หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง President ในบริษัท บีอีซี เวิลด์ ตั้งแต่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา “บี๋ อริยะ” ได้ระดมสรรพกำลังทีมผู้บริหารชุดใหม่เต็มทีม เพื่อเตรียมรับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป และทำแผนระยะสั้น และระยะยาว ที่เริ่มมีการเปิดเผยกรอบแนวทางของแผนหารายได้ใหม่มาบ้างแล้ว แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 บีอีซี ยังขาดทุนอยู่ที่ 103.6 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.092.3 ล้านบาท ลดลง 22.8% โดยมีสาเหตุภาวะเศรษฐกิจ ตลาดโฆษณาลด
ในการพบปะกับบรรดานักลงทุนเมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายบริหารของบีอีซี เวิลด์ ได้เปิดเผยว่า แผนที่วางกรอบไว้นั้น จะเริ่มตั้งแต่ การมุ่งหาแหล่งรายได้ใหม่ ที่ไม่ยึดติดกับรายได้จากค่าโฆษณาทางทีวี ที่ปัจจุบันเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุด, การมุ่งขายลิขสิทธิ์รายการของช่อง 3 ในต่างประเทศ ปรับปรุงกลยุทธ์ช่องทางออนไลน์ใน Mello , การหารายได้จากลิขสิทธิ์ในรายการและการนำจุดแข็งของช่องจากดาราในสังกัด มาหารายได้เพิ่ม
สำหรับแผนแรก การหารายได้เพิ่มจากรายได้จากธุรกิจทีวีนั้น เนื่องจากทิศทางรายได้โฆษณาทางทีวี มีแนวโน้มลดลง จึงต้องมุ่งหารายได้อื่นๆมาเสริมรายได้จากค่าโฆษณา จะมีการจัดทำแพคเกจการขายแบบผสม เสริมด้วยการ Tie In สินค้าในรายการ และการจัดกิจกรรม อีเว้นท์เสริมในแต่ละคอนเทนต์ที่ออนแอร์ของช่อง 3 โดยเฉพาะจะมีการเสริมทีมอีเวนท์เข้ามาเพิ่มขึ้น ที่จะเป็นช่องทางหารายได้ในรูปแบบ On Ground Activity และยังมีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทั้งละคร วาไรตี้ และรายการข่าวโฉมใหม่ด้วย
ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2/2562 บีอีซีมีรายได้ค่าโฆษณาอยู่ที่ 1,814.8 ล้านบาท โดยลดลง 23% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2561 ที่มีรายได้ค่าโฆษณาอยู่ที่ 2,358.4 ล้านบาท และคาดว่าจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องจากรายได้โฆษณาที่ลดลง ทำให้ต้องหันไปมุ่งหารายได้จากช่องทางอื่นๆแทน
อย่างไรก็ตามรายได้จากค่าโฆษณาในไตรมาส 2/2562 คิดเป็น 86.7% ของรายได้รวมทั้งหมดของกลุ่มบริษัท ซึ่งเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุด การมุ่งหารายได้จากแหล่งอื่นๆ อาจจะไม่ใช่เงินก้อนใหญ่มากนัก
ในส่วนการขายลิขสิทธิ์รายการ โดยเฉพาะละครในต่างประเทศนั้น จะมีการปรับปรุงกระบวนการภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการขายลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกนี้ บีอีซี เวิลด์ มีรายงานรายได้ในส่วนการขายลิขสิทธิ์รายการในต่างประเทศอยู่ที่ 61.6 ล้านบาท ลดลง 15.7% จากปีที่แล้วที่มีรายได้อยู่ที่ 71.3ล้านบาท
