กสทช.เดินหน้า road map แผนการจัดระเบียบคลื่นวิทยุทั่วประเทศ รับการคืนคลื่นวิทยุทั้งหมด เม.ย.65 ประเดิมด้วยการประมูลนำร่อง 5 สถานีวิทยุ สังกัด 1 ป.ณ.ของกสทช. ที่รวมถึงคลื่นฮิตอย่าง 106.5 MHz กรีนเวฟ และ 9 คลื่นกรมประชาฯ เริ่มเปิดประมูลในเดือนก.พ.ปีหน้านี้
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช.เตรียมเดินหน้าทำตาม Raod Map ของการพัฒนากิจการกระจายเสียงตามมติ บอร์ดกสทช.เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้อนุมติแผนการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง ฉบับที่ 2 ของ กสทช. และประกาศ คสช. วันที่ 20 ธ.ค.59 ที่กำหนดให้เจ้าของคลื่นความถี่วิทยุต้องคืนคลื่นความถี่วิทยุให้กับ กสทช.ภายใน เม.ย.2565 เพื่อให้กสทช. นำมาจัดสรรใหม่ โดยตามกฎหมายคลื่นวิทยุธุรกิจ จะนำมาเปิดประมูลตามกฎหมาย
ตามแผน กสทช.ได้จัดประกาศเพื่อเตรียมการจัดระเบียบคลื่นวิทยุ และการประมูลจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนพ.ย.นี้
การจัดระเบียบคลื่นวิทยุใหญ่ทั่วประเทศครั้งนี้ กสทช.จัดแบ่งเป็นคลื่นธุรกิจ และคลื่นสาธารณะ โดยคลื่นธุรกิจ FM จะนำมาประมูล ซึ่งจะเริ่มประเดิมการประมูลชุดแรกด้วยคลื่นในสังกัด กสทช. สถานีวิทยุ 1 ป.ณ.คลื่น FM จำนวน 5 คลื่น และ 9 คลื่นจากกรมประชาสัมพันธ์จะนำมาประมูลก่อนเป็น Pilot Project
5 คลื่น สถานีวิทยุ 1 ป.ณ. กสทช. เตรียมประมูลก.พ.65
คลื่น | สถานะ |
FM 106.5 MHz กรุงเทพ (คลื่นรายการกรีนเวฟ) | แบ่งเวลา จ้างบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ผลิตรายการ เพื่อออกอากาศ |
FM 98.5 MHz กรุงเทพ | ยุติการออกอากาศตั้งแต่ 1 ก.พ.2564 |
FM 102 MHz อุบลราชธานี | ส่งคืน กสทช.แล้ว |
FM 99 MHz อุดรธานี | ส่งคืน กสทช.แล้ว |
FM 89 MHz ภูเก็ต | ส่งคืน กสทช.แล้ว |
ที่มา กสทช.
ทั้งนี้คลื่น 106.5 MHz เป็นคลื่นฮิต ที่ปัจจุบันเป็นรายการ กรีนเวฟ ของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ดำเนินรายการอยู่ เป็นหนึ่งในคลื่นดังที่คาดว่าจะได้รับความสนใจมากที่สุดในการจัดประมูลครั้งนี้
สำหรับรายละเอียดราคา เริ่มต้น และรูปแบบวิธีการประมูลนั้น พ.อ.นที กล่าวว่า กสทช.อยู่ระหว่างการจัดทำรายเอียดทั้งหมดคาดว่าจะได้ข้อสรุปในประมาณเดือนธ.ค.นี้
Timeline การประมูลคลื่นวิทยุธุรกิจ
- ธ.ค.64 หนังสือเชิญชวนให้มาประมูลคลื่นธุรกิจ
- ก.พ. 65 จัดประมูลคลื่น FM นำร่อง และประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล
- มี.ค. 65 พิจารณาคำขอประกอบกิจการ และประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตเป็นทางการ
- เม.ย.65 เริ่มประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาต
- พ.ค.65 จัดประมูลคลื่น FM ที่เหลือจากการจัดสรร
