ลิขสิทธิ์บอลโลก 2018 มูลค่า 30 ล้านเหรียญ
ข้อสรุปค่าลิขสิทธิ์สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่รัสเซียระหว่าง 14 มิ.ย.-15 ก.ค. 61 จากการเปิดเผยของทรูวิชั่นส์ ผู้ถือลิขสิทธิ์ในนามประเทศไทย สรุปแล้วว่าอยู่ที่ 30 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 960 ล้านบาท สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 21 ซึ่งเป็นตัวเลขมูลค่าลิขสิทธิ์สูงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยซื้อมา ที่บรรดาทีวีช่องต่างๆ ทั้งช่องใหญ่ ช่องเล็กที่ได้ไปพยายามประมูลสิทธิ์มาก่อนหน้านี้ ไม่สามารถทุ่มทุนซื้อมาได้ เพราะมีแนวโน้มขาดทุนอย่างแน่นอน จนทำให้ภาคเอกชนทั้ง 9 บริษัทต้องเข้ามาร่วมลงขันกันในวงเงิน 1,400 ล้านบาท จากการจัดการของรัฐบาล เพื่อให้คนไทยได้ดูบอลโลกฟรี
นอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์ 30 ล้านเหรียญแล้ว ยังมีค่าดำเนินการด้านการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์ แคมเปญ “สวัสดีบอลโลก” อีกประมาณ 65 ล้านบาท และที่เหลือคือ ค่าดำเนินการด้านเทคนิค ทั้งเรื่องการเช่าสัญญาณดาวเทียม การส่งสัญญาณ เตรียมทีมพากย์ ที่ทางทรูวิชั่นส์จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
ย้อนรอยการถ่ายทอดสดบอลโลกของไทย
ตำนานการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศไทย เริ่มในปี 1970 หรือ 2513 ที่ประเทศเม็กซิโก ทวีปอเมริกาเหนือ เป็นปีแรกที่ฟุตบอลโลกได้จัดขึ้นนอกทวีปอเมริกาใต้ และยุโรป เป็นปีแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางทีวีทั่วโลกด้วยระบบสีแทนสีขาวดำ และที่สำคัญ เป็นปีแรกที่คนไทยได้รับชมการถ่ายทอดสดในนัดชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขันในปีนั้น ทีมชาติบราซิล ชนะ ทีมชาติอิตาลี 4-1 ในนัดชิงชนะเลิศ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยก็เริ่มได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ในทุกๆ 4 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาล ในรูปแบบโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล ช่วงแรกเป็นถ่ายทอดสดแบบไม่กี่แมชต์สำคัญ มาเป็นครบทุกแมตช์ในปี 1990 จนมาเป็นรูปแบบภาคเอกชนดำเนินการอย่างเต็มตัวในปี 2002 ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 17 ที่เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ โดยมีบริษัททศภาค ของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หรือช้าง เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ที่ได้ดำเนินการแบบธุรกิจเต็มรูปแบบ
หลังจากหมดยุคทศภาค RS ก็เข้ามาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของปี 2010 และ 2014 พร้อมๆกับการที่กสทช. ได้ออกระเบียบ Must Have
Must Have กฎเหล็ก ที่ต้องการให้คนไทยดูบอลโลกฟรี
สำหรับภาคเอกชนแล้ว หลายคนมองว่าประกาศ Must Have นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครไปซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศในประเทศไทย เพราะเมื่อไปซื้อมาในราคาแพงแสนแพงแล้ว ก็ยังต้องถูกบังคับให้ออกอากาศทางฟรีทีวีเท่านั้น หมายความว่าจะสามารถหารายได้ชดเชยค่าลิขสิทธิ์จากค่าโฆษณาเท่านั้น ไม่สามารถเก็บเงินค่าสมาชิก ค่ารายเดือน จากประชาชนได้เลย อย่างไรก็ตามกฏ Must Have ได้เปิดทางให้ทำเรื่องขอผ่อนผันมาที่กสทช.ได้
Must Have คือประกาศที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับชมรายการกีฬาสำคัญระดับโลก โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าดูเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ระบุว่า มีประเภทรายการกีฬา 7รายการ คือ โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ รวมถึงพาราเกมส์ของทั้งสามรายการ และฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกแมตช์ จะต้องออกอากาศผ่านทางฟรีทีวีเท่านั้น หากจะออกอากาศช่องทางอื่นจะต้องขออนุญาต กสทช.ก่อน
ประกาศนี้ออกมาปี 2555 หรือปี 2012 ก่อนฟุตบอลโลก 2014 ทำให้มีปัญหากับ RS เจ้าของสิทธิ์ ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะออก มีเรื่องฟ้องร้องที่ศาล สุดท้ายกสทช.ก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ RS เป็นวงเงิน 369.85 ล้านบาท
4k ครั้งแรกในประเทศไทย
ในปี 2018 นี้ ได้ข้อสรุปว่าจะมีการถ่ายทอด 3 ช่องทีวีดิจิทัล ได้แก่ ทรูโฟร์ยู, อมรินทร์ทีวี และ ททบ.5 ด้วยระบบ HD และ 4k Utra HD ทางช่องทีวีบอกรับสมาชิกจากทรูวิชั่นส์ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้จะได้รับชมรายการทีวีในรูปแบบ 4k Ultra HD ที่มีความคมชัดกว่าระบบ HD 4 เท่า แต่ต้องเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณ และรุ่นทีวีต้องรองรับระบบ 4k ด้วยเช่นกัน
[xyz-ihs snippet=”AD2-TV-Analysis”]