โดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
ส่งจากสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy ของฉัน
——– ข้อความดั้งเดิม ——–
จาก: NBTC Rights <nbtcrights@gmail.com>
วันที่: 22/4/19 13:42 (GMT+07:00)
ถึง: KEURMAETHA RERKPORNPIPAT <kurtmaetha@gmail.com>
เรื่อง: บทความเพื่อเผยแพร่ของ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เรื่อง ม. 44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน
เรียน สื่อมวลชน
เนื่องจาก กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เขียนบทความเรื่อง เรื่อง ม. 44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน ซึ่งเห็นว่าประเด็นดังกล่าวกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน และเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสาธารณะ จึงอยากฝากสื่อมวลชนพิจารณาเพื่อเผยแพร่ต่อไป
ขอบคุณครับ
ม. 44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
คำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ก่อให้เกิดปฏิกิริยามากมาย ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ต่างออกมาสนับสนุน ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าก่อความเสียหายต่อชาติก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนผู้คนทั่วไปพากันตั้งคำถามว่า สรุปแล้วคำสั่งฉบับนี้ดีหรือไม่ดี
ในภาพรวมของคำสั่ง มีศูนย์กลางอยู่ที่การจัดสรรคลื่น 700 MHz ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการทีวีดิจิทัล เพื่อเปลี่ยนมาเป็นบริการโทรคมนาคมยุค 5G เมื่อดึงคลื่น700 MHz จากทีวีดิจิทัลมาก็หาแนวทางชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และถือโอกาสนี้เปิดทางให้ช่องรายการทีวีดิจิทัลที่ไปต่อไม่ได้สามารถยุติกิจการได้ โดยให้ได้รับเงินค่าคลื่นคืนตามสัดส่วนระยะเวลาที่ดำเนินกิจการ
ในส่วนการจัดสรรคลื่น 700 MHz ให้กับบริการโทรคมนาคมยุค5G ก็เกรงว่าค่ายมือถือต่างๆ จะไม่เข้าประมูล ด้วยยังมีภาระต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ที่ประมูลไปก่อนหน้านี้ จึงให้ผ่อนค่าคลื่น 900 MHzโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่กำหนดให้ต้องมารับการจัดสรรคลื่น 700MHz ไปด้วย โดยไม่ต้องประมูล
และทั้งหมดนี้ให้อำนาจสิทธิขาดแก่สำนักงาน กสทช. ไม่ใช่ให้อำนาจกรรมการ กสทช. ดังเช่นกฎหมายปกติ
ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนดี แต่ทำไมมีคนไม่เห็นด้วย
จากการรวบรวมความเห็นอันหลากหลาย พอจะสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
- กรณียืดหนี้ให้ทีวีดิจิทัลตามคำสั่ง คสช. ที่76/2559 มีการคิดดอกเบี้ย แต่กรณียืดหนี้ค่าคลื่น900 MHz ให้ฝั่งโทรคมนาคมกลับไม่มีการคิดดอกเบี้ยเลย ส่วนต่างดอกเบี้ยที่หายไปคือความเสียหายของประเทศหรือไม่ และทำไมจึงใช้มาตรฐานที่ต่างกัน
- ทำไมสื่อมวลชนหลายฉบับลงข่าวล่วงหน้าในวันที่11 เมษายน ว่าลุ้น คสช. ออก ม.44 ได้ถูกต้อง เหมือนได้รับข้อมูลวงใน ทั้งที่คำสั่งออกจากองค์กรด้านความมั่นคง มีใครตรวจสอบการใช้ข้อมูลวงในนี้หาประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นหรือไม่ ถ้าพบว่ามีจะต่างอะไรกับการที่อดีตนักการเมืองใช้ข้อมูลวงในของการลอยตัวค่าเงินบาททำกำไรให้แก่ตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2540
- การเปลี่ยนคลื่นทีวีเป็นคลื่นโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา สามารถทำได้โดยไม่ต้องนำภาระค่าคลื่นเดิมมาผ่อนผันแม้แต่น้อย โดยทำการคืนคลื่นทีวีผ่านการประมูลแบบ Reverse Auction และนำคลื่นนั้นไปจัดสรรให้กับบริการโทรคมนาคมแบบ Forward Auction
- การนำภาระค่าคลื่น 900 MHz ไปผูกกับการจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยอ้างว่าต้องเร่งประมูล5Gซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในอีก 15 ปีข้างหน้าถึง 2.3 ล้านล้านบาท แต่จากรายงานของ GSMA ประมาณได้ว่า ผลที่ไทยจะได้รับอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ต่ำกว่ากันถึงเกือบ 6 เท่า และประโยชน์ที่ทั้งโลกจะได้รับอยู่ที่ 70 ล้านล้านบาท สัดส่วนขนาดเศรษฐกิจไทยต่อเศรษฐกิจโลกไม่ถึงร้อยละ 1 จึงไม่มีทางที่จะเป็น 2.3ล้านล้านบาทตามที่อ้างกัน
- จากรายงานของ GSMA ประเทศที่จัดสรรคลื่น 5G ได้เร็วไม่ตกยุคคือประเทศที่จัดสรรภายในปี ค.ศ. 2021น่าจะเป็นเพราะสภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมจะมาในปี ค.ศ. 2021 ทั้งในด้านอุปกรณ์ ด้านความพร้อมใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ส่วนในปัจจุบันแม้ไม่มี 5G ระบบอัตโนมัติและ IoT ก็เปิดให้บริการแล้ว ความเข้าใจที่ว่าถ้าไม่มี 5G จะไม่มีระบบการผลิตอัตโนมัติหรือไม่มี IoT ใช้งานเป็นความเข้าใจผิด หากไทยมี 5G ในปี ค.ศ.2021 ก็ไม่ได้ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษใดของไทยต้องล้มหายไป
