บริษัท โมโน เน็กซ์ แจ้งผลประกอบการของ ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดที่กลุ่ม Mono แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ที่น่าสนใจ มีการระบุถึงแผนธุรกิจปี 2564 ไว้ว่า มุ่งพัฒนาคอนเทนต์ที่ผลิตเองและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ลดสัดส่วนการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศ
ที่ผ่านมาจุดเด่นของกลุ่ม Mono เป็นคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศ ที่เป็นปัจจัยหลักทำให้ทีวีดิจิทัลช่อง Mono เติบโตขึ้นสู่อันดับ 3 ในตลาดทีวีดิจิทัลโดยรวม แต่ค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศมีราคาแพง และมีข้อจำกัดเรื่องการได้สิทธิ์การนำมาออนแอร์จำกัดจำนวนครั้ง ไม่เหมือนคอนเทนต์ที่ผลิตเอง จะสามารถนำมารีรันได้ตลอด โดยไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก ทำให้กลุ่ม Mono เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ด้วยการ ดึง “แดง ธัญญา โสภณ” ผู้จัดละครหลักของช่อง 3 เข้ามาเป็นผู้บริหารในเครือ Mono ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตรายการ Mono Next ซึ่งครอบคลุมถึงการผลิตคอนเทนต์ภาพพยนตร์ไทยและละครซีรีส์ ในช่องทาง MonoMax และช่อง Mono ไปเมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
MONO ระบุว่า ปี 2564 จะมุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยและละครซีรีส์ เพื่อเพิ่มฐานกลุ่มผู้บริโภค ในการรองรับการให้บริการ MONOMAX,บริการคอนเทนต์ทางแพลตฟอร์ม 3BB GIGATVและช่อง MONO29และมีแผนการปรับลดสัดส่วนงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์และมุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์เองเพื่อเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีคอนเทนต์ที่ระยะเวลาการใช้สิทธิ์ไม่จำกัดและ ขยายฐานรายได้และเพิ่มช่องทางรายได้จากการให้บริการบนแพลตฟอร์ม 3BB GIGATVอาทิเช่น รายได้บริการโฆษณารายได้จาก Home Shopping เป็นต้นซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อให้บริการดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564
ปี 63 ขาดทุน 661 ลบ. ขาดทุนเพิ่มขึ้น 7.4%
พบว่ามียอดขาดทุนรวม 661.5 ล้านบาท เป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้น 7.4 % เมื่อเทียบกับ ปี 2562 ที่ขาดทุน 616.2 ล้านบาท โดยภาพรวมของรายได้ของกลุ่ม Mono ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,214.77 ล้านบาท ลดลง 569 ล้านบาท หรือ 31.9% จาก ปี 2562 ที่มีรายได้รวม 1,783.7 ล้านบาทโดยสาเหตุมา จากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เม็ดเงิน โฆษณาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เม็ดเงิน โฆษณามีแนวโน้มดีขึ้นตามลําดับประกอบเพราะ สถานการณ์ COVID-19ในประเทศไทยมีการควบคุมที่น่าพอใจในขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอนและนโยบายส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดซื้อโฆษณาได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจส่งผลให้แนวโน้มรายได้ค่าโฆษณาปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
รายได้หลักของ โมโน ยังคงเป็น รายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณา และ รายได้จากการให้บริการคอนเทนต์ ที่คิดเป็น 71.8%และ 16% หรือ 98 %ของรายได้รวมทั้งหมดตามลำดับ รายได้ขายสินค้า เพิ่มขึ้นเป็น 41.6 ล้านบาท หรือ 82.5% จาก ปี 2562 ที่มีรายได้รวม 22.8 ล้านบาท รายได้การให้บริการคอนเทนต์มีแนวโน้มที่ดีซึ่งพบว่าในปี 2563 มีรายได้การให้บริการคอนเท้นต์ 271.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ที่มีรายได้ 135.7ล้านบาท
ในปี 2563 Mono ได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยหยุดธุรกิจที่ไม่ทํากําไร ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดย กลุ่มบริษัทได้หยุดดําเนินธุรกิจบริษัทในเครือ 8 บริษัท รวม ถึงการปิดบริษัทไทยโปรเฟสชั่นแนลบาสเกตบอลลีกจํากัดซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯถือหุ้นเนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่จะไม่คุ้มการลงทุนและ การปรับโครงสร้างภายในองค์กรโดยการบริหารจัดการ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพนักงาน ค่าเช่า ควบคุมการซื้อและการผลิต Content ส่งผลให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าในการบริหารลดลง 228.2ล้านบาทหรือ 29.2% จาก 780.7 ล้านบาทในปี 2562 เหลือ 552.5 ล้านบาท ในปี 2563
ทั้งนี้ ในปี 2564 นี้ MONO ยังจะมุ่งเน้นดําเนินธุรกิจที่ทํากําไร ได้แก่ช่อง MONO บริการวีดีโอออนดีมานต์ (MONOMAX) ตลอดจนปรับกระบวนการทํางานให้ทันสมัยและตอบโจทย์ลูกค้า ตั้งหน่วย digital marketing solution ขึ้นมาทำงานผสานกับหน่วย online/offline activation รวมถึงสื่อในเครือทั้งทีวีช่องMONO ที่มีฐานคนดูเป็นอันดับ 3ของประเทศ และสื่อที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้ออนไลน์อย่าง MTHAIกลายเป็นบริการ online/offline ที่ครบวงจรตอบโจทย์ลูกค้าทุกรูปแบบ
การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ครั้งสำคัญของกลุ่ม Mono ด้วยการทุ่มผลิตคอนเทนต์ไทย ซึ่งยังไม่มีการระบุว่าจะทุ่มเทงบประมาณมากขนาดไหน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้ช่อง Mono ได้ขยับจากอันดับ 3 ขึ้นไปเขย่าบัลลังก์อันดับ 2 ของช่อง 3 ได้หรือไม่ ศึกชิงผู้ชมด้วยคอนเทนต์ไทยครั้งนี้ น่าติดตามอย่างยิ่ง