ลุยต่อ แม้ขาดทุน “ทรูโฟร์ยู & ทีเอ็นเอ็น” ไม่คืนช่อง

รายการข่าว เรตติ้งช่อง

กลุ่มทรูประกาศมุ่งเดินหน้าธุรกิจทีวีดิจิทัลต่อแม้เรตติ้งน้อยขาดทุนหนักเชื่อโอกาส และศักยภาพในอนาคตหลังมีช่องคืนใบอนุญาต

หลังจากกสทช.ประกาศให้ช่องทีวีดิจิทัล สามารถขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ ทำให้มีกระแสข่าวว่า กลุ่มบริษัทที่ถือใบอนุญาตมากกว่า 1 ช่อง รวมถึงกลุ่มทรู ที่มีใบอนุญาตช่อง ทรูโฟร์ยู และช่องทีเอ็นเอ็น 2 ช่องนั้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในเช้าวันที่ 10 พ.ค.2562 นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย กลุ่มทรู ได้เรียกประชุมพนักงานของทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น โดยชี้แจงว่า การมีม.44 ประกาศออกมานั้น นับว่าเป็นการ set Zero ในอุตสาหกรรมทีวี และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยของกสทช.จะทำให้กลุ่มทรูมีเงินสดกลับคืนมามากกว่าพันล้าน แต่กลุ่มทรูก็เลือกที่จะเดินหน้าต่อทั้ง 2 ช่อง แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งสองช่องจะได้รับความนิยม เรตติ้งน้อย และมีผลประกอบการธุรกิจขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ออนแอร์ครั้งแรกก็ตาม

สำหรับช่องทรูโฟร์ยูนั้น กลุ่มทรูประมูลมาเมื่อปลายปี 2556 ในราคา 2,315 ล้านบาท ในขณะที่ช่องข่าวทีเอ็นเอ็น ประมูลมาที่ราคา 1,316 ล้านบาท

ทรูโฟร์ยู เป็นช่องในกลุ่ม SD วาไรตี้ มีเรตติ้งความนิยมอยู่ในอันดับ 12 เมื่อตอนเปิดตัวในปี 2557 และเคยขึ้นไปสูงถึงอันดับ 10 ในปี 2559 โดยมีคอนเทนต์หลักในช่วงนั้น คือการถ่ายทอดสดรายการกีฬา ที่กลุ่มทรูได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก และหลายรายการกีฬา แต่ในช่วงหลังมาเน้นการผลิตคอนเทนต์บันเทิง โดยร่วมมือกับ ซีเจ อีเอ็นเอ็ม ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่จากเกาหลี มีทั้งรีเมคซีรีส์เกาหลี และรายการวาไรตี้ดังของเกาหลี โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยในปี 2561 อยู่ในอันดับ 13 ส่วนเรตติ้งล่าสุดของเดือนเม.ย. 2562 นั้น ตกอยู่ในอันดับ 15

ในแง่ผลประกอบการของบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจากกสทช.นั้น ตามที่แจ้งผลประกอบการไว้กับกระทรวงพาณิชย์นั้น มีผลประกอบการขาดทุนทุกปี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2561 รวมเป็นยอดขาดทุนถึง 1,500 ล้านบาท และมีรายได้รวมตั้งแต่ปี 2557-2560 กว่า 2,300 ล้านบาท

ส่วนช่องข่าวทีเอ็นเอ็น เริ่มต้นมาจากช่องข่าวทีวีดาวเทียมมาก่อน เมื่อเข้าสู่ระบบทีวีดิจิทัลในปี 2557 ทำเรตติ้งอยู่ในอันดับ 13 ในปีแรก หลังจากนั้นก็ลดลงมาโดยตลอดโดยในปี 2558 อยู่ที่อันดับ 19 และปี 2561 อยู่ในอันดับ 23 ในขณะที่เรตติ้งเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทีเอ็นเอ็นอยู่ในอันดับ 20

ผลประกอบการของบริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวอร์ค ผู้รับใบอนุญาตจากกสทช. ที่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์นั้น มียอดขาดทุนมาโดยตลอดเช่นกัน รวม 4 ปี 2557-2560 ขาดทุนกว่า 620 ล้านบาท ในขณะที่มีรายได้รวมกว่า 1,500 ล้านบาท

ความเป็นช่องสถานีข่าว มีการแข่งขันสูง เพราะช่องในกลุ่มวาไรตี้ และกลุ่ม HD ก็ล้วนลงมาเล่นข่าวกันหมด อีกทั้งปัญหาใหญ่ของทีเอ็นเอ็น ที่อยู่ในหมายเลขช่อง 16 ยังเกิดจากการออกจากธุรกิจทีวีดิจิทัลของช่องทีวีพูล ที่มีหมายเลขช่อง 17 และช่องเด็ก LOCA หมายเลขช่อง 15 ของบริษัทไทยทีวี ของ “เจ๊ติ๋ม-ทีวีพูล” เนื่องจากอยู่ตรงกลางของช่องจอดำทั้งสองช่อง ทำให้ยากต่อการจดจำ หลายคนข้ามช่องกลุ่มนี้ไป

นอกจากนี้ยังมีผู้ชมบางกลุ่มสับสนระหว่างช่องในกลุ่มทรูด้วยกันเอง อย่างช่องทรูโฟร์ยู ที่อยู่หมายเลขช่อง 24 ส่วนช่องทีเอ็นเอ็น ช่วงแรกโปรโมทช่องไว้ว่า เป็นช่องทีเอ็นเอ็น24 (ชั่วโมง) จนเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ทีเอ็นเอ็นต้องเปลี่ยนโลโก้ช่องใหม่ เป็น “ทีเอ็นเอ็น 16”

กลุ่ม“ซีพี” ต้องพึ่งพาช่องข่าว – ทรูโฟร์ยู ต่อยอดทีวีออนไลน์ “ทรูไอดี”

แม้ว่าสูตรการคำนวนของกสทช.การให้เงินชดเชยกับกลุ่มทีวีดิจิทัลนั้นมีราคาสูงมาก โดยช่องในกลุ่มข่าว อาจจะได้รับเงินประมาณช่องละ 500 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม SD อาจจะได้สูงถึง 900 ล้านบาทก็ตาม และทั้ง 2 ช่องของกลุ่มทรู จะมีทั้งปัญหาเรตติ้งความนิยมต่ำ และขาดทุนต่อเนื่อง ทั้ง 2 ช่อง แต่กลุ่มทรูก็ยังประกาศสู้ต่อ เพราะเล็งเห็นโอกาสในอนาคตหลังนโยบายคืนช่องของกสทช.ที่อาจจะจูงใจหลายช่องออกจากธุรกิจนี้ไป เมื่อมีช่องน้อยขึ้น น่าจะมีโอกาสมากขึ้น

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ได้ว่า จากการที่เป็นกลุ่มบริษัทใหญ่ในเครือซีพี บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ตระกูลเจียรวนนท์ ที่ติดอันดับหนึ่งมหาเศรษฐีของไทย ปี 2562 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.95 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 9.41 แสนล้านบาท จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บ ไทยแลนด์ จึงยังมีความจำเป็นต้องมีธุรกิจสื่อไว้ในพอร์ตของบริษัท ทำให้เดินหน้าลุยช่องข่าวทีเอ็นเอ็นต่อไป

ส่วนช่องทรูโฟร์ยูนั้น เป็นกลุ่มช่องในหมวดบันเทิง และกีฬา ที่คาดว่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจออนไลน์ของกลุ่ม โดยเฉพาะ “ทรูไอดี” ที่ต้องสู้กับคู่แข่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีช่องทางทีวีดิจิทัลไว้เป็นช่องทางหลักในการดึงคนเข้าถึงช่องทางออนไลน์

Tagged