTV มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 40,487.24 ล้านบาทลดลง 7.11% จากปี 2562 ที่อยู่ที่ 43,584.92 ล้านบาท ช่องที่มีประมาณการมูลค่าโฆษณาสูงสุดเรียงตามลำดับได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง One ช่อง9 ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี และPPTV โดยที่ช่อง 3 และช่อง 7 ยังครองส่วนแบ่งรายได้โฆษณาสูงสุดในกลุ่มนี้ รวมประมาณรายได้ของทั้ง 2 ช่องในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 61.47% ลดลงจากปี 2562ที่ครองส่วนแบ่งประมาณ 67.26%

กลุ่มช่อง SD จากปี 2562 มีทั้งหมด 7 ช่อง ช่อง 3SD และ ช่อง Spring 26 ขอคืนใบอนุญาตไป 2 ช่อง(ช่อง 3SD ออนแอร์วันสุดท้ายเมื่อ 30 ก.ย. 62 และ ช่อง Spring 26 ออนแอร์วันสุดท้ายเมื่อ 15 ส.ค.62) ในปี 2563 จึงเหลือผู้ประกอบการอยู่ 5 ช่อง ได้แก่ Mono เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 True4U และ GMM25 มีมูลค่าโฆษณาปี 63 รวม 17,929.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.98% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ที่ 18,283.31ล้านบาท ช่องที่มีประมาณการมูลค่าโฆษณาสูงสุดได้แก่ Mono ช่องเวิร์คพอยท์ ช่อง 8 ช่อง GMM25 และช่อง True4U ตามลำดับ ทั้งนี้ ช่อง Mono ครองส่วนแบ่งรายได้โฆษณาสูงสุดในกลุ่มนี้ อยู่ที่ประมาณ 39.33%

ช่องข่าว จากทั้งหมด 7 ช่อง ขอคืนใบอนุญาตกับกสทช.ไป 4 ช่อง(ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 62) เหลือเพียง 3 ช่อง ได้แก่ช่อง เนชั่นทีวี TNN และ นิวทีวี ทำให้ประมาณการรายได้โฆษณาลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยปี 2563 ทั้งปีมีมูลค่า 1,585.75 ล้านบาท ลดลง 16.63% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1,902.15ล้านบาท

ช่องสาธารณะ จำนวน 3 ช่อง มีเพียง 2 ช่องได้แก่ช่อง5 และ NBT ที่มีโฆษณาได้ ในปี 2563 มีมูลค่ารวม 1,306.14 ล้านบาท ลดลง 69.11% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,228.96 ล้านบาท โดยงบโฆษณาส่วนใหญ่อยู่ที่ช่อง5 มากกว่าช่อง NBT ซึ่ง ช่อง 5 ครองส่วนแบ่งรายได้โฆษณา อยู่ที่ประมาณ 78.5%

โดยภาพรวมทั้งปีจะเห็นว่า น้ำหนักของโฆษณาจะเทไปในกลุ่มช่อง HD มากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่กลุ่มช่อง SD ก็มีการเติบโตสูงเช่นกัน HD และ SD ครองส่วนแบ่งรายได้โฆษณาอยู่ที่ 65.66 % และ 29.65%

แม้ธุรกิจทีวีจะโดน Technology Disrupt แต่ช่องทางโฆษณาทางทีวียังคงเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุด ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้กลุ่มใหญ่พร้อมๆกัน ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมคอนเทนต์ออนไลน์ใหญ่ๆ เช่น Lazada และ Shopee ใน event 11:11 หรือ 12 :12 ก็ยังต้องใช้ช่องทางทีวี ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ในการโปรโมทกิจกรรม หรือแม้กระทั่งการเปิดตัวซีรีส์ไทยของ Netflix ก็ต้องพึ่งพาโฆษณาทางทีวีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามรายได้โฆษณามีแนวโน้มกระจายไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาจึงได้เห็นผู้ประกอบการทีวีมีการปรับกลยุทธ์รับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางช่องก็ไปเน้นขายของออนไลน์ผ่านทาง TV shopping

อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก spot โฆษณาที่ออกอากาศในทีวีทุกช่อง ซึ่งยังไม่ได้รวมส่วนลด โปรโมชั่นต่างๆของแต่ละช่อง แต่จากภาพรวมผลประกอบการของบางช่องที่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์จะพบว่า ผลประกอบการตั้งแต่ไตรมาสที่ 1-3 ของปีนี้ ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่า รายได้จากโฆษณาทางทีวี และกำไรลดลงกันทั้งตลาด ผลประกอบการ9เดือนแรก ของปีนี้บริษัท MCOT บริษัท BEC World และ บริษัท MONO ขาดทุน1,167 ล้านบาท 481ล้านบาท และ 670 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนบริษัท RS บริษัท WORKPOINT และบริษัท GMM Grammy มีกําไร 426 ล้านบาท 124 ล้านบาท และ 85 ล้านบาทตามลำดับ

Tagged