กรณีการเสนอ “คลิปเสียงปริศนา” ของบุคคลวงการการเมือง ซึ่งนำเสนอโดย “เนชั่นทีวี” กลายเรื่องร้อนของวงการข่าวทีวีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เมื่อมีการเปิดเผยภายหลังว่า“คลิปเสียงปริศนา” ดังกล่าว เป็นคลิปเสียง ที่ทำการตัดต่อขึ้นมา นำไปสู่กระแสการต่อต้าน เป็นกระแสฮอตที่สุดในโลกออนไลน์ ติดเทรนต์ทวิตเตอร์ ถึง 2 แฮชแทคพร้อมกัน ทั้ง #เนชั่นโป๊ะแตก และ #ถอนโฆษณาเนชั่น จนเกิดเสียงสะท้อนสั่นสะเทือนสังคมถึง บทบาทของสื่อมวลชนในหน้าที่ Gatekeepper ผู้คัดกรองข่าวสารเพื่อเสนอความถูกต้องสู่สังคมอย่างกว้างขวาง
เมื่อมาเจาะเรตติ้ง ฐานผู้ชม ฐานความนิยมของช่องเนชั่นทีวี ว่าเป็นกลุ่มใด อายุเท่าไรกันบ้าง
เรตติ้งเฉลี่ยของช่องเนชั่นทีวีทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.121 อยู่ในอันดับ 15 เป็นการขยับขึ้นมาจากอันดับ 16 เรตติ้งเฉลี่ย 0.075 ในปี 2560 ส่วนเรตติ้งรายเดือนของปี 2562 นั้น ซึ่งกระแสข่าวการเมืองเป็นที่สนใจของสังคม มากขึ้นเป็นลำดับ พบว่าในเดือนม.ค.เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.135 และเดือนก.พ.เรตติ้งเฉลี่ย 0.153 อยู่ในอันดับ 14 เช่นเดียวกันทั้ง 2 เดือน สูงขึ้นทั้งอันดับช่องและค่าเฉลี่ยเรตติ้ง
เมื่อแยกเป็นเรตติ้งเฉลี่ยรายสัปดาห์ ตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่าเรตติ้งเฉลี่ยรายสัปดาห์ของเนชั่นทีวี เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการขยับอันดับจาก 14-15 ขึ้นมาได้ถึงอันดับ12
ด้วยสถานะความเป็นช่องข่าว 1 ในจำนวนหมวดช่องข่าว 6 ช่อง ที่มีกลุ่มผู้ชม แฟนคลับค่อนข้างชัดเจน จากข้อมูลรายละเอียดแยกพื้นที่ของผู้ชมแฟนประจำของช่อง จะพบว่า ฐานผู้ชมหลักของช่องเนชั่นทีวี คือกลุ่มผู้ชมใน “ภาคใต้” ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.215 รองลงมาคือกรุงเทพ 0.189 และพื้นที่ที่รับชมเนชั่นทีวีน้อยที่สุด คือ “ภาคอีสาน” มีเรตติ้งเฉลี่ย0.110
สำหรับกลุ่มผู้ชม ชัดเจนมากว่า เป็นกลุ่มผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 0.190 : 0.135 แตกต่างจากช่องใหญ่ที่เนื้อหาเน้นรายการบันเทิง ส่วนใหญ่จะมีฐานผู้ชมเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ตัวเลขที่น่าสนใจอีกคือ ช่วงอายุแฟนประจำของช่องเนชั่นทีวี คือ อายุ 50 ปีขึ้นไปมากที่สุดถึง 0.374 รองลงมาคือช่วงอายุ 45-49 ปี 0.149 โดยพบว่าช่วงอายุ 40-50 ขึ้นไป คือฐานแฟนประจำเหนียวแน่นของช่อง
ในขณะที่อายุต่ำกว่า 40 ปีนั้น มีเรตติ้งเฉลี่ยต่างกันมาก ค่าเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 0.029- 0.060 เท่านั้น
โดยช่วงอายุผู้ชมที่รับชมช่องเนชั่นทีวีน้อยที่สุดคือ ช่วงอายุ 35-39 ปี มีเรตติ้งเพียง 0.029
หน้าที่หลักของสื่อสารมวลชนจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/rt201dpu/2009/07/09/entry-1 กล่าวไว้ว่า สื่อมวลชน ซึ่งหลักๆ แล้ว ต้องมีบทบาทหน้าที่ในการ ให้ข่าวสาร ให้การศึกษา ให้การแสดงความคิดเห็น และ ให้ความบันเทิง
สื่อมวลชนในแนวคิดของ Lasswell
- สื่อมวลชน“เป็นผู้เฝ้าระวังและตรวจสอบ สังคมและการเมือง”คือการสอดส่องและติดตาม เก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสมาชิกในสังคมมารายงานให้สมาชิกในสังคมได้ทราบ การเฝ้าระวังสังคมนั้น ก็ตรงกับ หน้าที่นี้ก็ตรงกับหน้าที่ของการ “แจ้งให้ทราบข่าวสาร” (to inform) กล่าวคือ สื่อมวลชนคอยดูว่ามีเหตุการณ์ หรือ เรื่องราวอะไรเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้รับความรู้ สื่อมวลชนก็เลือกมานำเสนอ มีการกลั่นกรองข่าวสารตามองค์ประกอบของข่าวมานำเสนอ
- สื่อมวลชน“ประสานสัมพันธ์ส่วนต่างๆ ของสังคมให้อยู่รวมกันได้”หมายถึงหน้าที่ในการติดตาม ศึกษาเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมอย่างถี่ถ้วน แล้วนำมาชี้แจงเพื่อช่วยทำให้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่แตกต่างกัน เข้าใจกัน อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้ด้วยความสงบเรียบร้อย
หน้าที่ในการประสานส่วนต่างๆ นี้ ตรงกับหน้าที่ในการ “วิพากษ์วิจารณ์” สิ่งต่างๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ ในสังคมพร้อมเสนอแนะวิธีการแก้ไขให้เกิดผลดีต่อสังคม ซึ่งอาจหมายถึงหน้าที่ในการชักจูง โน้มน้าวใจในการสื่อสาร
หน้าที่นี้ยังตรงกับการให้ “แสดงความเห็น” คือเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดต่างกันได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการแก้ปัญหา นำสังคมไปสู่การพัฒนาได้
- สื่อมวลชน“ถ่ายทอดมรดกทางสังคม”หมายถึง หน้าที่ในการเผยแพร่ถ่ายทอด หรือสืบทอดความรู้ ค่านิยม ทัศนคติ และบรรทัดฐานของสังคมจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง เพื่อให้วิทยาการศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีของสังคมนั้นๆ คงอยู่ตลอดไป
คนไทยและสังคมไทย คาดหวังว่าสื่อสารมวลชนจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังสติปัญญาด้วยความรับผิดชอบและมีจริยธรรม เพื่อเป็นที่พึ่งพิงและเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสารได้อย่างสนิทใจ