ช่อง 3SD เป็นช่องในกลุ่ม TOP 10 เรตติ้ง ที่มีความน่าสนใจมากกว่าช่องอื่นๆ ด้วยกลยุทธ์ที่วางเป็นช่องละครรีรันเป็นหลัก ทำให้ไม่มีต้นทุนสูงจากการออกอากาศเท่าไรนัก จากคลังละครเก่าที่มีอยู่จำนวนมากของช่อง 3 สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มช่อง 3 ได้ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นช่องกลยุทธ์ที่ไว้สู้กับคู่แข่ง แถมยังทำเรตติ้งได้ดี แต่เมื่อฝ่ายบริหารกลุ่มช่อง 3 ตัดสินใจคืนช่อง 3SD จึงมีผลกระทบกับคนในวงการส่วนใหญ่ ทั้งผู้ผลิตรายการ พนักงาน ทั้งนี้ช่อง 3SD จะยุติการออกอากาศในคืนวันที่ 30 ก.ย.2562 และจะได้รับเงินชดเชยจากกสทช.จำนวน 680 ล้านบาท
จากข้อมูลใน “หนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิตอล” ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้มีการสรุปผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีของช่องทีวีดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการในปี 2557 จนถึงสิ้นสุดปี 2561 ซึ่งในส่วนของช่อง 3 SD นั้น มีรายละเอียดรวมตั้งแต่ ข้อมูลเรตติ้ง ที่เจาะลึกลงถึงฐานผู้ชมช่อง พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อายุ และเพศของกลุ่มผู้ชมของช่อง รวมถึงประเภทสัดส่วนรายการของช่องที่จัดลงผังรายการในแต่ละปี และยังมีรายได้จากการประกอบกิจการของช่องในแต่ละปี ที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานกสทช. ดังนี้
3SD : เติบโตด้วย ละครรีรัน
จุดเด่น : ละครรีรันจากช่อง 3 และรายการกีฬา
การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลมาจำนวน 3 ช่องของกลุ่มช่อง 3 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นสูงของกลุ่มผู้บริหารช่อง 3 ในขณะนั้น ว่าตลาดทีวีดิจิตอลจะยังมีมูลค่ามหาศาล การมีช่องอยูในมือจำนวนมาก คือกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ และเจาะลึกลงเฉพาะกลุ่มโดยผ่านช่องที่มีอยู่ในมือ
ช่อง 3SD หรือช่อง 28 ทีวีดิจิตอลในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) ของกลุ่มช่อง 3 ที่ทุ่มเทประมูลมาด้วยมูลค่า 2,275 ล้านบาท เปิดตัวช่อง 3SD ด้วยการจัดรายการข่าว และรายการบันเทิง ที่เป็นซีรีส์ต่างประเทศที่ช่อง 3 จัดซื้อเก็บไว้มาลงผังรายการ มีการลองผิดลองถูก จับกลุ่มคนดูด้วยการจัดผังทั้งละครเก่าที่นำมาออกอากาศซ้ำ (ละครรีรัน) ซีรีส์ และภาพยนตร์ต่างประเทศในช่วงปีแรก
ในปี 2558 กลุ่มช่อง 3 สร้างละครใหม่สำหรับตลาดช่อง 3SD โดยเฉพาะ ที่ไม่เจาะกลุ่มผู้ชมระดับบนเหมือนกับช่อง 3HD แต่เจาะกลุ่มคนต่างจังหวัดมากขึ้น ด้วยละครแนวตลาดแข่งกับช่อง 8 ที่กำลังไปได้ดีกับละครร้อนแรง โดยสร้างละครใหม่เรื่องแรก “ลูกผู้ชายเลือดเดือด” ออกอากาศทางช่อง 3SD ในเดือนพฤษภาคม 2559 ในช่วงเวลาเย็น ที่ชนกับละครเย็นของช่อง 3 เอง และของช่อง 7 และช่อง 8 ในขณะนั้น
