ปี 2563 กลุ่มธุรกิจสื่อทีวี ยังคงได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตไวรัสโควิด 19 ทำเอารายได้จากค่าโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมนี้ลดลงทั้งหมด รวมถึงกลุ่มช่อง 3 ซึ่งรายได้ทั้งปีลดลงถึง 29.5%
รายได้โฆษณาลดลง 29.4%
ขายลิขสิทธิ์ละคร 5 เรื่องรายได้ 408.5 ลบ.
ไตรมาส 4 กำไร 230 ลบ. แต่ทั้งปีขาดทุน 214 ลบ.
ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างจำกัด จากผลกระทบของ COVID-19 รวมถึงความเสี่ยงจากการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ BEC มีผลประกอบการปี 2563 ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 214.3 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 182.9 ล้านบาท หรือ 46.1% จาก ปี 2562 ที่ขาดทุน 397.2 ล้านบาท ปี 2563
ส่วนไตรมาส 4 ปี 2563 มีกำไรที่ 230 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2562 ที่มีกำไร 60 ล้านบาท ทั้งนี้โดยรวมในปี 2563 ไตรมาสที่ 1 และ 2 ขาดทุน ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 กำไร
โดยบริษัทได้ลดต้นทุนการขายและการให้บริการ รวมถึงลดจำนวนพนักงานประมาณ 55% จากรายงานข้อมูลงบการของ BEC ได้ขายหุ้นในบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เม้นท์ จํากัด มีรายได้ 15 ล้านบาท มีการปิด 4 บริษัทย่อยที่หยุดทำธุรกิจ ได้แก่ บริษัท แซทเทิลไลท์ ทีวี บรอดคาสติ้ง บริษัท บีอีซี สตูดิโอ บริษัท บางกอกแซทเทิลไลท์ แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น และบริษัท ยู แอนด์ ไอ คอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้มีการบริหารต้นทุนเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงโดยการลดต้นทุนจากการผลิตละครและลดค่าตัดจ่ายละครลง โดยมีการวางรีรันละคร prime time ด้วย
ตั้งเป้ารายได้ขายลิขสิทธิ์ และดิจิทัลเพิ่มขึ้น 20%
สำหรับเป้าหมายของบริษัทในปี 2564 ระบุว่า จะดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลาย สามารถแข่งขันในระดับโลก ลดการพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาที่น้อยลงเรื่อยๆ โดยจะเน้นการสร้างนวัตกรรมหารายได้จากการโฆษณารูปแบบใหม่ เช่น Home Shopping QR และ SMS และการทำการตลาดรูปแบบ Sponsorship และการจัดกิจกรรม
มีกลยุทธ์ Single Content Multi Platform โดยคาดหวังรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ในจีนและประเทศอาเซียน และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่รวมถึง Ch3 Plus ที่เริ่มระบบเก็บค่าบริการรายเดือนการชมคอนเทนต์ละครและรายการพิเศษ ด้วยฐานนักแสดงสังกัดช่อง ซึ่งเป็นจุดเด่นของช่อง 3 ด้วย ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่ารายได้ส่วนนี้จะโตขึ้น 20% จากปี 2563