โควต้าใหม่รับภารกิจร้อน บอร์ด กสทช.ด้านสิทธิและเสรีภาพ (ตอนที่ 1)

กสทช. กสทช. บทความพิเศษ

​ใกล้เข้าสู่โค้งท้ายของกระบวนการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ เพื่อทดแทนบอร์ดชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ 7 ต.ค. 2554 และมีคำสั่ง คสช. ให้ “ปฏิบัติหน้าที่” ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหากรรมการตาม พ.ร.บ.ใหม่

ล่าสุดคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ได้กำหนดให้วันที่ 31 ส.ค. ถึง 3 ก.ย. 2564 เป็นวันสัมภาษณ์และให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้ง 78 คน ได้แสดงวิสัยทัศน์ ก่อนที่จะเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติเลือกต่อไป

ความแตกต่างของการสรรหาบอร์ด กสทช. ในครั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่แก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2564 นอกจากจะลดจำนวนกรรมการจาก 11 คนเหลือ 7 คนแล้ว ยังเพิ่มโควตาของกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีก 1 คน แยกออกจากกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้สัดส่วนของบอร์ด กสทช. จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านละ 1 คน

“น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า การที่ พ.ร.บ.ใหม่ กำหนดโควตากรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แยกออกจากกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองผู้บริโภค แตกต่างจากบอร์ดชุดปัจจุบันที่ให้โควตารวมกันแค่ 1 คน เป็นการ “จับพลัดจับผลู” ในตอนยกร่าง พ.ร.บ.

“ตอนแรกในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายมีแนวคิดที่จะตัดโควตาส่วนนี้ออกไปเลย แต่ไปๆ มาๆ ก็กลายมาเป็นแยกออกด้านคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน ด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพอีก 1 คน ซึ่งพอออกมาเป็นแบบนี้ คุณสมบัติของกรรมการด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพจะมีสเป็กกว้างมาก เพราะทุกคนอ้างได้หมดว่า ตนเองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิคนกลุ่มน้อย สิทธิคนพิการ หรือสิทธิผู้สูงอายุ สิทธิกลุ่มไหนก็ได้ ตีความได้กว้างมาก”

​ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 13 คน (สูงเป็นอันดับ 1 เท่ากับผู้สมัครด้านกิจการโทรคมนาคม) จากผู้สมัครทั้งหมด 78 คน

ขณะที่งานสำคัญด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในมุมมองของ “น.พ.ประวิทย์” ที่บอร์ดชุดใหม่โดยเฉพาะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมสิทธิฯ จะเข้ามามีบทบาทได้ คือ งานด้านการเข้าถึง อย่างบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง การเข้าถึงบริการต่างๆ ของคนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงงานในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ที่ครอบคลุมมิติเรื่องเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) หรือเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression)

“เรื่องสิทธิในการเข้าถึงเป็นปัญหาอยู่ทั้งฝั่งโทรคมนาคมและกระจายเสียง แต่ในส่วนกระจายเสียงจะมีพิเศษที่ขาดไปจริงๆ คือ เรื่องสิทธิในการแสดงออก ที่ผ่านมาบอร์ด กสทช. ได้มีการลงมติในหลายเรื่องที่ระบุว่า รายการหรือสถานีโทรทัศน์ทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ ระบุให้บอร์ด กสทช. มีหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มวิชาชีพเพื่อให้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพขึ้นมา ส่วนบอร์ด กสทช. มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคในการให้บริการได้ แต่ไม่ได้ให้กำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพ”

​ฉะนั้นหากจะต้องลงไปกำกับในแง่มุมของวิชาชีพ ด้านจริยธรรมสื่อ กสทช. ควรให้องค์กรวิชาชีพเป็นผู้วินิจฉัย เพราะ กสทช. ไม่ได้มาในสายจริยธรรม แต่ กสทช. กำกับตามกฎหมาย กรรมการด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพจะเข้ามามีบทบาทในแง่นี้ได้คือการไปสร้างการร่วมกลุ่มในแต่ละส่วนของงานเพื่อกำหนดกรอบจริยธรรมให้ “สิทธิ” อยู่สอดคล้องกับจริยธรรม

“สิทธิถูกกำกับโดยกฎหมาย แต่ถ้าสิทธิในการสื่อสารบางอย่าง อาทิ คอนเทนต์เป็นคอนเทนต์ที่ถูกกฎหมายแต่หมิ่นเหม่ด้านจริยธรรม ก็เป็นปัญหาอีกแบบที่จะต้องถูกกำกับโดยมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งไม่ใช่ กสทช. เป็นผู้กำกับ ต้องให้คนในวงการเขาเป็นผู้จัดการ”

ส่วนมิติที่ขาดหายไปเลย คือ เรื่องวิทยุชุมชน ทีวีชุมชน ที่ กสทช. ไม่ได้ดำเนินการเลย แต่ตามกฎหมายยังกำหนดสัดส่วนการใช้คลื่นไว้ให้ภาคประชาชน จึงต้องทำให้ชัดเจนว่าจะส่งเสริมต่อหรือไม่

อีกเรื่องหากทำได้คือ Digital literacy ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเตรียมพร้อมให้กับเยาวชนและสังคมสามารถรับมือกับภัยที่จะมาจากการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างการรับมือกับ SMS หลอกลวง สแปม การโฆษณาออนไลน์หรือทางช่องทางทีวีวิทยุ ที่เกินจริงหลอกลวง ซึ่งมิติตรงนี้ที่ผ่านมาดำเนินการไม่มากนัก

ส่วนอุปสรรคในการทำงานที่กรรมการด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ของบอร์ดชุดใหม่อาจจะต้องเจอ “น.พ.ประวิทย์” ระบุว่า สำคัญคือเรื่องนโยบายของบอร์ด แล้วก็อยู่ที่วิธีคิดของกรรมการ ว่าจะมองประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของสังคม ของผู้บริโภคและประโยชน์ของผู้ประกอบการอย่างไร เพราะต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า บอร์ดชุดนี้มีอิทธิพลของโอเปอเรเตอร์เยอะมาก การจะลงมติโหวตเรื่องผู้บริโภค เรื่องสิทธิ ก็แพ้โหวตตลอดอยู่แล้ว

“เอาเข้าจริงๆ มันอยู่ที่นโยบายใหญ่ของบอร์ด กสทช. แต่ละชุด ว่าวางไว้แบบไหน อย่างบอร์ดชุดปัจจุบันคือ รวบอำนาจไว้หมด ไม่สนใจแยกเนื้องานตามความเชี่ยวชาญว่า เหมือนตีตั๋วจองงานที่อยากทำได้ ไม่จำเป็นว่ากรรมการด้านนี้จะต้องทำเฉพาะเรื่องนี้ แต่บอร์ดทุกคนสามารถหยิบงานไหนที่ตัวเองอยากทำมาทำก็ได้ ฉะนั้นอยู่ที่นโยบายบอร์ดว่าจะวางไว้แบบไหน แต่สำหรับงานด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ กสทช. ชุดใหม่จะทำได้ยังมีอีกมาก”

นอกจากที่ว่าที่อดีต กสทช.ได้กล่าวไปแล้ว ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมากับสถาณการณ์ โควิด-19 ปัญหาเรื่องการเข้าถึงเยียวยาของกลุ่มเปราะบางต่างๆเช่นคนพิการผู้สูงอายุหรือคนที่ขาดความรู้และเครื่องมือในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หวังว่าว่าที่ กสทช ด้านใหม่ถอดด้ามจะเข้ามาสานต่อได้ต่อไป

รายละเอียด 13 รายชื่อผู้สมัครเป็นบอร์ด กสทช.สายส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

 

Tagged