การจัดละครใหม่ลงผังรายการ ที่มีต้นทุนประมาณ 30-50 ล้านบาทในแต่ละเรื่อง แม้จะทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่องดีขึ้นก็จริง แต่เรตติ้งดีขึ้นไม่มากพอที่จะเรียกรายได้โฆษณามาลงช่อง อีกทั้งราคาโฆษณาของช่องใหม่ก็ต่างกับช่องเดิมทั้งช่อง 7 และช่อง 3 อย่างมาก กลับกลายเป็นว่า ยิ่งลงทุนกับละครใหม่มากเท่าใด ก็ยิ่งประสบกับสภาพขาดทุนจากการดำเนินงานให้กับช่องมากขึ้น กลุ่มช่อง 3 จึงหยุดการผลิตละครใหม่ลงช่อง 3SD และหันมาวางกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการจัดละครรีรันมาลงผังรายการ และวางผังรายการช่วงเวลาละครรีรันใหม่ทั้งหมด
จากข้อมูลเรตติ้งเฉลี่ยช่อง 3SD ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 พบว่า ในปีแรก 2557 ช่อง 3SD เปิดตัวด้วยอันดับ 21 อยู่ในกลุ่มท้ายตาราง ด้วยความที่เป็นช่องใหม่ การจัดวางเนื้อหารายการยังไม่มีทิศทางชัดเจน รายการที่ออกอากาศในปีแรกส่วนใหญ่ จึงเป็นรายการข่าวสลับการนำเทปการถ่ายทอดกีฬาประเภทต่างๆ และซีรีส์มาออกอากาศต่อเนื่องทั้งวัน แต่กลยุทธ์ละครรีรันก็ทำให้ช่อง 3SD เข้าสู่กลุ่มช่อง TOP 10 ได้ในปี 2558 โดยใช้เวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น
ละครรีรันชุดแรกที่ ช่อง 3SD เลือกจัดลงผังรายการในต้นปี 2558 คือ ละครชุด “4 หัวใจแห่งขุนเขา” ละครชุด 4 เรื่องที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดของช่อง 3 จากการออกอากาศครั้งแรกในปี 2553 แจ้งเกิดนักแสดงหน้าใหม่ และกลายเป็นนักแสดงแถวหน้าของไทยในทุกวันนี้ มาเป็นละครรีรันเปิดตัว ออกอากาศในช่วงเวลาเย็น โดยไม่ชนกับเวลาละครหลังข่าวภาคค่ำของช่อง 3HD เนื่องจากการที่กลุ่มช่อง 3 มีช่องถึง 3 ช่อง จึงต้องมีการวางผังรายการทั้งในรูปแบบที่ไม่แย่งฐานผู้ชมกันเอง และต้องเป็นกลยุทธ์แทรกซึมฐานผู้ชมคู่แข่งด้วย
จากกลยุทธ์การวางผังครั้งใหม่ เนื้อหารายการหลักของช่อง 3SD กลายเป็นละครรีรัน ที่มีข้อดีคือ เป็นละครที่ผู้ชมส่วนใหญ่มีความคุ้นเคย รู้จักดีอยู่แล้ว กลายเป็นการสร้างความรับรู้ จดจำช่องได้รวดเร็วมากขึ้น จากช่องที่ผู้ชมกดข้ามไป หรือไม่เคยแวะมาดู จนทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 3SD ในปี 2558 ขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม TOP 10 ที่อันดับ 9 ทันที และไม่เคยหลุดจากกลุ่ม TOP 10 อีกเลย
ในช่วงปี 2560 เป็นต้นไป ช่อง 3SD ได้เริ่มขยายเวลาละครรีรันเป็นการออกอากาศถึง 7 ชั่วโมงต่อวันในวันจันทร์-ศุกร์ และ 2 ชั่วโมงในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้อันดับช่องในปี 2560 ของช่อง 3SD ขึ้นไปอยู่ในอันดับ 7
ส่วนปี 2561 ช่อง 3SD ได้ขยับเข้าไปถ่ายทอดสดรายการมวยเวทีราชดำเนิน เวทีใหญ่อันเก่าแก่ของไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในวงการทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะในกลุ่ม TOP 10 มีสูง เรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 3SD ในปี 2561 จึงตกไปอยู่ที่อันดับ 9
