เปิดผลงานละคร ค่าย “นาดาว” ในยุคทีวีดิจิทัล เติบโตด้วยโมเดลที่แตกต่าง

ละคร-ซีรีส์ วิเคราะห์เจาะเรตติง

ทุกครั้งที่มีการออกอากาศละครใหม่ จากค่าย “นาดาวบางกอก” ในสังกัด จีดีเอช กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มักจะสร้างกระแสจากสื่อโซเชียลและออนไลน์ได้เสมอ จากฐานแฟนคลับของศิลปินในสังกัด ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นซึ่งเป็นเป้าหมายของหลักของ “นาดาว” มาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับละครใหม่ “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน หรือ My Ambulance” ที่มีกระแสติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่ละครยังไม่ออนแอร์  เรียกว่าถ้าหากจะวัดความสำเร็จของละครแต่ละเรื่อง จากกระแสในโลกโซเชียลแล้ว  ละครของ “นาดาว” ทุกเรื่อง จะพุ่งทะลุทะลวง ประสบความสำเร็จได้ทั้งหมดก็ว่าได้

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ยังได้รับการยอมรับในกลุ่มเอเจนซี่คือหากวัดจากข้อมูลเรตติ้งทางสื่อทีวี มักจะพบว่าหลายครั้ง เรตติ้งทีวีกับกระแสในโลกโซเชียลมักจะวิ่งสวนทางกัน เนื่องจากฐานผู้ชมทางทีวี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชมที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่คนบนโลกออนไลน์มักอยู่ในวัย 15-35 ปี  ช่วงอายุที่แตกต่างกัน สะท้อนถึงพฤติกรรมความชอบที่แตกต่างกัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ผลิตคอนเทนต์แต่ละราย จะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้ชมคอนเทนต์ของตนเองในตลาดแต่ละประเภท  เพื่อที่จะได้ปรับเนื้อหา แนวทางการผลิต รวมทั้งต้นทุนและหารายได้ให้สอดคล้องกันด้วย

กรณีแนวละครของ “นาดาว” จัดเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ผลิตละคร เมื่อตลาดคนดูทีวีที่มาแต่ตั้งเดิมเป็นคนอายุมาก แต่การที่ต้องนำคอนเทนต์แนววัยรุ่นมาออกอากาศ ซึ่งพฤติกรรมของวัยรุ่นมักติดช่องทางออนไลน์ และดูย้อนหลังมากกว่า รูปแบบการหารายได้ที่เคยเน้นหนักไปในแนวทางการหารายได้จากโฆษณาทางทีวีอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป มีรูปแบบของ Tie In มีสปอนเซอร์สินค้าในละคร และหารายได้จากสินค้าที่นักแสดงในเรื่องเป็นพรีเซ็นเตอร์มากขึ้นด้วย

เจาะเรตติ้งละคร “นาดาว”

มาย้อนรอยละครแต่ละเรื่องของ “นาดาว” ที่เคยออกอากาศมาแล้วทางทีวี ในยุคทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557

“นาดาว” มีชื่อเสียงครั้งแรกจะละครแนววัยรุ่น “Hormones วัยว้าวุ่น” ในปี 2556 ยุคก่อนทีวีดิจิทัล ทางช่อง One ครั้งที่ยังเป็นทีวีดาวเทียม “Hormones วัยว้าวุ่น” สร้างทั้งกระแส รายได้ให้กับ “นาดาว” และบรรดานักแสดงวัยรุ่นทั้งหมด ต่างได้แจ้งเกิด จนทำให้เกิด ซีซันต่อมา จนถึงซีซันที่ 3

สำหรับในยุคทีวีดิจิทัล ในปี 2557 “นาดาว” เริ่มผลิตละคร “Hormones ซีซัน 2 “ ออกอากาศทางช่อง GMM25 ออนแอร์ช่วงเวลา 4 ทุ่ม ทำเรตติ้งเฉลี่ยได้ 0.324 เรตติ้งฐานผู้ชมในช่วงอายุ 15-19 ปีสูงสุดทำเรตติ้งได้ถึง  1.135 มากกว่ากลุ่มผู้ชมในทุกช่วงอายุ โดยรองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 45-49ปี รับชม มีเรตติ้งอยู่ที่ 0.324

ปีถัดมา 2558 ผลิตละคร 2 เรื่อง “Stay ซากะ ฉันจะคิดถึงเธอ” ซีรีส์ 4 ตอน เป็นโปรเจคท์พิเศษที่ร่วมกับไลน์ทีวี ผลิตละครลงช่องทางไลน์ก่อนเป็นครั้งแรก และนำมารีรัน ลงช่อง GMM25 ทำเรตติ้งเฉลี่ยทางช่องทีวีทำได้ 0.245  ได้ฐานกลุ่มผู้ชมช่วงอายุ 15-19 ปีสูงสุดเช่นเดิม ด้วยเรตติ้งในกลุ่มนี้ 0.517 และมีผู้ชมในพื้นที่ภาคเหนือสูงที่สุด 0.559

