ประมาณการมูลค่าตลาดโฆษณาของทุกช่องทีวีดิจิทัลปี 2562 จากการเก็บข้อมูลของนีลเส็นทั้งปีอยู่ที่ 68,030 ล้านบาท ในระดับใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 67,947 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแค่ 0.12% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามูลค่าโฆษณาในทีวีดิจิทัลไม่ได้เติบโตสูงเหมือนในอดีต จากการแข่งขันของธุรกิจให้บริการคอนเทนต์ที่มีหลากหลายช่องทาง ตามทิศทางเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก spot โฆษณาที่ออกอากาศในทีวีทุกช่อง ซึ่งยังไม่ได้รวมส่วนลด โปรโมชั่นต่างๆของแต่ละช่อง แต่จากภาพรวมผลประกอบการของบางช่องที่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์จะพบว่า ผลประกอบการตั้งแต่ไตรมาสที่ 1-3 ของปีนี้ ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่า รายได้จากโฆษณาทางทีวีลดลงกันทั้งตลาด
จากข้อมูลของนีลเส็น เมื่อแบ่งกลุ่มประมาณการรายได้โฆษณาเป็นหมวดต่างๆ กลุ่มช่อง HD ที่ประกอบด้วย 7 ช่อง ได้แก่ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง One ไทยรัฐทีวี ช่อง 9 อมรินทร์ทีวีและ พีพีทีวี มีมูลค่ารวมทั้งปีอยู่ที่ 43,584.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.35% จากปี 2561 ที่อยู่ที่ 42,170 .34 ล้านบาท ช่องที่มีประมาณการมูลค่าโฆษณาสูงสุดเรียงตามลำดับได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง One ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี และ PPTV โดยที่ช่อง 3 และช่อง 7 ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในกลุ่มนี้ รวมประมาณรายได้ของทั้ง 2 ช่องในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 67.26%
กลุ่มช่อง SD จากต้นปีมีทั้งหมด 7 ช่อง ช่อง 3SD และช่อง Spring 26 ขอคืนใบอนุญาตไป 2 ช่องเหลือผู้ประกอบการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอยู่ 5 ช่อง ได้แก่ Mono เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 True4U และ GMM25 มีมูลค่า 17,929.16 ล้านบาท ลดลง 0.64% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่อยู่ที่ 18.045.28 ล้านบาท ช่องที่มีประมาณการมูลค่าโฆษณาสูงสุดได้แก่ ช่อง 8 ช่องเวิร์คพอยท์ Mono รองลงมาเป็นช่อง GMM25 True4U และช่อง 3SD ที่ออนแอร์วันสุดท้ายเมื่อ 30 ก.ย. 62 และ ช่อง Spring 26 ที่ออนแอร์วันสุดท้ายเมื่อ 15 ส.ค.62
ช่องข่าว จากทั้งหมด 7 ช่อง ขอคืนใบอนุญาตกับกสทช.ไป 4 ช่องเหลือเพียง 3 ช่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ได้แก่ช่อง เนชั่นทีวี TNN และ นิวทีวี ทำให้ประมาณการรายได้โฆษณาลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยปี 2562 ทั้งปีมีมูลค่า 1,902.15 ล้านบาท ลดลง 26.62% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2,592.38 ล้านบาท
กลุ่มช่องเด็ก ที่เหลืออยู่ 2 ช่องเมื่อต้นปี 2562 ในปีนี้ทั้ง 2 ช่องขอคืนใบอนุญาตทั้งหมด เป็นการอวสานช่องเด็ก ที่ยากต่อการหารายได้โฆษณา จากการทำคอนเทนต์สำหรับกลุ่มเด็ก ตัวเลขมูลค่าโฆษณาจึงเป็นการรวบรวมในเดือนที่ยังออกอากาศเป็นเวลา 9 เดือนเท่านั้น รวมมูลค่า 385.34 ล้านบาท ลดลงถึง 38.30% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่นับรวมทั้งปี มีมูลค่าอยู่ที่ 623.79 ล้านบาท
ช่องสาธารณะ จำนวน 3 ช่อง มีเพียง 2 ช่องได้แก่ช่อง 5 และ NBT ที่มีโฆษณาได้ ในปี 2562 มีมูลค่ารวม 4,228.96 ล้านบาท ลดลง 6.36% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าราวมอยู่ที่ 4,515.43 ล้านบาท โดยงบโฆษณาส่วนใหญ่อยู่ที่ช่อง 5 มากกว่าช่อง NBT
โดยภาพรวมทั้งปีจะเห็นว่า น้ำหนักของโฆษณาจะเทไปในกลุ่มช่อง HD มากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่กลุ่มช่อง SD ก็มีการเติบโตสูงเช่นกัน หากเทียบเฉพาะ 5 ช่องที่ยังประกอบการอยู่ มีการเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่อง Mono และ GMM25
จากข้อมูลของนีลเส็นจะเห็นได้ว่า การจากไปของ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ไม่ได้ทำให้มูลค่าโฆษณาในธุรกิจทีวีดิจิทัลลดลง เพราะได้มีการเทงบไปอยู่ในช่องที่ยังประกอบการอยู่ แม้ธุรกิจทีวีจะโดน Technology Disrupt แต่ช่องทางโฆษณาทางทีวียังคงเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุด ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้กลุ่มใหญ่พร้อมๆกัน ดังจะเห็นได้จาก กิจกรรมคอนเทนต์ออนไลน์ใหญ่ๆ เช่น Lazada และ Shopee ใน event 11:11 หรือ 12 :12 ก็ยังต้องใช้ช่องทางทีวี ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ในการโปรโมทกิจกรรม หรือแม้กระทั่งการเปิดตัวซีรีส์ไทยของ Netflix ก็ต้องพึ่งพาโฆษณาทางทีวีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามรายได้โฆษณามีแนวโน้มกระจายไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาจึงได้เห็นผู้ประกอบการทีวี มีการปรับกลยุทธ์รับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มาติดตามกันต่อไปว่า ปี 2563 จะมีทิศทางเป็นเช่นไร
ส่วนรายได้จากค่าโฆษณา “ของจริง” ของแต่ละช่องทีวีดิจิทัล คงต้องรอผลประกอบการจริงของแต่ละช่องทีวีดิจิทัล ที่จะรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงพาณิชย์กันอีกรอบ