วันนี้ (20 มกราคม 2564) พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์มาตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง ปรากฏผลการดำเนินการจนถึงปัจจุบันคือ ตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณีโฆษณา กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ในส่วนของการโฆษณาทางสื่ออินเตอร์เนต และสื่อสังคมออนไลน์ จะมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) ร่วมมือกับ อย. ในการจัดการปัญหาการโฆษณา
“จากความร่วมมือก่อให้เกิดการปรับตัวของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงอย่างกว้างขวาง บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือ การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี ที่กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ ซึ่งเป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคนั้น โดนจับ ปราบ ส่งดำเนินคดีจนเข็ดหลาบ และได้เลิกการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม กสทช. ตรวจสอบพบว่า การจัดฉากโฆษณาลวงโลกในลักษณะดังกล่าว ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้โฆษณารายใหม่ คือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ซึ่งเรื่องนี้ กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก”
กสทช. พลโท ดร. พีระพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. . เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์
“ค่าปรับของ กสทช. .นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับรายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”
กสทช. พลโท ดร. พีระพงษ์ฯ เปิดเผยอีกว่า นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับ
“ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ชี้ชัดว่า ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ไม่สามารถรักษาโรคได้ การสูญเสียดวงตา และการมองเห็น ถือได้ว่าส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ เพราะถึงแม้ไม่เสียชีวิต แต่การสูญเสียดวงตานั้นทำให้เสียคุณภาพชีวิตทั้งชีวิต ซึ่งเข้าลักษณะความผิดตาม มาตรา 37 ของ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 การลงโทษปรับในกรณีนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอให้มีการสั่งเตือนก่อน เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจไว้ และกสทช. เข้มงวดกับเรื่องนี้มาก จึงได้ดำเนินการปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย”
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณา ตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง