Plan B  เสนอแผน “แพลน C” ขอเงินรัฐสนับสนุนถ่ายทอดสดโอลิมปิก

เกาะติดจอ

 หลังจากที่ แพลนบี มีเดีย ได้ประกาศเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้ร่วมมือกับเดนท์สุ เอเจนซี่จากประเทศญี่ปุ่น ในการเป็นตัวแทนบริหารลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิก 2020 และมีแผนเจรจาขายลิขสิทธิ์พร้อมแนวทางธุรกิจให้กับช่องทีวีดิจิทัลเพื่อถ่ายทอดสดมหกรรมการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งนี้  แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะร่วมดำเนินการกับทีวีช่องใด   จนต้องหันมาพึ่งพาภาครัฐให้เข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินการจัดการกับลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้
 
บริษัท แพลนบี มีเดีย  (Plan B) ได้เข้ามาเป็นตัวแทนบริการสิทธิทางการตลาด สำหรับการขายลิขสิทธิ์การออกอากาศทางทีวี  จาก เดนท์สุ ประเทศญี่ปุ่น ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก 4 รายการ ประกอบไปด้วย กีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 กีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว โลซาน 2020, กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 และกีฬาโอลิมปิกเยาวชน ดาการ์ 2022  แน่นอนว่าลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เป็น รายการที่มีมูลค่าสูงสุด เนื่องจากเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกที่มีศักดิ์ศรีสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษย์ชาติอย่างแท้จริง
 
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากทั้งจากวงการกีฬา และวงในของวงการทีวี เปิดเผยว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา  แพลนบี และเดนท์สุ ได้เดินหน้าเจรจากับทีวีดิจิทัลหลายช่อง ทั้งช่องขนาดกลางและช่องใหญ่ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องดีลกับบรรดาช่องทีวีดิจิทัล 4-5 ช่องให้เข้ามาร่วมวงเป็นคู่ค้าทางธุรกิจในการดำเนินงานโอลิมปิก2020  แต่คาดว่าการเจรจาไม่บรรลุผลที่แพลนบีตั้งเป้าหมายเอาไว้  อาจมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้บางช่องเกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำธุรกิจครั้งนี้ให้คุ้มค่า  ทำให้แพลนบี และเดนท์สุ ต้องเบนเข็มเปลี่ยนกลยุทธ์มาใช้ การหันเข้าเจรจากับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อขอรับการสนับสนุน เช่นเดียวกับกรณีฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่ท้ายสุดรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการ โดยให้ภาคเอกชนลงขันร่วมกันในวงเงิน 1,400 ล้านบาท
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า “ แพลนบี ต้องการให้รัฐช่วยในวงเงินประมาณ 480 ล้านบาท สำหรับลิขสิทธิ์ทั้ง 4 รายการในมือของเดนท์สุ โดยผ่านกกท. แต่กกท.ไม่มีงบประมาณมากมายขนาดนั้น  จึงต้องขอให้กกท. ทำเรื่องเสนอขอเงินจากรัฐบาลแทน” 
 
นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาและวงการทีวีไทย ที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นแกนนำในจัดการเรื่องลิขสิทธิ์มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติเช่นนี้   เนื่องจากปกติการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์จะตกอยู่ในมือของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือทีวีพูล ที่เป็นการรวมตัวของทีวีช่องดั้งเดิม ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 5    ช่อง 7 ช่อง 9 และ NBT โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว กับกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018
 
กรณีเอเชียนเกมส์ 2018  แพลนบี เดนท์สุ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เลือกที่จะมอบลิขสิทธิ์นี้ให้กับเวิร์คพอยท์ ซึ่งบริษัท
เดนท์สุ เอ็กซ์ (ประเทศไทย)  ถือหุ้นอยู่ 2.83 % ในบริษัทเวิร์คพอยท์  และต่อมาเวิร์คพอยท์ได้ขายลิขสิทธิ์บางส่วนให้พีพีทีวีเข้ามาถ่ายทอดสดร่วมด้วย มาในครั้งนี้เดนท์สุ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิกเช่นเดิม แต่กลับไม่ได้มอบสิทธิ์ให้กับเวิร์คพอยท์เช่นที่ผ่านมา  หลายคนคงสนใจใคร่รู้ว่าสาเหตุคืออะไร
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เดนส์สุเคยเสนอทีวีพูล เรื่องลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิกด้วยข้อเสนอด้านราคาที่สูงมาก จนเกินกว่าที่ทีวีพูลจะรับไหว  จนบริษัท แพลน บี ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสื่อ OUT OF HOME ก้าวเข้ามา
ร่วมวงธุรกิจครั้งนี้   โดยทั้งเดนท์สุ และแพลนบี ได้ประกาศร่วมกันเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ข่าวคราวนี้ทำให้คนในแวดวงมองว่า แพลนบีหวังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเข้ามาบริหารจัดการลิขสิทธิ์กีฬาในประเทศไทย เริ่มต้นจากกีฬาโอลิมปิก เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้จัดที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเวลาการแข่งขันตรงกับในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของไทย ยิ่งทำให้ทั้งสองบริษัทมีความมั่นใจว่า จะคว้ากำไรก้อนโตจากกีฬาโอลิมปิ  โดยลืมไปว่า ปัจจัยความสำเร็จที่มีส่วนสำคัญที่สุดของการถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬานี้ ก็คือจะต้องมีนักกีฬาไทยที่เป็นความหวังจะหยิบเหรียญทอง จำนวนมากพอที่จะตรึงให้คนไทยต้องมาเฝ้าหน้าจอ   แต่ครั้งนี้โอลิมปิก นักกีฬาไทยที่เป็นความหวังเหรียญทองกลับมีน้อยกว่าทุกครั้ง
 
