ข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาของกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลเดือนเม.ย.ปี 2562 รวบรวมโดยนีลเส็น จาก 24 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีโฆษณาได้ ไม่รวมช่องไทยพีบีเอส และทีวีรัฐสภา พบว่า มีมูลค่ารวมทั้งหมด 5,725.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.16 % จากเดือนเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 5,549.74 ล้านบาท
เดือนเม.ย.เป็นเดือนที่มีเทศกาลวันหยุดยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินโฆษณาน้อยที่สุดช่วงหนึ่งของปี ลดลงจากเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ที่มีมูลค่ารวม 6,070.64 ล้านบาท เมื่อแยกมูลค่าโฆษณาตามกลุ่มช่องของกสทช. พบว่าเดือนเม.ย.กลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่ม HD และ SD วาไรตี้ ที่เหลือกลุ่มช่องข่าว, ช่องเด็ก และช่องสาธารณะของรัฐ ที่มีโฆษณาได้ มีมูลค่าลดลง
ทั้งนี้มูลค่าโฆษณาทั้งหมดนี้ เป็นการประเมินมูลค่าจากราคาขายเต็มของแต่ละช่อง ไม่ได้รวมส่วนลดและโปรโมชั่นของแต่ละช่องแต่อย่างใด
ในกลุ่มช่อง HD ช่อง 3 และช่อง 7 ยังครองส่วนแบ่งมูลค่าโฆษณาของเดือน โดยรวม 2 ช่องมีมูลค่าประมาณ 2,600 ล้านบาท รองลงมาเป็นช่องวัน ,ช่อง 9 , ไทยรัฐทีวี , อมรินทร์ทีวี และ พีพีทีวี ตามลำดับ รวมมูลค่าทั้งหมด 3,561.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ของปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,556.80 ล้านบาท
ในกลุ่มช่อง SD วาไรตี้ 7 ช่อง มีมูลค่ารวม 1,626.80 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเม.ย.ของปีที่แล้วที่มีมูลค่ารวม1,405.15 ล้านบาท หรือ 15.77% มูลค่าโฆษณาสูงสุดในกลุ่มนี้คือเวิร์คพอยท์, ช่อง 8, โมโน, ช่อง 3SD, จีเอ็มเอ็ม25 , ทรูโฟร์ยู และสปริง 26
ทั้งนี้กลุ่มช่อง SD เป็นกลุ่มที่มีอัตรามูลค่าโฆษณาเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆในทุกๆเดือน โดยส่วนใหญ่เป็นช่องที่ติดอยู่ในกลุ่มท็อปเท็น จากการวัดเรตติ้ง โดยล่าสุดเดือนเม.ย.นั้น โมโน อยู่ในอันดับ 3 , เวิร์คพอยท์อันดับ 4 , ช่อง 3SD อันดับ 7 , ช่อง 8 อันดับ 9 ส่วน สปริง 26 อันดับ 12 , จีเอ็มเอ็ม 25 อันดับ 14 และทรูโฟร์ยู อันดับ 15 กลุ่มนี้มีช่องแจ้งกสทช.ขอคืน 2 ช่อง ได้แก่ช่อง 3SD หรือช่อง 28 และช่องสปริง26 ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเตรียมเอกสารยื่นเรื่องพร้อมแสดงรายได้ ค่าใช้จ่าย เพื่อนำมาขอเงินชดเชยจากกสทช. โดยคาดว่ากว่าจะเริ่มปิดช่องคงต้องใช้เวลาถึงประมาณเดือน ส.ค.ปีนี้
กลุ่มช่องข่าว มีอัตราเติบโตลดลงเล็กน้อย 0.51% โดยมีมูลค่ารวม 196.08 ล้านบาท ลดจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 197.08 ล้านบาท โดยช่องที่มีมูลค่าโฆษณาสูงสุดในกลุ่มนี้ เรียงตามลำดับ เป็นช่องไบรท์ทีวี, สปริงนิวส์, เนชั่นทีวี, ทีเอ็นเอ็น , นิวทีวี และวอยซ์ทีวี
กลุ่มช่องข่าว ส่วนใหญ่มีเรตติ้งอยู่ในอันดับตั้งแต่ 15 เป็นต้นไป โดยมีช่องเนชั่นทีวีเป็นช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด อยู่ที่อันดับ 11 ในขณะที่สปริงนิวส์อยู่ในอันดับสุดท้าย อันดับที่ 25 กลุ่มช่องข่าว ยื่นของคืนช่องกับกสทช.พร้อมรับเงินชดเชยทั้งหมด 3 ช่อง – วอยซ์ทีวี ไบรท์ทีวี และสปริงนิวส์
ในขณะที่กลุ่มช่องเด็ก ที่มีอยู่ 2 ช่อง ทั้งช่อง 3 Family และ ช่อง MCOT Family ยังคงเป็นกลุ่มช่องที่มีมูลค่าโฆษณาลดลงต่อเนื่อง มีมูลค่ารวม 49.77 ล้านบาทเท่านั้น ลดลง 20.56% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ารวม 62.65 ล้านบาท
ข้อจำกัดของช่องเด็ก ที่มีการกำหนดสัดส่วนรายการ และเนื้อหาโฆษณาเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ช่องเด็กไม่ได้รับความนิยม และหาโฆษณาได้ยาก โดยมีเรตติ้งลดลงต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ช่อง 3Family มีเรตติ้งอยู่ในอันดับ 19 ส่วนช่อง MCOT Family อยู่ในอันดับ 23 ซึ่งเป็น 2 ช่องที่ยื่นขอคืนช่องต่อกสทช.ทั้งสองช่อง เป็นการปิดฉากกลุ่มช่องเด็กในทีวีดิจิทัล ที่คาดว่าจะเริ่มปิดช่องประมาณเดือนส.ค.ปีนี้
กลุ่มช่องภาครัฐที่มีโฆษณาได้ 2 ช่อง ทั้งช่อง 5 และช่อง NBT มีมูลค่าโฆษณารวม 290.58 ล้านบาท ลดลง 11.43% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 328.07 ล้านบาท