ต่อด้วย “Hormones ซีซัน 3” ออนแอร์ช่อง One ในปีเดียวกัน เป็นช่วงที่ซีรีส์นี้มีกระแสมากในโลกออนไลน์ แต่ถูกจัดให้ออกอากาศในช่วงเวลา 5 ทุ่มด้วยเหตุผลของการจัดระดับประเภทรายการ  แต่ก็ยังสามารถทำเรตติ้งเฉลี่ยได้ถึง 1.159  ทำเรตติ้งในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ได้สูงถึง 3.013

หลังจากนั้นเริ่มไปผลิตละครลงช่องทาง ไลน์ทีวี ที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า และกลับมาผลิตละครป้อนช่อง GMM25 ที่ช่วงนั้น ยังเจาะกลุ่มวัยรุ่นด้วยเช่นกัน ด้วยเรื่อง “โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์” ซีรีส์ชุดกีฬา 4 เรื่อง ทำเรตติ้งเฉลี่ยทั้งโปรเจคต์อยู่ที่ 0.270 ส่วนเรตติ้งแต่ละตอนนั้น เรื่อง Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ นำแสดงโดย “ต่อ ธนภพ” เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา จนได้รับรางวัลด้านการแสดง ได้รับความนิยมสูงสุดในโปรเจคท์นี้ มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.388

อย่างไรก็ตามซีรีส์ชุดนี้ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงกลุ่มฐานผู้ชม ที่มีกลุ่มผู้ชมอายุสูงกว่าเดิม เนื่องจากเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมากขึ้น

เรื่องแรกของโปรเจคต์ S ตอน Spike เกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอล 0.261 พบว่ามีช่วงอายุผู้ชมที่รับชมสูงสุดอายุ 35-39 ปี เรตติ้ง 0.423

Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ กีฬาแบดมินตัน เรตติ้งเฉลี่ย 0.388 ช่วงอายุที่รับชมสูงสุด 30-34 ปี เรตติ้งเฉลี่ย0.795

SOS Skate ซึม ซ่าส์ กีฬาสเกตบอร์ด เรตติ้งเฉลี่ย 0.277  ช่วงอายุรับชมสูงสุด 35-39 ปี เรตติ้ง 0.459

Shoot I love you  กีฬายิงธนู เรตติ้งเฉลี่ย  0.181 ช่วงอายุที่รับชมมากที่สุด 30-34 ปี เรตติ้งเฉลี่ย 0.296

หลังจากทำละครแนววัยรุ่นไปหลายเรื่อง ในปี 2561 “นาดาว” พลิกโฉมเปลี่ยนแนวใหม่ หันมาทำละครแนวสืบสวนสอบสวน “เลือดข้นคนจาง” ที่มีนักแสดงมากฝีมือรุ่นใหญ่เป็นแกนหลัก เสริมด้วยนักแสดงรุ่นใหม่จากโปรเจคต์ “9By9” เป็นการกลับมาออนแอร์ช่วงไพรม์ไทม์ที่ช่อง One อีกครั้ง พร้อมกับเปิดช่วงไพรม์ไทม์ช่วงวันศุกร์ และเสาร์เป็นครั้งแรก ได้เรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่อง 1.345 โดยมีเรตติ้งสูงสุด 1.779 ต่ำสุด 0.602  โดยที่เรตติ้งตอนแรก 0.802 และตอนจบ 1.729  ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเป็นละครเรื่องแรกบุกตลาดช่วงเวลาใหม่ของช่อง One  สร้างชื่อเสียงต่อยอดให้กับกลุ่มนักแสดงวัยรุ่น และนักแสดงรุ่นใหญ่รับรางวัลทางการแสดงยอดเยี่ยมด้วย  แม้ว่าเรตติ้งทางทีวีจะไม่ได้สูงเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับละครช่อง One ในวันจันทร์ ถึงวันพฤหัสบดี

ในปีนี้ “นาดาว” เปิดตัวด้วยละครวัยรุ่น “Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ” ทางไลน์ทีวี ก่อนที่จะมาออนแอร์รีรันช่วง 5 ทุ่มในช่อง One มีเรตติ้งเฉลี่ยทางทีวี 0.146  เนื่องจากรีรันในช่วงดึกมากบางวันเกือบเที่ยงคืน ฐานผู้ชมกลุ่มที่ชมสูงสุดเป็นกลุ่มอายุ 40-44 มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.222

และล่าสุด “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน หรือ My Ambulance” จากซีรีส์เกาหลีชื่อดัง ที่เกี่ยวกับวงการการแพทย์ มีศัพท์แสงทางการแพทย์มากมาย มีนักแสดงระดับแม่เหล็กที่โคจรมาประกบคู่กันอีกครั้ง “ซันนี่” และ “ใหม่ ดาวิกา” หลังจากเคยเป็นคู่พระคู่นางในภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” ภาพยนตร์ไทยที่กระแสแรงมาก แต่รายได้กลับไม่แรงเท่ากับกระแส และยังมีนักแสดงวัยรุ่นมาแรง “สกาย วงศ์รวี” รับบทเด่นด้วย