การแข่งขันกีฬาสากลระดับนานาชาติอื่นๆ ทั้งเอเชี่ยนเกมส์ และซีเกมส์ ที่ศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่เป็นรอง     แต่กลับสะกดให้คนไทยต้องอยู่เฝ้าหน้าจอได้มากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าโอกาสที่เสียงเพลงชาติไทยจะกระหึ่มให้คนไทยหัวใจพองโตมีมากกว่า  กีฬาซีเกมส์ที่จะเกิดในปลายปีนี้ ลิขสิทธิ์ตกเป็นของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูลไปแล้ว และจัดสรรให้ถ่ายทอดสดใน 5 ช่องได้แก่ ช่อง 3ช่อง 5ช่อง 7 , ช่อง 9 และ NBT
 
สำหรับบริษัท แพลนบี นั้น เติบโตจนมาเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงสื่อนอกบ้าน Out of Home Media และ ก้าวกระโดดเข้ามาเป็นผู้บริหารผลประโยชน์จัดการด้านการตลาดของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และมีบทบาทสูงในวงการกีฬาของไทยในขณะนี้ จึงตั้งความหวังสูงมากในครั้งนี้   
 
ทั้งนี้ในการเจรจากับกกท.นั้น แพลนบี และเดนท์สุ ยังได้อ้างอิงถึงกฎ Must Have ของกสทช.ที่ระบุให้กีฬาโอลิมปิก ต้องมีการออกอากาศในฟรีทีวีด้วย จึงควรได้สิทธิเสมอกันกับฟุตบอลโลก ที่รัฐบาลควรยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนได้รับชมโดยถ้วนหน้า ซึ่งแพลนบี มีแผนสองที่จะเสนอให้จัดตารางการถ่ายทอดลงให้ทุกช่องทีวีดิจิทัลอย่างทั่วถึง
 
นอกจากนี้แพลนบี และเดนท์สุ ยังได้ขอให้กกท.เสนอของบสนับสนุนจากกสทช.ด้วย แต่เบื้องต้นมีรายงานว่า กสทช.ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในฐานอำนาจตามกฎหมาย.
 
ประกอบกับมีรายงานจากกระจอกข่าวแถวสำนักงาน กสทช.ว่า เห็นพล.อ วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ “บิ๊กน้อย” อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เดินหน้านำทีมผู้บริหารแพลน บี และ เดนท์สุ มาที่กสทช.เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาด้วย
 
ดีลทีวียังไม่จบ แต่ขายสิทธิ์ออนไลน์ให้ AIS ก่อน
 
ในระหว่างที่ยังเจรจาเรื่องขายลิขสิทธิ์ให้ช่องทีวีดิจิทัลไม่สำเร็จนั้น แพลนบีและ เดนท์สุ ได้ประกาศขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดช่องทางออนไลน์ให้กับ AIค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว
 
เอไอเอส เคยได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดช่องทางออนไลน์นั้น ในคราวโอลิมปิกเกมส์ 2016 ไปแล้ว ส่วนช่องทางทีวีในปี 2016 นั้น เป็นของทีวีพูล ทั้ง 5 ช่อง
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ หากไม่สามารถขายลิขสิทธิ์ให้ออกอากาศในช่องทางฟรีทีวีได้ ก็จะเป็นการผิดกฎ Must Have ด้วยเช่นกัน เพราะเท่ากับว่า ไม่มีการถ่ายทอดสดทางช่องทางฟรีทีวี ทำให้แพลนบี และเดนท์สุ จำเป็นต้องวิ่งเข้าหาหน่วยงานรัฐเพื่อของบประมาณสนับสนุน
 
ซึ่งที่ผ่านมากยักษ์ใหญ่อย่างแพลน บี เมื่อประกาศแผนงานใหญ่ออกมาแล้ว จะใส่เกียร์เดินหน้า ไม่ถอยหลัง จนกระทั่งครั้งนี้ที่เกิดสถานการณ์ที่ผิดแผน ทำให้แพลน บี ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยแผนเดิม  จนต้องเกิด แพลน C” ประสานงานกับ ผู้ใหญ่” เพื่อช่วยประสานงานหาทางรอดในครั้งนี้  
 
ศึกลิขสิทธิ์โอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ คงเป็นบทเรียนราคาแพงของผู้เกี่ยวข้อง ให้ต้องขบคิด ไม่ควรหลงในภาพสวยหรู   จนลืมมองแบบวิเคราะห์รอบทิศทาง  โอกาสที่มองว่าดี บางครั้งอาจนำมาซึ่งทุกข์ลาภก็เป็นได้  โอลิมปิกโตเกียว 2020 จะมีบทสรุปอย่างไร คงเป็นกรณีศึกษาให้แวดวงธุรกิจไทยให้ติดตาม เฝ้ามองและคิดวิเคราะห์กันในอีกหลายแง่มุม คงต้องรอติดตามกันต่อไป
Tagged