- การให้บริการ 5G ต้องใช้คลื่นทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง แต่ไทยยังไม่จัดทำแผนบูรณาการคลื่น5G ทุกย่าน การเร่งจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยไม่มีแผนการใช้คลื่นย่านอื่นประกอบทำให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจ มากกว่าเกิดประโยชน์ และปัจจุบันมีเฉพาะทวีปยุโรปที่มุ่งใช้คลื่นย่าน 700 MHzแต่ยังไม่เปิดบริการและยังไม่มีอุปกรณ์ในท้องตลาด ส่วนอเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยังไม่ได้มุ่งใช้คลื่นย่านนี้
- การเรียกคืนคลื่นจากทีวีดิจิทัลนั้น ต้องมีการทำแผนช่องสัญญาณออกอากาศใหม่ โดยใช้เวลาประสานแผนระหว่างโครงข่ายประมาณ3 เดือน และใช้เวลาปรับอุปกรณ์อีกประมาณ 18 เดือน อย่างน้อยจึงต้องการเวลาอย่างต่ำ20 เดือนนับจากวันเรียกคืน จึงจะสามารถนำคลื่น 700 MHz มาให้บริการโทรคมนาคมได้ การสร้างความเข้าใจผิดในการเร่งโอ่อวดเรื่อง 5G ของไทยในปี ค.ศ. 2019 นี้จะทำให้เกิดความสับสนกับสังคม หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเพียงข้ออ้างในการเอื้อเอกชน
- ด้วยความกังวลว่า หากให้ผ่อนค่าคลื่น900 MHz เมื่อเอกชนได้ประโยชน์แล้ว แต่ไม่เข้าประมูล5G จะทำให้เกิดค่าโง่ ในคำสั่งจึงกำหนดให้เอกชนต้องรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz หากไม่รับการจัดสรรจะไม่สามารถผ่อนค่าคลื่น900 MHz ดูเหมือนจะเป็นการบังคับ แต่เมื่อไม่ต้องใช้วิธีประมูล โดยให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้กำหนดราคาคลื่น หากกำหนดราคาต่ำไป ก็จะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนได้ผ่อนค่าคลื่น 900 MHzด้วย ได้รับคลื่น 700 MHz ในราคาถูกด้วย เป็นการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมอย่างถาวร โดยผลของคำสั่ง คสช.
- ปัญหานี้เกิดจากการไม่มีกลไกกำกับดูแลการจัดสรรคลื่นและการกำหนดราคาคลื่นให้เป็นธรรม ซึ่งในการชดเชย ทดแทน ชดใช้ จ่ายค่าตอบแทนฝั่งทีวีดิจิทัล คำสั่ง คสช. ได้มีการกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายหน่วยงานร่วมพิจารณา แต่กลับมอบดุลพินิจที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลให้กับสำนักงาน กสทช. ดังนั้น โอกาสที่รัฐจะเสียค่าโง่ในการจัดสรรคลื่น700 MHz ยังเปิดกว้างอยู่ และทำให้ตอกย้ำคำถามเดิมว่า ทำไมกิจการสองด้าน คสช. จึงกำหนดมาตรฐานในการจัดการต่างกัน
- ในส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น700 MHzแบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นเดิม (แต่ไม่ได้ระบุว่าช่องใด) และผู้ให้บริการโครงข่ายหรือ MUX การที่มีการตีขลุมว่าทุกช่องรายการได้รับผลกระทบนั้น อาจไม่ถูกต้อง เพราะในการออกอากาศทีวีดิจิทัล ช่องรายการเป็นผู้ส่งเนื้อหาให้MUX แพร่ภาพ แม้ว่าจะมีการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ช่องรายการก็ยังได้รับสิทธิแพร่ภาพด้วยคุณภาพสัญญาณระดับเดิมโดยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในระบบดิจิทัล 1 MUX ใช้เพียง 8 MHz ออกอากาศได้ 12 ช่องรายการ SD หรือ 4 ช่องรายการ HD เมื่อมีการประสานแผนช่องสัญญาณ แม้คลื่น 700 MHzบางส่วนจะหายไป ทุกช่องรายการในปัจจุบันก็ยังจะสามารถออกอากาศได้ตามสิทธิเดิมโดยไม่ผิดเพี้ยน การขยายความให้ผู้ไม่ได้รับผลกระทบไม่ชำระเงินงวดย่อมสร้างความเสียหายต่อรัฐและไม่เป็นไปตามคำสั่งนี้
- สุดท้าย คำสั่งนี้คำนึงถึงทุนเป็นศูนย์กลาง มิใช่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงมีมาตรการดูแลเจ้าของทุน แต่ไม่มีมาตรการดูแลประชาชน มีการตั้งคำถามว่า เอกชนได้ผ่อนค่าคลื่น ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ถูกลงด้วยหรือไม่ และในฝั่งทีวีดิจิทัล เดิมที กสทช. ได้กำหนดให้มีช่องรายการข่าวสารสาระ ช่องรายการเด็ก ซึ่งทั้งสองประเภทได้รับความนิยมน้อยกว่าช่องรายการบันเทิง การไม่กำหนดมาตรการดูแลที่ต่างกันระหว่างช่องรายการต่างประเภทกัน อาจทำให้ช่องรายการข่าวสารสาระและช่องรายการเด็กหายไปมากกว่าช่องรายการบันเทิง ประชาชนก็จะได้รับสัดส่วนรายการที่เป็นประโยชน์น้อยลงไป และผู้สื่อข่าวหรือผู้ผลิตรายการสำหรับเด็กก็จะล้มหายตายจากไปด้วยเช่นกัน
หากผู้มีอำนาจหวนกลับมาคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังพอมีเวลาแก้ไขทัน