พ.อ.นที กล่าวว่า หลักการจัดระเบียบคลื่นวิทยุครั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการจะต้องยุติใบอนุญาตในเดือนเม.ย.2565 แต่จะให้ออกอากาศต่อไป เพื่อเตรียมการออกใบอนุญาตตามการจัดระเบียบใหม่ โดยวิทยุสาธารณะ และชุมชน จะได้ใบอนุญาตในรูปแบบ Low Power ที่มีกำลังส่งต่ำ ส่วนผู้ประกอบการใบอนุญาตทดลองประเภทบริการธุรกิจนั้น กสทช.จะอนุญาตให้ออกอากาศเป็นการชั่วคราวไปก่อน ในระหว่างที่รอกสทช.นำคลื่น FM ไปประมูล โดยจะสามารถใช้คลื่นดังกล่าวได้จนถึงเดือน เม.ย.2567 หลังจากนั้นก็จะต้องยุติการการดำเนินงานทั้งหมด
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุรายเดิม จะต้องคืนคลื่นทั้งหมดใน เม.ย.65 และ กสทช.จะจัดประมูลคลื่น โดยเริ่มที่คลื่น FM ของ 1 ป.ณ.จำนวน 5 คลื่น และ 9 คลื่นจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นชุดแรกเป็น Pilot project
หลังจากนั้นจะเริ่มประมูลคลื่นที่รับคืนมาจากหน่วยงานต่างๆ โดยที่หน่วยงานที่คืนคลื่นยังจะได้ผลตอบแทนในรูปแบบรายได้จากค่าเช่าเครือข่ายการออกอากาศในคลื่นดังกล่าว จากผู้ที่ประมูลคลื่นนั้นไปได้ ซึ่งคาดว่าจะประมูลคลื่นที่เหลือทั้งหมดได้ในเดือนพ.ค.65
ทั้งนี้คลื่นที่ไม่ได้คืนกลับกสทช. จะถูกจัดเป็นคลื่นในประเภทบริการสาธารณะทั้งหมด ที่มีข้อจำกัดว่าจะต้องมีสัดส่วนรายการเป็นข่าวสาร หรือสารประโยชน์ไม่น้อยกว่า 70%
ปัจจุบันผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงในประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการบนคลื่นหลัก ที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิม ที่หน่วยงานรัฐ เช่นกองทัพ รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ครอบครองคลื่นอยู่ และกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ที่พัฒนามาจากกิจการวิทยุชุมชนในอดีต
สำหรับข้อมูลของผู้ประกอบการวิทยุ แบ่งเป็น
1.กลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม แบ่งเป็นคลื่นธุรกิจ 60 คลื่น คลื่นสาธารณะ 449 คลื่น รวม AM ด้วย มีคืนให้กสทช. 14 สถานี และวันที่ 3 เม.ย.จะมีคลื่นคลื่นอีก รวม 74 สถานี จะประมูล ส่วนที่เหลือเป็นการใช้บริการสาธารณะ
2.กลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ แบ่งเป็นคลื่นธุรกิจ 3,210 คลื่น คลื่นสาธารณะ 672 คลื่น และคลื่นชุมชน 188 คลื่น ซึ่งกลุ่มคลื่นสาธารณะและคลื่นชุมชน จะมีการให้ใบอนุญาตก่อน 4 เม.ย. 2565 ส่วนกลุ่มทดลองคลื่นธุรกิจนี้ จะมีโอกาสไปเข้าร่วมประมูลคลื่นวิทยุประเภทธุรกิจ หากรายไหนประมูลไม่ได้ ยังเปิดโอกาสให้เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการวิทยุกำลังส่งต่ำ (Low Power)
ทั้งหมดนี้ กสทช.จะมีการจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด โดยเป็นคลื่น FM ตามประกาศแผนความถี่วิทยุ จำนวน 313 ความถี่ ที่แบ่งเป็นสาธารณะ 239 คลื่น และ ธุรกิจ 74 คลื่น
และมีคลื่น FM ตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็น Low Power อีกจำนวนหนึ่ง
ส่วนคลื่น AM ตามประกาศแผนความถี่วิทยุ มีจำนวน 196 คลื่นความถี่ เป็นสาธารณะ รายเดิม 155 คลื่น และ สาธารณะ รายใหม่ 41 คลื่น