The Active ไทยพีบีเอส จัดเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ระดมภาคีเครือข่ายถักทอตาข่ายนิรภัยของสังคม เกาะติดนโยบายจากภาคประชาชน ยกระดับกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เป็นวาระทางสังคม
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสื่อสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ Healthy Space Alliance และ we!park จัดเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง โดยคณะทำงานทางวิชาการได้เรียบเรียงเป็นองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมประชาธิปไตย เพื่อคืนข้อมูลกับสังคมและเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการขับเคลื่อนต่ออย่างยั่งยืนด้วยกิจกรรม Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันถักทอตาข่ายนิรภัยของสังคมประชาธิปไตย “Political Safety Net” รองรับการเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งให้ยั่งยืนด้วยข้อมูลเชิงวิชาการ และการยกระดับกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เป็นวาระทางสังคมร่วมกัน
นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส กล่าวว่า จากการร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายดำเนินงานเวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง เพื่อร่วมกำหนดนโยบายในการเลือกตั้ง 2566 อย่างมีส่วนร่วม โดยสร้างพื้นที่และเครื่องมือเชิงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฉากทัศนของประเทศ (Scenario Thailand) และภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) จนเกิดเป็นข้อเสนอทางนโยบาย 6 ด้าน จัดกิจกรรม Hack Thailand เกิดเป็นนโยบาย 12 ประเด็น เสนอต่อพรรคการเมืองซื้อนโยบาย ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านได้จัดเวทีเพื่อนําเสนอผลการศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมก่อนการเลือกตั้ง และแนวทางดำเนินการต่อเนื่องอย่างยั่งยืน พร้อมออกแบบกระบวนการติดตามนโยบายของพรรคการเมือง และแนวทางขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายของภาคประชาสังคมที่ได้จากกระบวนการ Policy Hack Thailand และหาแนวทางพัฒนาฉากทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย (Transformation) อย่างราบรื่น
“ไทยพีบีเอสและภาคีเครือข่ายทำโครงการ Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง เพื่อที่จะทำให้สิ่งที่เสนอยั่งยืนได้อย่างไร หรือนำโมเดลนโยบายพื้นที่สีเขียวที่มีการทำงานออกแบบนโยบายอย่างมีส่วนร่วม กลายเป็นโมเดลตัวอย่างที่ดี ในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับพรรคการเมืองในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม”
ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ ผู้อํานวยการโปรแกรมคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า การสร้างฉากทัศน์ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้ามาจากความต้องการเสริมพลังให้กับประชาชนคนไทยมีสิทธิได้ร่วมคิด ร่วมออกแบบประเทศไทย โดยชวนคุยเรื่องใกล้ตัว 6 ประเด็น สุขภาพ การศึกษา ชีวิตสังคม บทบาทภาครัฐ สิ่งแวดล้อม การทำมาหากิน มากกว่า 8 พื้นที่ทั่วประเทศ สะท้อนภาพเชิงสัญลักษณ์ของต้นไม้ 3 ฉากทัศน์ คือใต้ร่มเงา เดี่ยวโดดเด่น และร่วมเกื้อกูล ซึ่งจากการถอดบทเรียนพบว่า ประเทศไทยต้องการนวัตกรรมนโยบายเชิงระบบ พรรคการเมืองเล็ก และนักวิชาการได้รับการเสริมพลัง ขณะเดียวกันความกล้าที่ฝัน หรือกล้าที่จะหวัง มองภาพอดีตรวมด้วย ทำให้ไม่กล้าฝันหรือหวัง ต้องการแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้และไว้วางใจได้ สามารถต่อยอดความฝันและร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดกลไก สำหรับข้อเสนอแนะอยากให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รับฟังประชาชนมากยิ่งขึ้น เชื่อมโยงกับภาคการเมือง และรักษาความเป็นกลางใช้ประโยชน์ภาควิชาการและสื่อสาธารณะให้ได้มากที่สุด
ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Post Election เป็นวิธีการใหม่ในการกำหนดนโยบายอย่างมีส่วนร่วม นำเสนอนวัตกรรมทางนโยบาย ที่มีวิธีการ กลยุทธ์ที่เสนอทางออกใหม่ๆ ต่อความท้าทายใหม่ๆ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เปิดกว้างรับฟัง เป็นข้อต่อที่เปลี่ยนความคิดในการสร้างเครื่องมือให้นโยบายสาธารณะปรับใช้ได้จริง นอกจากนี้สะท้อนพื้นที่สาธารณะจำลอง ที่ให้คนหลากหลายพัฒนาข้อเสนอแนะให้พรรคการเมือง ทำหน้าที่เป็นสานเสวนาทางนโยบาย ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน กลายเป็นวาระทางสังคม หรือโครงสร้างพื้นฐานทางนโยบาย และเรื่องนี้มีกลไกการมีส่วนร่วมโดยที่ไม่มีกฎหมายกำหนด ที่สำคัญมีสารตั้งต้นที่เป็นสถาบันสื่อและปลายทางเป็นพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ดังนั้น ทำอย่างไรให้ Post Election นโยบายสาธารณะที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาถอดกระบวนการและผลลัพธ์จากการศึกษา “นโยบายพื้นที่สาธารณะสีเขียวปลดล็อกได้อย่างไร” ในเวทีสาธารณะ Green Spaces นโยบายที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เวทีวิชาการ Post Election จุดเริ่มต้นการมีส่วนร่วมสู่นวัตกรรมประชาธิปไตย เวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ “สร้าง Political safety net” เพื่อร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยอย่างยั่งยืน