สำหรับช่องทางออนไลน์ใน Mello นั้น อยู่ระหว่างทำแผนใหม่ ในรูปแบบที่หาพาร์ทเนอร์ และการจัดทำแพคเกจสำหรับสปอนเซอร์ โดยในครึ่งปีแรกนี้ รายได้จากธุรกิจออนไลน์อยู่ที่ 156.6 ล้านบาท ลดลง 13.4% จากปีที่แล้วที่มีรายได้อยู่ที่ 180.9 ล้านบาท ทั้งนี้รายได้ส่วนใหญ่ของ Mello ที่ผ่านมา เกิดจากโฆษณาในการดูละครโดยเฉพาะละครย้อนหลัง เมื่อละครดัง มีกระแสมาก ก็จะทำให้ยอดวิวสูงขึ้นด้วย
“ดารา” ต้องต่อยอดรายได้
ในขณะที่แผนการสร้างรายได้ใหม่จากลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมด ตั้งแต่รายการ ไปจนถึงดาราในสังกัดนั้น มีการเปิดเผยว่า จะอยู่ในรูปแบบทั้งรายได้เพิ่มจากการโฆษณาและสินค้าที่ระลึก จากแต่ละรายการ มีการทำโมเดลการหารายได้ใหม่กับบรรดาผู้ผลิตรายการให้ช่อง และที่สำคัญโมเดลใหม่ หารายได้ต่อยอดจากดาราในสังกัด อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้ว่าจะเป็นรูปแบบใด แต่ก่อนหน้านี้ ประชุม มาลีนนท์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2560 เมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่ง CEO ใหม่ๆ ว่า จะหาทางหารายได้จากดาราในสังกัดมาแล้ว โดยเฉพาะรายได้จากงานอีเวนต์ พรีเซนเตอร์โฆษณาต่างๆ แต่ก็ยังไม่เกิดรูปธรรมดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ช่อง 3 เป็นช่องที่มีความแข็งแรงเรื่อง “ดารา” ในสังกัดสูงมาก ที่เป็นดาราชั้นนำของประเทศ
ล้วนมีงานอีเวนท์ชุกและเป็นพรีเซ็นเตอร์จำนวนมาก มาจากช่อง 3 เป็นส่วนใหญ่ เช่น ณเดชน์ คูกิมิยะ, ญาญ่า อุรัสยา, มาริโอ้, หมาก ปริญ, คิมเบอร์รี่, เบลล่า ราณี, โป๊ป ธนวรรธน์, แต้ว ณฐพร และ มิว นิษฐา
ผ่าโครงสร้างองค์กรใหม่ เสริมผู้บริหารและทีมงานคาดกว่า 50 คน
เพื่อเป็นการสอดรับกับแผนงานใหม่ มีรายงานข่าวว่า “บี๋ อริยะ” ได้เปิดรับทีมงานใหม่ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ที่มีข่าวว่า มีมามากกว่า 50 คนแล้ว โดยเป็นผู้บริหารระดับสูงเกือบ 10 คน
สำหรับทีมผู้บริหารระดับสูงตามโครงสร้างใหม่ จากเดิมที่มีผู้บริการระดับสูงในกลุ่ม C Level มาปรับเพิ่มให้มี ตำแหน่ง Executive Vice President ที่เป็นตำแหน่งรองจาก President และผู้บริหารระดับ Vice President หลายตำแหน่ง ทำให้ขณะนี้มีกลุ่มผู้บริหาร ที่เรียกว่า “ทีมบี๋ “ กระจายไปเป็นหัวหน้าแทบทุกส่วนงาน
ผู้บริหารที่มารับตำแหน่งในระดับ C Level ชุดใหม่ในขณะนี้มี 2 คน ได้แก่ สุชาติ ภวสิริพร อดีตผู้บริหารจาก LINE คนแรกที่ลาออกมาร่วมทีมบี๋ ล่าสุดได้ปรับตำแหน่งใหม่มาเป็น Chief of Human Resource Officer และ
วัชรี ศิริเวชวิวัฒน์ อดีตผู้บริหารจาก GDH ตำแหน่ง Chief of Marketing Officer คุมงานการขายและเซลล์ทั้งหมด
สำหรับกลุ่มผู้บริหารจาก LINE อีก 2 คน ได้แก่ กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ตำแหน่ง EVP– Strategy and New Business เป็น “มือขวา” ของ “บี๋ อริยะ” และรายล่าสุด “พัลภา มาโนช” จาก LINE มารับตำแหน่ง – VP New Content and Partnership ที่เข้ามาช่วยงานกวินท์ ดูแลด้านการหาคอนเทน์ใหม่ๆ
ผู้บริหารที่มาจากกลุ่ม ทรู ได้แก่ ภัคพงศ์ พัฒนมาศ ตำแหน่ง – VP Project and Management Officer และ
วรุตม์ ลีเรืองสกุล อยู่ในตำแหน่ง Managing director BECi ที่ดูแล แอปพลิเคชั่น Mello