“รักฉุดใจนายฉุกเฉิน หรือ My Ambulance” เปิดตัวไป 2 ตอนแรก 1.050 และ 1.256 มีเรตติ้งเฉลี่ย  1.154

ฐานผู้ชมเป็นกลุ่มอายุ 25-29 ปีมากที่สุด มีเรตติ้งในกลุ่มนี้  1.503

ทวิตเตอร์นำโด่งทั้ง 2 วัน แต่เรตติ้งไม่ปัง 

รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ทำยอดทวิตเตอร์สูงสุดในไทยทั้ง 2 วัน แต่เรตติ้งออกมาไม่เป็นไปตามที่หวัง

ยังถูกละครช่อง 7 และช่อง 3 กดเอาไว้อยู่หมัด

เรตติ้งไม่ปัง แต่ได้ตังค์เยอะ

โดยภาพรวมเรตติ้งละครของ “นาดาว” ยังทำเรตติ้งไม่สูง แต่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนจากกลุ่มวัยรุ่น และ

วัยทำงานเริ่มต้น อีกทั้งแนวทางธุรกิจการสร้างละครของ “นาดาว” ยังไม่เหมือนแนวทางการสร้างละคร

ในทุกช่อง โดยทั่วไปแต่ละช่องจะเป็นผู้จ้างผลิต และลิขสิทธิ์เป็นของช่อง  แต่ “นาดาว” เป็นรูปแบบของ

Time Sharing ที่แบ่งผลประโยชน์จากนาทีโฆษณา แต่ลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์ทั้งหมดยังเป็นของ “นาดาว”

ที่สามารถนำไปขายในแพลทฟอร์มอื่นๆ รวมถึง Netflix และขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศได้อีกด้วย

ทำให้ที่ผ่านมา ละครของ “นาดาว” จะออกอากาศในกลุ่มช่องของผู้ถือหุ้นอย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทั้งช่อง One และ GMM25 เนื่องจากเป็นธุรกิจของหน่วยงานในเครือแกรมมี่ทั้งหมด เข้าทำนอง “อัฐยายซื้อขนมยาย” ทั้งยังมีช่องทางออนไลน์ที่นำไปออกอากาศเป็นการหารายได้เพิ่มอีก  ทำให้ “นาดาว” เป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีรายได้ และกำไรต่อเนื่องในทุกๆปี ทั้งจากละคร ภาพยนตร์ และการบริหารศิลปิน

ผลประกอบการบริษัท นาดาว บางกอก ในรอบ 3 ปี 2559- 2561

จากตัวเลขผลประกอบการพบว่า “นาดาว” ในปี 2561 มีรายได้สูงถึง 246.35 ล้านบาท สูงกว่าปี 2560 ถึง 26.93% และยังมีกำไร 21.45 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 31.78%

ในปีนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บริษัทแม่ของทุกธุรกิจในเครือ รวมถึง “นาดาว” ด้วย ประกาศชัดเจนว่า มุ่งเป้าเป็น Content Provider  ผลิตคอนเทนต์ป้อนทุกช่องและทุกแพลทฟอร์ม ผ่านบริษัทในเครือทั้งหมด ไม่ได้เจาะจงลงที่ช่อง One และ GMM25 เท่านั้น

ที่ผ่านมาบริษัทผลิตคอนเทนต์ค่ายนี้ ต่างก็ขยับขยายไปในหลายแพลทฟอร์ม และหลายประเทศแล้ว เหลือเพียงการขยายลงช่องทางทีวีดิจิทัล ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของผู้ถือหุ้น ที่ขณะนี้นอกจากช่อง One และ GMM25 แล้ว ยังมีช่อง พีพีทีวี และอมรินทร์ทีวี ที่เป็นเครือข่ายพาร์ทเนอร์กัน

การขยายสู่ช่องทีวีดิจิทัลที่ไม่ใช่แถวหน้า มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง เพราะแต่ละช่องก็ต้องการเรตติ้งและลดต้นทุน

แต่การจะการขยายธุรกิจไปสู่ช่องใหญ่ คงไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่ปรับแนวทางธุรกิจ เพราะทั้งช่อง 7 และช่อง 3ต่างก็หวังรายได้ทั้งการการขายสิทธิ์ในต่างประเทศ การนำมารีรันซ้ำ ก็เป็นสิ่งที่ทั้งช่อง 7 ช่อง 3 ต้องการ

คงต้องจับตากันต่อไปว่า โอกาสขยับขยายสยายปีกทางธุรกิจของ “นาดาว” จะมีโอกาสก้าวไกลเพียงใด

“นาดาว” จะยอมปรับโครงสร้าง แนวทางธุรกิจหรือไม่  ละครเรื่องใดของ “นาดาว” ที่จะเขย่าจอทีวีด้วยเรตติ้ง

แตะ 3 กับเค้าสักที  อย่าให้รอนานนะ

Tagged