ข้อมูลฐานผู้ชมช่อง 3SD แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นกลุ่มผู้ชมที่แตกต่างจากช่อง 3HD โดยมีผู้ชมในต่างจังหวัดเป็นฐานใหญ่กว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ที่รวมถึงภาคตะวันตก และภาคตะวันออก และยังจับกลุ่มผู้ชมภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ด้วย ในขณะที่ฐานผู้ชมช่อง 3HD เป็นกลุ่มในกรุงเทพฯและปริมณฑลสูงสุด และพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยที่สุด
นอกจากนี้ข้อมูลสัดส่วนรายการที่ออกอากาศของช่อง 3SD แสดงให้เห็นว่า รายการที่ซื้อลิขสิทธิ์เป็นสัดส่วนสูงสุดของช่อง 3SD และสูงขึ้นในทุกปี ทั้งนี้รายการที่ซื้อลิขสิทธิ์นี้ คาดว่าจะครอบคลุมทั้งประเภทรายการซีรีส์ต่างประเทศ กีฬา และละครรีรันที่เป็นลิขสิทธิ์ของช่อง 3 แอนะล็อก
ส่วนรายการที่ผลิตเองมีสัดส่วนตามมาในอันดับ 2 ที่รวมถึงรายการข่าวของช่อง และมีสัดส่วนของรายการที่ให้เช่าเวลาออกอากาศน้อยที่สุด โดยที่ส่วนใหญ่เป็นรายการในกลุ่มรายการวาไรตี้ และสารคดีสั้นๆ
รายได้ของช่อง 3SD เติบโตขึ้นทุกปี จากรายการละครรีรันที่กลายเป็นขุมสมบัติที่นำมาสร้างรายได้ให้กับช่อง 3SD ชัดเจนมาก แถมยังทำให้ช่องติดอันดับกลุ่มช่อง TOP 10 สู้กับช่องในกลุ่ม TOP 10 ได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมหาศาลเหมือนช่องอื่นๆ ที่สำคัญยังเป็นช่องกลยุทธ์ของกลุ่มช่อง 3 ที่ขยายฐานไปยังผู้ชมในต่างจังหวัดได้อย่างชัดเจน จากรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 151 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีจนในปี 2561 มีรายได้อยู่ที่ 625 ล้านบาท
บทสรุปสำหรับช่อง 3SD ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาคือ “ละครรีรันพารุ่ง”
รายละเอียดเพิ่มเติม https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/620700000011.pdf
นอกจากนี้ ข้อมูลผลประกอบการของบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งรวมผลประกอบการของ 3 ช่องทีวีดิจิทัลในกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมด ที่ได้รายงานผลประกอบการไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้น พบว่า
มีผลประกอบการขาดทุนในช่วง 4 ปีแรก และเพิ่งเริ่มทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในปี 2561 จำนวน 111.30 ล้านบาท และมีรายได้ 2,572.68 ล้านบาท สำหรับในปีแรกมียอดขาดทุนสูงสุดถึง 495.41 ล้านบาท และมีรายได้เพียง 707.24 ล้านบาทเท่านั้น แต่รายได้ของบริษัทก็เติบโตขึ้นทุกปี แต่ฝ่ายบริหารของกลุ่มช่อง 3 ก็เลือกที่จะคืนใบอนุญาต 2 ช่อง เพื่อยืนหยัดไว้ที่ช่องหลักช่อง 3 HD เพียงช่องเดียวเท่านั้น
ผลประกอบการบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย ( รวม 3 ช่อง – 3HD, 3SD และ 3Family)