และยังมี รัฐธีร์ ฉัตรดำรงศักดิ์ จากเดนท์สุ มารับตำแหน่งงานด้านการขายช่วย CMO ในตำแหน่ง VP Sales Strategy
ล่าสุดยังมีรายงานข่าวอีกว่า มีการเสริมทีมงานอีเวนต์อีกหลายสิบคน ตามแผนที่จะเน้นหารายได้ในการทำ On Ground Activity พร้อมทั้งกระแสข่าวแว่วมาอีกว่า จะมีอีกทีมใหญ่สายงานด้านการขายโฆษณาอีกจำนวนมาก
ส่วนสายงานด้านข่าวนั้น ตามโครงสร้างมีตำแหน่ง VP ที่จะมาคุมข่าว 1 ตำแหน่ง ซึ่ง “บี๋ อริยะ” นั่งรักษาการอยู่ หลังจากที่เคยทาบ “นรากร ติยายน” มารับตำแหน่งนี้ แต่ก็ล้มเลิกไปจากการเกิดแรงต้านของฝ่ายข่าว ที่เป็นครั้งแรกที่ทีมผู้บริหารใหม่เจอกระแสต้าน สำหรับสายงานด้านละคร ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามการเสริมทีมทั้งผู้บริหารและพนักงานใหม่จำนวนมากนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า เป็นทีมขนาดใหญ่มาก ทั้งๆที่บริษัทอยู่ในช่วงลดต้นทุน จากการเหลือทีวีเพียง 1 ช่อง และลดพนักงาน ที่ล่าสุดเอาพนักงานฝ่ายข่าวออกไป 154 คน จนดูเหมือนภายในบริษัทแตกเป็นทีมใหม่ และทีมเก่า ไม่ smooth เป็นเนื้อเดียว เมื่องานทีวีเป็นงานที่ต้องร่วมใจประสานงานกันทั้งองค์กร จึงเกิดสถานการณ์ “ระอุ” อยู่ภายในขณะนี้ จนทำให้ฝ่ายบริหารต้องเปิดรับความเห็นจากพนักงาน โดยจัดกล่องรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานติดไว้ในที่ตึกมาลีนนท์ด้วย
ปีหน้ากำไรแน่ แต่มาจากมาตรการรัฐม.44 ช่วยทีวีดิจิทัล
สถานการณ์ของทีมใหม่ มีเป้าหมายเพื่อลดการขาดทุนขององค์กร หลังจากที่ไตรมาส 2/2562 ยังคงขาดทุนอยู่ 103.6 ล้านบาท แต่จากการช่วยเหลือของรัฐบาลในการมีคำสั่งม.44 ให้การช่วยเหลือต้นทุนในค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ทำให้กลุ่มช่อง 3 ประหยัดงบในการจ่ายค่าใบอนุญาตและค่าเช่าโครงข่ายได้ทั้งหมด 1,776 ล้านบาท โดยจ่ายไปแล้วทั้งหมด 4,149 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้บริษัทต่อปีได้ถึงประมาณ 600 ล้านบาท เริ่มต้นนับจากไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นต้นไป
จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งคาดว่า การลดต้นทุนครั้งใหญ่จากคำสั่ง คสช.จะเริ่มทำให้บีอีซี เวิลด์ เริ่มมีกำไรได้ในปีหน้าเป็นต้นไป
ส่วนสถานการณ์การดำเนินธุรกิจนั้น ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะทีมใหม่เพิ่งเข้ามา และยังไม่ได้แสดงแผนงานเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะงานด้านสื่อออนไลน์ที่ควรจะเป็นจุดแข็งและความถนัดสูงสุดของทีมงานกลุ่มนี้ แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในการใช้สื่อออนไลน์ ช่วยสร้างกระแสต่อยอดความแข็งแรงในแต่ละคอนเทนต์เกิดขึ้น
อีกทั้งยังน่าจับตาว่า Mello ผลงานจากความคิดริเริ่มของ “ประชุม มาลีนนท์” ที่เคยถูกวางให้เป็นสื่อหลักของช่อง ในการขยายตัวทำธุรกิจออนไลน์ และช่องทางดูละครรีรัน เป็นแพลตฟอร์มแรกของกลุ่มช่อง 3 แต่ที่ผ่านมายังสู้กับแพลตฟอร์มของต่างชาติไม่ได้ จะถูกแปรเปลี่ยนบทบาทมีทิศทางอย่างไรต่อไป
ต่อจากนี้ไป คงหมดช่วงเวลาฮันนีมูนของทีมผู้บริหารชุดใหม่ ถึงเวลาพิสูจน์ฝีมือกันเสียที